www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

สมาธิในการศึกษาเล่าเรียน (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-05-08 10:59:24

สมาธิในการศึกษาเล่าเรียน
โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


วิชาความรู้ที่นักเรียนนักศึกษาเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มันเป็นสิ่งที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ สิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ สิ่งนั้นคือสภาวธรรม สภาวธรรมอันนี้มันทำให้เราดีใจ เสียใจเพราะมัน เราท่องหนังสือไม่ได้เราเกิดเสียใจ น้อยใจในตัวเอง หนังสือที่เราท่องนั่นคือสภาวธรรม เราจำไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา มันเข้าหลักอนัตตา บางทีอยู่ดีๆ เกิดเจ็บไข้ เราไปของเราไม่ได้ มันก็ส่อถึงอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง นั่นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาฝึกสติสัมปชัญญะของเรานี้ให้มันรู้พร้อมอยู่กับปัจจุบัน มันเป็นการปฏิบัติธรรม เดิน เรารู้ ยืน เรารู้ นั่ง เรารู้ นอน เรารู้ รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เรารู้ เอาตัวรู้คือสติตัวเดียวเท่านั้น แม้ในขณะเรียนหนังสืออยู่ เราตั้งใจต่อการเรียนในปัจจุบัน นั่นก็เป็นการปฏิบัติสมาธิ

ทีนี้ ความรู้ ความเห็นที่เราจะพึงทำความเข้าใจมันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่กายกับใจของเรานี่ ทำอย่างไรกายของเราจึงจะมีสุขภาพอนามัยเข้มแข็ง ทำอย่างไรจิตของเราจึงจะมีสติปัญญาแก้ไขปัญหาหัวใจของเราได้นี่มันอยู่ตรงนี้ที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้


วิธีทำสมาธิในห้องเรียน

ขณะนี้นักเรียนทั้งหลายกำลังเรียน ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะได้พลังของสมาธิ พลังของสติ เพื่อสนับสนุนการศึกษา หลวงตาจะสอนวิธีทำสมาธิในห้องเรียน สมมติว่าขณะนี้หลวงตาเป็นครูสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายเพ่งสายตามาที่หลวงตา ส่งมาที่หลวงตา แล้วสังเกตดูให้ดีว่าหลวงตาทำอะไรบ้าง หลวงตายกมือ หนูก็รู้ เขียนหนังสือให้ หนูรู้ พูดอะไรให้หนูตั้งใจฟัง ถ้าสังเกตจนกระทั่งกระพริบหู กระพริบตาได้ยิ่งดี

เวลาเข้าห้องเรียน ให้เพ่งสายตาไปที่ตัวครู ส่งใจไปที่ตัวครู อย่าเอาใจไปอื่น พยายามฝึกให้คล่องตัวชำนิชำนาญ เพราะในขณะที่อาจารย์สอนเรา ท่านรวมกำลังจิตและวิชาความรู้ที่จะถ่ายทอดให้เรา เมื่อเราเอาจิตจดจ่ออยู่ที่ตัวอาจารย์ เราก็ได้รับพลังจิตและวิชาความรู้จากอาจารย์ เพียงแค่นี้วิธีทำสมาธิในห้องเรียน ถ้าพวกหนูๆ จำเอาไปปฏิบัติตาม จะได้สมาธิตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนเล็กๆ ชั้น อนุบาล

ในตอนแรกนี่ การควบคุมสายตาและจิตใจไปไว้ในที่ตัวครูอาจจะลำบากหน่อย แต่ต้องพยายามฝึก ฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญ ภายหลังแม้เราไม่ตั้งใจ พอเห็นใครเดินผ่านหน้ามันจะจ้องเอาๆ พอเข้าในห้องเรียนแล้ว พอครูเดินเข้ามาในห้อง สายตามันจะจ้องปั๊บ ใจมันก็จะจดจ่ออยู่กับตรงนั้น หนูลองคิดดูสิว่าการที่มองครูและเอาใจใส่ตัวครูนี่เราเรียนหนังสือเราจะเข้าใจดีไหม ลองคิดดู

ในระยะแรก ให้สังเกตดูว่าถ้าจิตของเราไปจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์ สายตาจ้องอยู่ที่ตัวอย่างไม่ลดละ นั่นแสดงว่า เราเริ่มมีสมาธิขึ้นมาแล้ว แล้วสังเกตดูความเข้าใจ ความจดจำของเราจะดีขึ้น ในตอนแรกๆ นี้ ความรู้สึกของเราจะไปอยู่ที่ตัวอาจารย์หมด ทีนี้เมื่อฝึกไปนานๆ เข้าจนคล่องชำนิชำนาญ จิตของเรามีกำลังแกร่งกล้าขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น มีสติดีขึ้น ความรู้สึกมันย้อนจากตัวอาจารย์มาอยู่ที่ตัวเอง ทุกขณะจิตเรามีความรู้สึกอยู่ที่จิตของเราเท่านั้น

ภายหลังมา อาจารย์ท่านพูดอะไร สอนอะไร สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่หมด เพียงกำหนดจิตรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้น อะไรผ่านเข้ามาก็สามารถรู้ทันหมด บางทีพออาจารย์พูดประโยคจบปั๊บ ใจของเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปท่านจะพูดอะไร เมื่อก่อนหน้าจะสอบจิตจะบอกว่าให้ดูหนังสือเล่มนั้น จากหน้านั้นไปถึงหน้านั้น แล้วเวลาสอบมันก็ออกมาจริงๆ เวลาไปสอบ พออ่านคำถามจบแต่ละข้อๆ จิตมันจะสงบลงไปนิดหน่อย ใจของเราจะวูบวาบ แล้วคำตอบมันก็ผุดขึ้นมา เขียนเอาๆ

หลักและวิธีอันนี้เป็นสูตรที่หลวงตาทำได้ผลมาแล้วตั้งแต่เป็นสามเณร เรียนหนังสือ หลวงตาถือหนังสือเดินท่องไป ท่องมาแบบเดินจงกรม อาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น ท่านเห็นก็ทักว่า "เณร ถ้าจะเรียนก็ตั้งใจเรียน จะปฏิบัติก็ตั้งใจปฏิบัติ จับปลาสองมือมันไม่สำเร็จหรอก"

ทีนี้เราก็อุตริขึ้นมาว่า

"เอ๊.....หลักของการเพ่งกสิณนี่ ปฐวีกสิณ เพ่งดิน อาโป เพ่งน้ำ วาโย เพ่งลม เตโช เพ่งไฟ อากาศ เพ่งอากาศ วิญญาณ เพ่งวิญญาณ เราเอาตัวครูเป็นเป้าหมายของจิต ของอารมณ์ เอาตัวครูเป็นอารมณ์ของจิต เป็นที่ตั้งของสติ เอามันที่ตรงนี้แหละ

เวลาสอบสามารถรู้ข้อสอบล่วงหน้าได้ทุกวิชา วิชาที่หลวงตาสอบมันมี ๔ วิชา วิชาแปลภาษาบาลี สัมพันธ์คำพูด หลักภาษาและเขียนตามคำบอกรู้ล่วงหน้าหมดทุกวิชาเลย


ตัวอย่างผู้ปฏิบัติได้ผลจริง

ขอยกตัวอย่างบุคคลที่สามารถทำได้แล้ว และทำสมาธิเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาจริงๆ ซึ่งพร้อมๆ กันนั้นเขาก็สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมตามหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ด้วย คนๆ นั้นเป็นนักเรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนในทุนที่หลวงพ่อส่งไปเรียนเอง ตอนแรกเขาไม่อยากไปเรียนเพราะเขาคิดว่ามันสมองของเขาไม่สามารถจะเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ หลวงพ่อก็เคี่ยวเข็ญให้เขาไป ในเมื่อเขารับปากว่าจะไปเรียน

หลวงพ่อก็บอกว่า "หนูไปเรียนมหาวิทยาลัยต้องฝึกสมาธิด้วย"

เขาก็เถียงว่า "จะให้ไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้วให้ทำสมาธิเอาเวลาที่ไหนไปเรียน" นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาคนนั้น

หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำว่า การฝึกสมาธิแบบนี้ไม่ขัดต่อการศึกษา หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า "เมื่อเวลาหนูเข้าไปอยู่ในห้องเรียน ให้กำหนดจิต มีสติรู้อยู่ที่จิตคือระลึกรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ถ้าหากมีจุดใดจุดหนึ่งที่จะต้องเพ่งมอง ก็เพ่งมองไปที่จุดนั้น เช่น กระดานดำ เป็นต้น เมื่ออาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน ให้เอาความรู้สึกและสายตาทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ ให้มีสติรู้อยู่ที่ตัวอาจารย์เพียงอย่างเดียว อย่าส่งใจไปอื่น แล้วคอยสังเกตจับตาดูความเคลื่อนไหวไปมาของอาจารย์ที่แสดงออกทุกขณะจิตของเรา เมื่ออาจารย์ท่านพูดอะไรก็ให้เราฟัง เรากำหนดหมายเอาเสียงที่ได้ยินเป็นอารมณ์จิต ให้มีสติรู้อยู่กับเสียงที่อาจารย์พูดออกมาแต่ละคำ เมื่ออาจารย์เขียนอะไรให้ดู ให้เอาสติและสายตาจดจ่อดูอยู่ที่สิ่งที่อาจารย์ทำให้ดู ให้ฝึกหัดทำอย่างนี้"

เขาก็พยายามไปทำ ทำในระยะแรกๆ ก็รู้สึกว่าลำบากหน่อย

เมื่อก่อนนี้เขาคิดว่าสมองหรือกำลังใจในการศึกษาของเขานี่ ไม่สามารถจะรับรู้ในระดับมหาวิทยาลัยได้ เขาไม่อยากไปเรียนในหลักสูตรที่เขาเ รียนใช้เวลาเพียง ๔ ปีก็จบแล้ว ทีแรกเขาคิดว่าเขาอาจจะเรียนถึง ๖ ปีกว่าจะจบได้ แต่มันก็ผิดคาด ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด ความรู้สึกว่ามันสมองไม่ดีมันเปลี่ยนเป็นดีขึ้นมาหมด ก็เป็นอันว่าเขาสามารถฝึกสมาธิให้จิตมีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาที่เขาเรียนอยู่ในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาที่เรียนสำเร็จปริญญาโทแล้ว เขาเริ่มฝึกสมาธิแบบนี้ตั้งแต่เริ่มเรียนปริญญาตรี เมื่อเขาปฏิบัติต่อเนื่องกันจนกระทั่งจบปริญญาโท ครั้งสุดท้ายตอนสอบวิทยานิพนธ์ ก่อนวันที่เขาจะสอบสัมภาษณ์ เขามานั่งนึกว่าวันนี้จะถูกสัมภาษณ์เรื่องอะไรพอคิดขึ้นมาเท่านั้น คำถามมันก็ผุดขึ้นมา คำตอบก็โผล่ขึ้นมาตอบรู้ล่วงหน้าหมด ทุกข้อที่กรรมการเขาถาม พอมาถึงสนามสอบ พอถามปั๊บตอบปุ๊บๆ จนกระทั่งกรรมการสอบเขาแปลกใจ เขาบอกว่าเราก็สอบคนมามากต่อมากแล้ว ทำไมไม่เหมือนเด็กคนนี้สักคน เจ้าคนนี้ถามแล้ว เหมือนกับว่าไม่ต้องคิด พอถามจบตอบปั๊บ เขาเลยถามดูว่าทำไมหนูถึงได้เก่งนัก หนูบอกว่า "หนูฝึกสมาธิ"

เพราะฉะนั้น หลักการนี้นักเรียนทุกคนขอได้โปรดจำเอาไปปฏิบัติไปทุกวันๆ ในที่สุดเราจะได้กำลังสมาธิสนับสนุนการเรียนการศึกษาเป็นอย่างดี ถ้าหากเรามีเวลาที่จะมานั่งสมาธิ พอเริ่มลงไป ไม่ต้องบริกรรมภาวนาหรือไปท่องมนต์อะไรทั้งสิ้น ให้เอาบทเรียนที่เราเรียนมาในแต่ละวันๆ มาคิดทบทวนดูว่าเราจะจำได้กี่มากน้อย ถ้ามีหนังสือมาวางข้างๆ ยิ่งดี พอคิดเรื่องนี้ คิดไปๆ มันติดตรงไหนเราคิดไม่ออก เปิดหนังสือมาแล้วเอาดินสอขีดเส้นใต้เอาไว้ พอเลิกนั่งสมาธิแล้วมานั่งท่องเอาแต่ตรงที่เราจำไม่ได้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้

สำหรับครูอาจารย์ ก่อนที่จะเริ่มทำการสอน ถ้าหากว่าไม่ถือว่าเป็นวิธีที่แปลกใหม่เกินไป จะกล่าวเตือนนักเรียนในห้องเรียนทุกคนว่าให้มองจ้องมาที่ตัวข้าพเจ้า ส่งจิตมารวมไว้ที่ตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถ่ายทอดพลังจิต และวิชาความรู้จากข้าพเจ้าอย่างตรงไปตรงมา อย่าบิดพลิ้ว มีอะไรก็สอนไปๆ และเตือนเป็นระยะๆ ในทำนองนี้ ปฏิบัติ ต่อเนื่องกันทุกวัน ทุกชั่วโมง เราจะได้สมาธิในการเรียน ในห้องเรียน อันนี้คือวิธีปฏิบัติสมาธิให้สัมพันธ์กับการเรียนการศึกษา นอกจากที่เราจะทำสติในขณะที่เรียน

ถ้านักเรียนนักศึกษาพยายามฝึกสมาธิแบบนี้ สิ่งที่จะบังเกิดขึ้นในจิตในใจเราอีกอย่างหนึ่ง คือ เราจะรู้สึกสำนึกในพระคุณของบิดา มารดา ครู อาจารย์ ความเคารพ ความเอาใจใส่ ความกตัญญูกตเวที ความรู้สึกซึ้งในพระคุณของครูบาอาจารย์มันจะฝังลึกลงสู่จิตใจ เราจะกลายเป็นคนกตัญญูกตเวที ไม่อาจลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ได้ เราจะมีพลังจิตในการเรียนหนังสืออย่างเข้มแข็ง เมื่อครูบาอาจารย์ว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร เราจะเป็นผู้เชื่อฟังเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และผลประโยชน์มันก็จะเกิดขึ้นกับเราเอง

อันนี้ขอให้นักเรียนจงจำเอาไปปฏิบัติจริงๆ เมื่อเราปฏิบัติได้คล่องตัวชำนิชำนาญ ประโยชน์มันไม่เฉพาะแต่อยู่ในห้องเรียนนะ เมื่อเราเรียนจบไปแล้วเรายังจะนำสมาธิดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของเรา