แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา (อาจารย์แนบ มหานีรานนท์)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-03-13 10:35:38
แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา
โดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสมาพูดเรื่องการปฏิบัติ เพื่อเป็นการแนะแนวทางการปฏิบัติ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่บางท่านอาจจะเคยปฏิบัติมาบ้างแล้ว หรือบางท่านที่ไม่เคยได้ปฏิบัติที่ไหนมาก่อนเลย ดิฉันขอถือว่าเป็นผู้มาปฏิบัติใหม่ด้วยกันทั้งนั้นนะคะ
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาสักเล็กน้อยนะคะว่า “พระพุทธศาสนาที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านี่น่ะ เกิดขึ้นด้วยปัญญาของพระองค์ เพราะว่าคำสอนทุกบททุกตอนนั้นล้วนแต่สอนให้ละกิเลสทั้งสิ้น” ทีนี้เราที่นับถือพระพุทธศาสนากันอยู่นี่น่ะ จะช่วยกันทำนุบำรุงพุทธศาสนากันได้อย่างไร ? อันนี้ดิฉันถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนนะคะ เราจะทำอย่างไร ? คำตอบไม่ยากค่ะ ถ้าเรารู้จักธุระในพระพุทธศาสนา
ธุระในพระพุทธศาสนา
ธุระในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ คันถธุระ เล่าเรียนศึกษา และวิปัสสนาธุระ ฝึกขัดเกลากิเลสให้จิตใจเข้าถึงความบริสุทธิ์ มีอยู่ ๒ อย่างนี้เท่านั้น ถ้าหากว่ากิจทั้งสองอย่างนี้ยังบริบูรณ์และแพร่หลาย ก็หมายความว่า พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่หรือเจริญมากขึ้น เพราะมีคนเข้าใจมากขึ้น คนรู้มากขึ้น
ธุระทั้ง ๒ อย่างนี้จะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ การศึกษาเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าถึงคำสอนของท่านโดยแท้จริงได้ การปฏิบัติเพียงอย่างเดียว ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนก็อาจจะทำไม่ถูก เมื่อทำไม่ถูก ก็ไม่สามารถจะไปถึงคำสอนของพระบรมศาสดาโดยเหตุผลที่แท้จริงได้
ความเสื่อมแห่งพระศาสนา
เวลานี้ธุระในพุทธศาสนาทั้ง ๒ นี้เสื่อมไป เสื่อมไปมากทีเดียว คันถธุระมีอยู่จริง การเล่าเรียนศึกษามีมากจริง แต่ว่าการเล่าเรียนส่วนมากไม่ได้ตรงตามพระพุทธประสงค์เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส แต่เพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข วัตถุประสงค์ของพระบรมศาสดานั้น เมื่อได้เล่าเรียนจนเข้าใจแล้วจะได้ทำงานเช่นเดียวกับวิชาการทางโลก เมื่อเล่าเรียนจบการศึกษาแล้วก็จะต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานเลย การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่เกิดประโยชน์ วิชชานั้นจะเกิดประโยชน์อยู่ที่จรณะ คือการงาน ทำการงานแล้วเกิดผลของงานจึงจะเป็นประโยชน์
การแตกธรรมสามัคคีระหว่างคนปฏิบัติและผู้ที่ใฝ่ใจในการเรียน ก็เป็นเหตุแห่งความเสื่อม ต่างฝ่ายต่างติ พวกปริยัติก็ติคนปฏิบัติว่าไม่เข้าใจ นั่งหลับหูหลับตาอยู่ในป่าในดงไม่รู้เรื่องรู้ราว คนปฏิบัติก็ติว่าพวกปริยัติไม่เคยปฏิบัติอะไรเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคยเห็นไม่เคยพบ ดีแต่ตำรา เมื่อแตกสามัคคีก็ต้องมีแต่ความวิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย เวลานี้เสื่อมมากทีเดียว การเล่าเรียนก็ไม่เข้าใจ อย่าคิดว่าเรียนแล้วจะเข้าใจ การปฏิบัติก็มีน้อย แบบอย่างต่างๆ วิธีต่างๆ ตำราต่างๆ ในพระพุทธศาสนาว่าด้วยการปฏิบัติก็มีมากมาย จนกระทั่งคนปฏิบัติไม่รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด นี่ก็แสดงว่าเสื่อมแล้ว
อุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ที่จะปฏิบัติ
สำหรับผู้ที่อยากจะมาปฏิบัติ อยากจะรู้ธรรม หรืออยากจะหมดกิเลส ก็หาได้ จากตามความรู้สึกแล้วฆราวาสมากกว่าพระ คนที่จะมาเข้ากรรมฐานนี้สังเกตดูได้ทุกแห่งฆราวาสมีตั้ง ๑๐ ตั้ง ๒๐ บางทีพระมี ๒ องค์ ๓ องค์ ดูทีนี่เป็นตัวอย่างมีเท่าไร ฆราวาสนั้นไหนเขาจะห่วงบ้าน ห่วงลูก ห่วงเมีย ห่วงการทำมาหากิน ทุกอย่างเป็นภาระมากของฆราวาสเหลือเกิน แต่ก็อุตส่าห์ปลีกมาได้
คนที่จะมาได้เขาก็สามารถที่จะมาได้ ไม่มีอุปสรรค เอาละจะมา ๗ วัน ๑๕ วัน หรือเดือนหนึ่งก็ไม่ว่า ไม่ใช่ของง่ายเลยสำหรับการที่จะออกมาได้ บางคนนึกว่าจะออกมา นึกไว้ตั้ง ๓ ปีแต่ก็ไม่ได้ออก อย่างนี้ก็มี แต่ก็ยังดีที่นึกว่าจะออกมาปฏิบัติสัก ๑๐ วัน ๑๕ วัน ก็แล้วแต่โอกาสที่กิเลสเขาจะอนุญาตให้ แปลว่า ต้องลากิเลสมาจึงจะมาเข้ากรรมฐานได้ ถ้ากิเลสไม่อนุญาตแล้วมาไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นทาสของกิเลสอยู่ กิเลสเป็นตัวขัดขวางไว้ต่างๆ ท่านที่มาได้นี้ก็แสดงว่ากิเลสเขาให้มา ก็แล้วแต่กิเลสเขาจะให้มากี่วัน บางคนกิเลสเขาให้ลาสัก ๑๕ วัน อยู่ไม่ถึง ๑๐ วัน ได้ ๗ วัน อยู่ไม่ได้เสียแล้วต้องไปแล้ว อย่างนี้ก็มี
ขั้นตอนแรก ต้องชนะกิเลสด้วยอำนาจสัทธา
เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่า ชนะกิเลสได้มาขึ้นหนึ่งแล้ว ทุกคนที่มานี่แปลว่าชนะกิเลสมาแล้วขั้นหนึ่งทั้งนั้น ขั้นนี้แหละเป็นแก่นสำคัญ ถ้าเขาไม่อนุญาตแล้วมาไม่ได้จริงๆ นี่ด้วยอำนาจสัทธา และดิฉันก็ถือว่ามีบารมีเก่ามาแล้วด้วย ถ้าคนที่ไม่มีบารมีมาแล้วไม่ได้เลย อาชีพและความยากจนไม่เกี่ยว บางคนร่ำรวยล้นเหลือมีเงินเป็นร้อยล้าน นั่งกินนอนกินจนตายก็ไม่หมด แต่ก็มาไม่ได้ ยังหากินยังไม่พอ ลูกเต้าก็ไม่มี แต่ไม่ทราบว่า เรื่องอะไรกิเลสมันไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่เลื่อมใสสัทธา พระอภิธรรมก็ไปเรียน แต่ก็มาไม่ได้ นี่ไม่มีบารมีมาเลย
คนที่มาได้แสดงว่ามีบารมีมาเหนืออำนาจกิเลส ชนะมาได้ชั่วคราว ความยากจนไม่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าคนจนแล้วจะไม่ได้สำเร็จ คนจนเป็นพระอรหันต์ก็ได้ คนรวยไม่เป็นก็ได้ มันอยู่ที่บารมี ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง นี่ก็มีบารมีมาแล้วถึงได้ชนะ ต้องมีสัทธากันมาเต็มที่แล้ว
ขั้นที่ ๒ ต้องทำงานด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์
เมื่อได้สัทธามาแล้ว ขั้นที่สองก็ลงมือทำงาน ทีนี้ก็อาศัยวิริยะ ความเพียร ความเพียรต้องไม่ท้อถอย พยายามเอาชนะ เพราะระหว่างที่เราปฏิบัติอยู่นี้ก็ต้องมีอุปสรรคอีก ขณะนี้เรายังไม่มี แต่พอเวลาทำงานเข้า จิตใจมันถูกบังคับ คือว่าเวลานี้กิเลสมันหล่อเลี้ยงเราอยู่ พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ก็แล้วแต่สารพัดกิเลสที่ห่อหุ้ม จิตใจก็ถูกกิเลสลากไปทางโน้นลากไปทางนี้ก็เฟ้อเฟ้อไป ทีนี้เวลาที่เรามาเข้ากรรมฐานเราจะเป็นไปตามนั้นไม่ได้แล้ว
กิเลสนี่มันเหมือนกับพ่อแม่ที่ประจำติดกับเรา ถ้าเอากิเลสออก บางคนบอกว่าไม่ไหว จะตายเอา ทีนี้เราก็จะต้องอาศัยความเพียร อาศัยสติ อาศัยปัญญา อาศัยขันติ ความอดทน ปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องการอบรม เวลานี้ปัญญาเราน้อยก็ต้องมาอบรมให้มีกำลัง
เวลาทำจริง ก็ต้องคอยสำรวมจิตใจให้อยู่ในวงจำกัดของอารมณ์นามรูป ถ้าลงมือทำก็จะเห็นว่า ความเพียรอย่างนี้เป็นความเพียรที่ไม่ใช่ง่าย การขนอิฐขนดินหรือกรรมกรต่างๆ ก็ต้องมีความเพียรเหมือนกัน มิฉะนั้นก็ไม่สำเร็จ แต่ความเพียรเหล่านั้นกิเลสมันเข้าไปช่วยอุดหนุนอยู่ ให้มีกำลังมาก ทำได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ความเพียรที่เรานำมาใช้นี้ เป็นความเพียรที่ทำลายกิเลสไม่ให้กิเลสเข้ามาอาศัย ความเพียรนี้ไม่ต้องอาศัยกิเลสจึงลำบากมาก คล้ายๆ กับไม่มีเครื่องล่อจึงต้องลำบาก แต่ความเพียรเหล่านั้นมีเครื่องล่อ เราทำงานเพื่อจะได้เงินเดือน เราศึกษาเล่าเรียนเพื่อสอบไล่ได้ แล้วเราก็จะมีผลมีประโยชน์ต่างๆ เราก็พยายามทำได้ แต่ความเพียรในที่นี้ไม่มีเครื่องล่อ เพราะว่าเพียรทำลายกิเลส จึงหากำลังได้ยาก
กำลังอะไรจะมากเท่ากิเลสนั้นไม่มี วิตามินอะไรก็สู้ไม่ได้ ขอให้กิเลสเกิดเถอะ คนแก่คนเฒ่าก็มีกำลังวังชา ตุ่มทั้งใบก็ยกได้ กลัวไฟไหม้ แต่พอเสร็จแล้วไม่มีกำลังจะยกกลับ พอโกรธขึ้นมา รักขึ้นมา ลำบากลำบนอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ความเพียรเจริญวิปัสสนานี้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องอุดหนุน มีแต่สัทธากับปัญญา ๒ อันเท่านั้นที่จะอุดหนุนความเพียรได้
สัทธาที่หวังประโยชน์จากการปฏิบัตินี้อย่างหนึ่ง กับ ปัญญาที่ต้องคอยปลอบใจตัวเองอยู่อีกอย่างหนึ่ง เช่น บางทีนึกกลุ้มใจอยากกลับบ้าน ก็จะต้องคอยถามว่าจะไปทำไม ? จะไปหาอะไร ? เพื่อประโยชน์อะไร ? นี่แหละทีแรกเราต้องมีปัญญาคอยสั่งสอนอบรม มิฉะนั้นจะอยู่ไม่ได้ ต้องมีปัญญาด้วยสติด้วย ทีแรกเรามีสัทธามาแล้ว ที่สองก็ความเพียร แล้วก็มีสติ แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา
วิปัสสนาคืออะไร
ทีนี้เราก็มาเพียรในการเข้าทำวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนาคืออะไร วิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญา มีปัญญาชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า วิปัสสนา ปัญญามีชื่อเรียกมากทีเดียว มีชื่อต่างๆ กัน แต่ว่าปัญญาที่ชื่อวิปัสสนา ปัญญานี้รู้อะไร ? ปัญญาวิปัสสนารู้ว่า นามรูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร เป็นอนัตตาไม่มีตัวตน รู้อย่างนี้แหละเรียกว่า วิปัสสนา
ท่านจะต้องเข้าใจหลักความรู้ของวิปัสสนาเสียก่อน ถ้าปัญญาวิปัสสนาเกิดแล้วก็แปลว่าต้องรู้ว่า รูปนาม ไม่เที่ยง หรือรูปนาม เป็นทุกข์ หรือรูปนาม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารอะไร อย่างนี้อันใดอันหนึ่งก็ได้ ที่รู้อย่างนี้นี่แหละเรียกว่าวิปัสสนา
ต้องมีนามรูปรองรับ
แต่ต้องมีนามรูปนะ ต้องนามรูปไม่เที่ยง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไรไม่เที่ยง เราจะเข้าไปทำวิปัสสนาเพื่อจะรู้ว่านามรูปนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน นี่แหละหลักที่จะเข้ามาทำวิปัสสนาเพื่อจะรู้อย่างนี้ แล้วเราจะดูอะไรเล่า ถึงจะเห็นนามรูปไม่เที่ยง เราก็ต้องดูนามรูป เราจึงจะเห็นนามรูปไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นผู้ทำวิปัสสนานี้ จะต้องมีนามรูปรับรองความรู้อยู่เรื่อย
ถ้าคราวไหนไม่มีนาม ไม่มีรูปรับรองแล้ว ก็แปลว่า รู้แล้วก็รู้นิ่งไป ถึงแม้นิ่งไปไม่ฟุ้งก็ตาม แต่ว่าใช้ไม่ได้ ความรู้สึกอันนั้นใช้ไม่ได้ จะต้องมี นาม มี รูป อยู่เสมอ เหมือนกับคนไปเรียนหนังสือ เด็กไปเรียนหนังสือเข้าโรงเรียนใหม่ๆ ต้องมี ก. ไก่ ข. ไข่ ต้องมีตัวหนังสืออยู่เรื่อย ต้องอ่านหนังสือ ต้องมีตัวหนังสือรับรองอยู่เรื่อย ไม่งั้นก็อ่านหนังสือไม่ออก ไปโรงเรียนแต่ไม่ดูหนังสือ เป็นอ่านหนังสือไม่ออก
นามรูปเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่
ก่อนที่จะดูนามรูป ก็จะต้องรู้จักนามรูปเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วดูนามก็ไม่รู้ว่าดูอะไร เพราะจะต้องให้ท่านที่มาปฏิบัติวิปัสสนานี้ดู ไปพิจารณานามรูป ทีนี้ก็จะต้องรู้เสียก่อนว่า ดูนามน่ะ ดูอะไร ดูรูปน่ะ ดูอะไร จะต้องเรียนนามรูปเสียก่อน
รูปนามมีมากมายเหลือเกิน แต่เราก็จะเอาให้ง่ายที่สุดสำหรับปัญญาของเรา เพราะว่ารุ่นเรานี่ปัญญาน้อยแล้ว เพราะอะไรเราถึงได้ล่าช้ามาอยู่จนป่านนี้ ต้องมาทรมานทนทุกข์ ประเดี๋ยวเจ็บ ประเดี๋ยวไข้ ประเดี๋ยวร้องไห้เสียใจ พบกับสิ่งที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สิ่งที่พอใจพลัดพรากไปบ้าง นี่เราจะต้องพบอยู่เรื่อย ความทุกข์นี่มีอยู่รอบตัวเราเลย เราจะต้องพบ นี่อันนี้ถึงได้บอกว่า เวลาที่เรามาอบรม มาพิจารณานามรูปเวลานี้น่ะ เรายังไม่รู้ว่า นามรูปมันดีหรือไม่ดี ยังไม่รู้ต้องดูเสียก่อน ไปพิจารณาแล้วจึงจะรู้ความจริงของนามรูป
ทีนี้นามรูปที่เราจะต้องเรียน สำหรับคนปัญญาน้อยนี่เราก็เรียนแต่พอที่จะเอามาใช้งาน ที่ยังไม่ใช้งานเวลานี้ ยังไม่ต้องเรียน ยังไม่ต้องรู้ นำเอานามรูปไปพิจารณา จนกระทั่งได้ความจริงด้วยการพิจารณา คือด้วยความรู้สึกไม่ใช่ด้วยการคิดนึก ด้วยการตรอง ด้วยการวิจารณ์ ไม่ได้ทั้งนั้น
นามรูปมีอะไรบ้าง ที่จริงถ้าเราจะสอนที่ถูกแล้วก็ควรจะสอนอารมณ์ทั้ง ๖ แต่เกรงว่าเวลาของเราจะมีกันคนละไม่เท่าไร เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมให้เข้าใจอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ ที่เราใช้งานอยู่ ก็กลัวเวลาจะไม่พอ แต่ที่ถูกแล้วควรจะบอก บอกแล้วเวลาทำงานก็ทำเฉพาะอิริยาบถ ๔ ก่อน คือแรกๆ ลงมือกำหนดก็ไม่ต้องคอยดูมาก ให้ดูแต่น้อยๆ หน่อย จนกระทั่งคล้ายๆ กับจิตที่อบรมเชื่องแล้วดูได้สะดวกแล้ว แล้วก็อารมณ์ทั้ง ๖ นั้นมันก็จะรู้ขึ้นมาเองเหมือนกัน แต่ว่ายังไงก็จะต้องมีนามรูปเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเวลาเห็น เวลาได้ยิน เช่น
เวลาเห็น ที่เห็น เป็นนาม
สิ่งที่ถูกเห็น เป็นรูป
เวลาได้ยิน ที่ได้ยิน เป็นนาม
เสียงที่พูด เป็นรูป
เวลาได้กลิ่น ที่รู้กลิ่น เป็นนาม
กลิ่นหอม, เหม็น เป็นรูป
เวลาลิ้มรส ที่รู้รส เป็นนาม
รสที่ถูกรู้ว่าเปรี้ยว หวาน เป็นรูป
เวลาถูกต้อง ที่รู้สึกถูกต้อง เป็นนาม
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นรูป
เวลานั่ง นอน ยืน เดิน ที่รู้ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นนาม
อิริยาบท นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นรูป
นามรูปทั้งหลาย จึงมีอยู่ที่ตัวเราในขณะรับอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖
ดูนามรูปให้รู้จากตัวเรา
ถ้าไม่ได้เรียนอารมณ์ของวิปัสสนาแล้ว เราจะไม่รู้ตัวเรา เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินอะไรก็ไม่รู้ แล้วโดยมากการศึกษาเล่าเรียนในชีวิตของเรา ที่เราเป็นอยู่นี่เราไม่ได้รู้เรื่องของเราเลย รู้แต่เรื่องคนอื่นทั้งนั้น เรื่องคนโน้น เรื่องคนนี้ เรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ แทนที่จะรู้อยู่ที่ตัว เรากลับรู้ไปจนถึงโลกพระจันทร์ เดี๋ยวนี้เขาจะไปรู้โลกพระอังคารอีกแล้ว มันรู้ยาวออกไปอย่างนี้ กิเลสมันก็ยืดยาวออกไปด้วย นามรูปที่ตัวเองนี่ไม่รู้หรอก
แต่ว่าวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ไม่ต้องไปรู้คนอื่น รู้ตัวของตัวเสียก่อน แล้วก็คนอื่นกับตัวเราน่ะมันเหมือนกัน มันไม่ผิดกันหรอก มันอย่างเดียวกันนั่นแหละ แต่รู้คนอื่นน่ะไม่แน่ เช่นอย่างเวลานี้จิตใจเขาเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไรไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเห็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรเรารู้ได้ ประกอบด้วยความไม่พอใจ หรือประกอบด้วยความพอใจ เวทนาเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เวลานี้ นี่เรารู้เรารู้ของเราก่อน เพราะว่าร่างกายเรานี้ก็เป็นโลกโลกหนึ่ง โลกนี้ไม่ใช่ว่าหมายถึง ฟ้า ดิน อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น นี่พอเรารู้ของเราอย่างนี้แล้วคนอื่นก็เหมือนกัน เช่น อย่างพอความโกรธเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา มีลักษณะอย่างไร ความโกรธของคนอื่นก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปรู้ของใคร เพราะฉะนั้น การแสดงออกมาภายนอก ทางกายก็ดี วาจาก็ดี กิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เราเห็น เราก็รู้แล้วว่า ออกมาจากจิตใจ กิริยาอย่างนี้ออกมาจากจิตอะไร พอใจหรือไม่พอใจ มันจะบอกทีเดียว เพราะฉะนั้น มันก็เป็นโลกชนิดหนึ่ง
กำหนดดูรูป
การพิจารณารูปนามเฉพาะอิริยาบถ ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน ที่รู้ว่านั่ง รู้ว่านอน รู้ว่ายืน รู้ว่าเดิน เป็นนาม แต่ไม่ต้องไปกำหนดนามสำหรับในระยะใหม่ๆ นี้ กำหนดรูปก่อน ดูรูปเสียก่อน เพราะตัวนามนั้นน่ะ มันเป็นตัวดูรูปอยู่แล้ว มันเป็นตัวรู้รูปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกำหนดนามที่รู้ เช่น อย่างเวลาที่นั่งมันมี รูปนั่ง อันหนึ่ง และมี รู้ว่านั่ง อีกอันหนึ่งเรา รู้ว่ารูปนั่ง เท่านั้นก็พอแล้ว
ทำงานด้วยใจ
ในการที่เรามาเรียนเพื่อจะทำงานนั้น ไม่ใช่ทำด้วยกาย แต่ทำด้วยใจ ไม่ใช่เอากายไปเที่ยวแบกหาม ไม่ใช่อย่างนั้น ใจทำงานตอนไหน ? ตอนที่ทำความรู้สึกลงไปในอารมณ์นั่นแหละ เป็นการงานของใจ ไม่ต้องไปแบกหามอะไรทั้งหมด
เวลาดูต้องรู้ว่า ดูอะไรที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมา
ข้อสำคัญ เวลาที่เราดูจะต้องรู้ว่า ดูอะไร เวลานี้เราทำอะไรอยู่ เวลานี้เราดูอะไรอยู่ แล้วเราจึงจะได้ความจริงจากที่พิจารณา คือว่า ไม่ใช่เราไปสอน หรือเราไปสร้างอะไรขึ้นมา ความจริงของเขาเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามนั้น เช่น อย่างเพื่อนฝูงคบกันใหม่ๆ รู้จักกันใหม่ๆ ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ ต้องคบกันไปนานๆ หน่อย ทีแรกเราก็คิดว่าเป็นคนดี พอคบกันไปนานๆ จึงรู้ว่านิสัยคบไม่ได้ เป็นคนรู้มาก เป็นคนเห็นแก่ตัวอะไรอย่างนี้ เราจะต้องตามดูเราจึงจะรู้ความจริงอันนั้น ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขอะไร มีหน้าที่ดูเท่านั้น แต่ว่า ถ้าดูไม่ถูก ก็ไม่เห็นเหมือนกัน
ดูรูปนั่ง นอน ยืน เดิน
เราเรียนรูป ๔ อย่าง นั่ง นอน ยืน เดิน เราก็ไปดูรูปนั่ง รูปนอน รูปเดิน ดู หรือ พิจารณา หรือ เรียกว่า กำหนด ก็ได้ ดูด้วยใจไม่ได้ดูด้วยตา นั่งนี่ไม่ได้เห็นด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจ เวลาที่เราดูนั้นเราต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้เราดูอะไร คือ ต้องทำความรู้สึกตัวว่า เราดูอะไร เวลาเรามองออกไปนั้น มันต้องมีวัตถุอันหนึ่งว่า เราจะดูอะไร นั่นดูเหมือนคนเดินมา อยากจะรู้ว่า คนเดินมา นั่นเป็นใคร คือว่าเรามีวัตถุที่เราจะดู แต่ถ้าดูโดยไม่ตั้งใจว่า จะรู้เห็นเหมือนกันนั่นแหละ นัยน์ตาเราเหม่อไปเราก็เห็นแต่เห็นอะไรไม่รู้ เพราะเราไม่ตั้งใจจะดู เมื่อไม่รู้ว่าดูอะไรเราไม่ได้พิจารณา ก็เลยไม่ได้ความจริง ที่เราเห็นนั้นมันอะไรก็ไม่รู้ ความจริงก็เห็นหลายอย่าง แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ว่าจะรู้อะไร อันนี้แหละเวลานั่ง ท่านก็พิจารณารูปนั่ง คือว่า ดูรูปนั่ง แต่ต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้ ดูรูปนั่ง
อารมณ์ปัจจุบัน
ต้องให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน คือ ต้องจับอารมณ์ "รูปนั่ง" ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า โดยที่อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาของผู้ปฏิบัติ อย่าบังคับจิต ให้ติดอยู่ในอารมณ์ด้วยความปรารถนาจะเป็นไปตามอำนาจของตัณหา ซึ่งเป็นตัวกิเลส เพียงแต่สำรวม ไว้ อย่างให้จิตนี้ออกไปจากอารมณ์ คือ ท่าที่นั่ง ถ้าจิตออกไปแล้ว ดูไปมันก็ไม่เห็น เหมือนกับเราอ่านหนังสือมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวจิตก็ส่ายไปทางโน้น วิ่งไปทางนี้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องรำคาญ มันต้องที่เงียบสงัด แล้วเราก็จะต้องสำรวมในร่างกายของเรา ในจิตของเรา ด้วยว่าสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้วอย่าปล่อยให้จิตของเราตกไป อย่างให้มันไป เราต้องคอยคุมไม่ให้มันไป ถ้ามันไปมันก็เที่ยวได้เพริดไป ดูมันก็ไม่เห็น และปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องจำกัดอารมณ์ ต้องมีปัจจุบันดูรูปนั่ง เวลานั่งดูรูปนั่ง
หลับตา หรือลืมตา
จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้แล้วแต่ถนัด บางคนไม่ชอบหลับตา เพราะหลับตาแล้วง่วง หลับตาแล้วก็ฟุ้งไป จิตใจก็ฟุ้งไป ตาก็หลับ บางคนก็ลืมตาไม่ได้ ลืมตาแล้วไม่ถนัด ลืมตาแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ มันไม่ได้อยู่ที่รูปนั่ง อันนี้ก็แล้วแต่อัธยาศัย และก็แล้วแต่ความสังเกตของเรา คนอื่นก็รู้ไม่ได้ว่าอัธยาศัยของท่านชอบหลับหรือลืม เวลาหลับเป็นอย่างไร เวลาลืมตาเป็นอย่างไร อันนี้อยู่ในความสังเกตของเรา ใช้ได้ทั้งนั้น จะหลับหรือลืมก็ได้
ดูนั่ง นอน ยืน เดิน ทำไม
นั่ง นอน ยืน เดินนี้น่ะ ทุกคนต้องมี แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็มี ทุกคนก็มี เข้ากรรมฐานหรือไม่เข้ากรรมฐานก็มี ทำไมจึงต้องให้ดูนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่เห็นมันน่าจะมีกิเลสอะไร นั่งมันมีโกรธหรือเปล่า ? เปล่า ! มีโลภไหม ? ไม่มี ! ร่างกายนี้ไม่มีโลก รัก โกรธ หลง อยู่กับใจอยู่กับนาม ไม่มีแล้วจะไปดูมันทำไม ?
ทำวิปัสสนาเพื่อจะละกิเลส กิเลสอันนั้นที่อาศัยการนั่ง การนอน การยืน การเดิน เวลานั่งตามธรรมดาเรานั่งนี้ก็ต้องมีความรู้สึกว่า เรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อย่างนี้ตัว นั่ง น่ะ มันไม่มี แต่ว่าใจอาศัย รูปนั่ง ทำให้เกิดเข้าใจผิดว่า "เรานั่ง" อาศัยรูปนั่งทำให้เกิดเข้าใจผิดคิดว่า เรานั่ง เราก็เข้าใจผิดอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เกิดมา จนอายุเท่าไรก็ตาม ก็รู้ว่าเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อยู่อย่างนี้เรื่อยไป
ทีนี้หลักของวิปัสสนาให้เข้าไปรู้ความจริงว่า นั่ง นี่เป็น รูป และ นาม ที่มัน รู้ว่านั่ง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชาย มีแต่สภาวะของรูปเท่านั้น เราไม่เคยเข้าใจอย่างนี้เลย เขาจึงให้เข้าไปดู เข้าไปดูตรงที่เราเข้าใจผิด ที่จริงเราเข้าใจผิดอยู่มากมายเหลือเกิน แต่ให้เข้าไปดูอันนี้ก่อน เรียกว่า "เจริญปัญญา" ปัญญานี้รู้อะไร รู้เหตุ รู้ผล เรียกว่า ปัญญา ถ้ารู้ไม่ตรงกับเหตุผลแล้วไม่เรียกว่าปัญญา เรียกว่า "มิจฉาทิฏฐิ" แปลว่าเห็นผิด เห็นผิดจากใคร เห็นผิดจากพระพุทธเจ้าหรือ หรือว่า เห็นผิดจากอาจารย์ ไม่ใช่ทั้งนั้น เห็นผิดจากเหตุผล เราไปเห็นผิดจากที่เขาเป็นอยู่ ถ้าเห็นถูกสัมมาทิฏฐิก็เป็นปัญญา เวลานั่งรู้สึกว่า เรานั่ง อย่างนั้นไม่จริง ที่จริงไม่มี เรา มีแต่รูปกับนาม เราที่ไหนมีความรู้สึกว่า เรานั่ง นี่มัน ผิด มันไม่ตรงกับความจริงความจริงมันไม่มี ผู้หญิงนั่ง ผู้ชายนั่งก็ไม่มี ท่าที่นั่งจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายได้ยังไง เห็น ก็เหมือนกัน นี่ เราเห็น ผู้หญิงเห็น เห็น ไม่เป็นทั้งผู้หญิง ผู้ชาย สภาวะของมันทำหน้าที่ เมื่อได้ปัจจัยก็ทำหน้าที่ เห็น ทำหน้าที่ได้ ยิน แต่ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย
นั่ง นอน ยืน เดิน ดูที่ไหน
การดูรูปนั่งต้องรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง ไม่ใช่ไปนึกถึงว่า ประเดี๋ยวพอ เวลาไปนั่งแล้ว เขาให้ดูรูปนั่งก็เลยนึกถึง รูปนั่ง รูปนั่ง อย่างนี้ไม่ได้ คือว่า บางคนดูรูปนั่ง พอ เอาเข้าจริงๆ ดูที่ไหนรูปนั่ง รูปนั่งมันอยู่ที่ไหน ถ้าหากว่าไม่เข้ากรรมฐานท่านก็รู้ ลุกขึ้นยืนก็ยืนได้ นั่งลงก็นั่งได้ แต่พอเข้ากรรมฐาน บอกให้ไปดูนั่ง นอน ยืน เดิน ไม่รู้ว่าดูที่ไหน นั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ที่จริงตัวก็รู้ ถ้าไม่รู้ก็นั่งไม่ถูก นอนไม่ถูก
เขาก็ไม่ได้ให้ดูอะไรแปลกๆ วิปัสสนานี่ไม่ได้ให้ดูอะไรที่ไม่มีอยู่ในตัว สิ่งที่มีอยู่ในตัวเป็นของจริงสิ่งที่ไม่มีอยู่ในตัวเป็นของไม่จริง เขาไม่ได้ดู ให้ดูเฉพาะที่มีอยู่ในตัวเท่านั้น เพราะอันนี้เป็นของจริง
รูปนั่ง นี่น่ะ ดูที่ไหน ดูที่ท่า เช่นอย่างเวลานี้ถ้าถามทุกคนว่า นั่งหรือนอน ก็ต้องตอบว่า นั่ง ทำไมท่านถึงรู้ว่านั่ง ท่านอาศัยที่ท่านี้ตั้งกายไว้ในท่านี้ เขาเรียกว่า นั่ง ยืนก็อยู่ในท่ายืน เวลายืนก็ดูรูปยืน คือรู้อยู่ในท่าที่ยืน
เวลาเดินก็ดู รูปเดิน รูปเดินอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่เท้า อยู่ที่อาการที่ก้าว เวลานี้ท่านก็มีเท้า แต่ยังไม่มีเดิน เวลานี้ไม่มีรูปเดิน ดูรูปเดินไม่ได้ ยืนก็ไม่ใช่เดิน แต่เมื่อมีอาการของเท้าที่ก้าวไป คำว่าเดินจึงจะมีขึ้น ความหมายว่า เดินถึงจะเกิดขึ้น ทีนี้เราดู เราก็ต้องดูให้ถูก รูปนี้อยู่ที่ไหน เดินก็ต้องดูขณะที่ก้าวเท้า อย่าเอาสติไปตั้งไว้ที่เท้า หรือที่ขา หรืออะไรมันไม่ถูก เดินแท้ๆ ต้องอยู่ที่การก้าว ถ้าไม่มีการก้าวคำว่าเดินก็ไม่มี อันนี้ก็เข้าใจกันแล้ว คนที่เคยเข้าวิปัสสนาก็เข้าใจกันแล้วว่า เดินอยู่ที่ไหน
เวลานอน ก็อยู่ที่ท่าอีกนั่นแหละ นอนก็มีหลายท่า เหยียดขาก็ได้ นอนตะแคงก็ได้ นอนหงายก็ได้ทั้งหมดรวมอยู่ในอิริยาบทใหญ่ เรียกว่านอน นั่งก็นั่งได้หลายท่า แต่ก็เรียกว่า นั่ง ทั้งหมดก็เรียกว่า นั่ง
รู้สึก กับนึก
ทีนี้เวลาเราดูนั่ง เราก็ดู เราก็รู้สึกอยู่ในท่าที่เรานั่ง เวลานอน, ยืน, เดิน ก็รู้สึกอยู่ในท่าที่นอน, ยืน, เดิน ๔ อันเท่านี้แหละ แล้วก็ต้อง รู้สึก ตัวด้วยว่าเวลานี้ดูอะไร เดี๋ยวเวลานั่งแล้วจะไป นึก ว่า รูปนั่ง นั่งอันนี้ไม่ได้ เพราะว่าใจ นึก เอา มันไม่ได้ออกมารู้อยู่ในอาการที่นั่ง ที่นอน ท่านบอกว่า ตั้งกายอยู่ด้วยอาการอย่างไร ก็ให้รู้อาการเป็นไปของกายที่ตั้งอยู่ในอาการนั้นๆ ว่าอย่างนี้ในสติปัฏฐาน ทีนี้เราก็คอยดู รู้สึก ว่าดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เพราะตามธรรมดาถ้าเราไม่ได้ศึกษาและไม่ได้เคยเข้าวิปัสสนาเลยจะไม่รู้ว่าใครเดิน ไม่รู้เลยว่า เดินน่ะ อะไรมันเดิน ก็ต้องเราน่ะซิเดิน ใครนั่งก็ เรานั่ง แต่ความเป็นจริงไม่มีเรามันมี รูป กับ นาม ๒ อย่างเท่านั้นแหละ อาการนั่งจึงปรากฏขึ้น มีแต่รูปน่ะ ผีตาย นามดับแล้วมีไหม อิริยาบท ? ไม่มี ! นั่งก็นั่งไม่ได้ เพราะว่าวิญญาณไม่มีแล้วก็นั่งไม่ได้ ทีนี้มีแต่นาม รูปไม่มี นั่งมีไหม ? ไม่มี !
เพราะฉะนั้น อาการนั่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีรูปนามพร้อมแล้ว ทีนี้เมื่อเราดูก็ต้องดูด้วยความรู้สึก รู้สึกอยู่ในท่าทีนั่ง รู้สึกอยู่ในท่า แล้วก็รู้สึกว่าดูรูปนั่งเช่นอย่างเวลานี้ คุณรู้ไหมว่า เวลานี้คุณพูดกับใครรู้สึกไหม รู้ เวลานี้คุณฟังใครพูดอยู่ รู้ว่า ฟังอาจารย์ นี่ต้องรู้อย่างนี้ รู้ว่า ฟัง ฟังอะไร พูดเรื่องอะไร สอนอะไร เราจึงจะเข้าใจ ถ้าเราได้ยินเหมือนกันได้ยินแต่ว่าไม่ได้ฟัง ฟังแล้วไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่เรานั่งฟังกันอยู่อย่างนี้แหละ แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ
รูปนามสำคัญที่สุด
ความรู้สึกนี่ ก็ต้องเอารูปนามที่เรียนมาแล้วนี่แหละ อาจารย์สอนรูป สอนนาม ให้เข้าใจกันแล้วทุกคน เข้าใจแล้วว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อาจารย์ก็ต้องสอบที่สอนไปแล้วว่ายังจำได้ดีอยู่หรือเปล่า เวลานั้นอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม แล้วเวลานั้นจะกำหนดอะไร จะรู้อะไร เริ่มต้นใหม่ๆ ก็อาจจะลืม บางทีก็ได้ไปแต่ ๒-๓ อย่าง ที่อาจารย์สอนรูปนามนี่น่ะสอนทำไม ? สำคัญที่สุดเลย การทำวิปัสสนานี่ต้องรู้จักรูปนามเพราะรูปนามเป็นตัวกรรมฐาน เป็นตัวให้ความจริง วิปัสสนาเป็นชื่อของปัญญา ที่ต้องรู้รูปนามไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น รูปนามจึงสำคัญในการที่จะให้เห็น ไม่เที่ยงถ้าไม่ดูที่รูป ที่นาม แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า รูปนามไม่เที่ยงสำคัญที่สุดเลย
ส่วนที่เขานั่งวิปัสสนากันแล้วก็เห็นพระอินทร์บ้าง เห็นเทวดาบ้างเห็นอะไรต่ออะไรบ้างมากมาย เขาก็บอกว่า วิปัสสนาธรรมเกิดแล้วถึงแล้วถึงแล้วอย่างนี้ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่พระอินทร์ พระพรหมอะไร ต้องเห็นนามรูปที่ตัวเรานี่แหละไม่เที่ยง แล้วก็ไม่เป็นไปเพื่อความสุขแต่เป็นทุกข์ เวลานี้ท่านก็ยังไม่ได้เห็นว่า เป็นทุกข์อะไร ต้องไปดูแล้วถึงจะรู้ เพราะนามรูป นี่มันมีลักษณะ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ ไปต่างๆ แล้วแต่ว่าลักษณะไหนมันจะปรากฎชัดเรากำหนดอันไหนมาก เราก็จะเห็นอันนั้นมาก
ทีนี้อาจารย์ก็สอนรูปนาม เพราะรูปนามมีความสำคัญที่จะต้องเอาไปใช้งาน เราจะทำกับข้าว เช่น จะแกงไก่ก็ต้องมีไก่ ไม่งั้นก็ไม่เป็นแกงไก่ จะตำข้าวเราก็ต้องมีข้าวละ ถ้าไม่มีข้าวเราจะตำยังไง เหมือนกับ รูปนามนี้เราต้องมีไปด้วย ไม่ใช่อาจารย์สอนเพียงแต่จะให้รู้ไว้เฉยๆ สอนไว้ เพื่อจะได้เอาไปใช้ เอาไปดู เวลาดู ท่านก็จะต้องดูรูป ดูนาม แต่ว่าขั้นต้นนี้ให้ดูรูปก่อน ๔ อย่างเท่านั้นง่ายๆ ถ้ามากนักประเดี๋ยวจะจำไม่ได้ เอาไปใช้ด้วย เอาไปใช้เวลาไหน ใช้เวลาที่ไปดู ใช้เวลาทำงาน เอารูปนามไปทำงานด้วย ไปทำอย่างไร ? ใครเป็นคนทำงาน ? ใจ คือ นามที่เป็นตัวทำงาน จะกำหนดรูปนั่ง รูปนอน นี่เป็นการงานของใจที่จะต้องไปรู้รูปนั่ง รูปนอน หรือไปพิจารณารูปนั่ง รูปนอนแล้วก็เอารูปนามที่สอนไว้ให้นี่เอาไปทำงาน ไม่ใช่ว่าพออาจารย์สอนแล้ว จำได้แล้วก็อยู่ที่นี่ ถึงเวลาไปทำงานไม่เอาไปด้วย อันนี้สำคัญมาก
ความสังเกตในขณะทำงาน
ในเวลาที่กำหนด ท่านต้องมีความสังเกตว่า ถูกต้องตรงกับที่อาจารย์สอนไหมว่า เวลานั่ง ให้ทำ อย่างไร ? เวลานั่ง ให้ดู รูปนั่ง หรือให้พิจารณารูปนั่ง ดูรูปนั่งนี่ดูในท่าของกายที่ตั้งอยู่ในท่านั้นเรียกว่า นั่ง ยืนก็อีกท่าเดินก็อีกท่าหนึ่ง นอนก็อีกท่าหนึ่ง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็ไปดูอาการที่นั่ง นอน ยืน เดิน ดูแล้วก็ต้องเอารูปนามที่อาจารย์สอนแล้วนี้ไปใช้ด้วย
เวลาดูนี่น่ะ ต้องรู้สึกด้วยว่า ดูรูปนั่ง คือ ต้องมีรูปติดเข้าไปด้วย ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ได้ หรือดูว่า นั่งนี่ เวลานี้ นั่งเราก็รู้อยู่ว่านั่งเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีรูปด้วย ต้องมีรูปติดเข้าไปด้วย รูปเฉยๆ ก็ไม่ได้ รู้ว่ารูปนั่งนี้เป็นรูป เราก็ดูรูปอย่างนี้ แต่ไม่มีนั่งก็ไม่ได้ เพราะว่า รูปนั่งกับรูปนอนนี้น่ะมันคนละรูป มันคนละอัน เช่น ตัวหนังสือนี้ เราเห็นเราก็บอกหนังสือ รู้แล้วว่า มันเป็นหนังสือ แต่ว่า ตัวอะไรเล่า ก. หรือ ข. เล่า มันไม่เหมือนกันนี่ ถ้าเราไม่รู้ว่า ก. ไก่ มีลักษณะอย่างไร ข.ไข่ มีลักษณะอย่างไร เราจะอ่านหนังสือไม่ออก เพราะว่ามันคนละตัวกัน เพราะฉะนั้น มีความสำคัญมากทีเดียว นี่ก็เหมือนกับอาจารย์ให้หนังสือไปดู ให้หนังสือไปอ่าน ไม่ใช้ให้ไปแล้วก็เอาไว้ที่อาจารย์ อาจารย์สอนเสร็จแล้วรูปนามก็คงอยู่ที่สอนนั่นแหละได้ ต้องเอาไปใช้
เพราะฉะนั้น ต้องคอยสังเกต สังเกตนี่เป็นตัวศึกษา พอกำหนดรูปนั่งลงไป ต้องสังเกตว่า ถูกตรงกับที่อาจารย์บอกไหมว่า ให้ทำความรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง ดูรูปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะว่า รูปนี่มีหลายอย่าง ดูรูปเฉยๆ นั่งก็เป็นรูป นอนก็เป็นรูป ประเดี๋ยวก็รูปมันจะเป็นอันเดียวกันอย่างนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ได้แน่ สำคัญมากทีเดียว สำหรับตอนใหม่ๆ นี้ก็ไม่มีอะไรสำคัญ สำคัญแต่เพียงว่า ทำความรู้สึกตัวว่า ดูรูปนั่ง เท่านั้นเอง
ฟุ้ง
ตามธรรมดาจิตเราไม่เคยอบรม มันก็เที่ยวกวัดแกว่งไป พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อะไรจะเร็วเท่ากับจิตใจไม่มี ไวที่สุดเลย เพราะฉะนั้น เป็นของอบรมยากและก็อยู่อยากด้วย ทีนี้เวลาที่เรากำหนดในรูปนั่งนี่ประเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว ที่แรกก็รู้อยู่ว่าดูรูปนั่ง ประเดี๋ยวก็เผลอแพล็บไป ออกไปแล้