ฝึกการเดินอย่างมีสติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 30K views



                                                                  ฝึกการเดินอย่างมีสติ
• ก่อนที่จะเปลี่ยนอิริยาบถจากยืนเป็นเดิน เราควรกำหนดจิตใจเมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบถ ดังนี้
ระลึกถึงการยืน ภาวนาว่า ยืนหนอ
ระลึกถึงการเปลี่ยนจากยืนเป็นเดิน ภาวนาว่า อยากเดินหนอ
ระลึกถึงการเดิน ภาวนาว่า เดินหนอ
๑. ยืนตรง ยกมือซ้ายพร้อมกับภาวนาช้า ๆ ว่า ยกหนอ- มาหนอ – วางหนอ (วางมือซ้ายไว้ที่หน้าท้อง) ยกมือขวาพร้อมกับภาวนาช้า ๆ ว่า ยกหนอ – มาหนอ – วางหนอ (วางมือขวาทับข้อมือซ้ายแล้วใช้นิ้วกลางและหัวแม่มือรวบข้อมือซ้ายไว้)
๒. กำหนดในใจว่า “อยากเดินหนอ” ๓ ครั้ง
๓. การเดินกำหนดรู้ ๓ ระยะ โดยใช้องค์ภาวนาว่า
ขวา- ยกหนอ- ย่างหนอ -เหยียบหนอ
ซ้าย -ยกหนอ - ย่างหนอ – เหยียบหนอ
ยกหนอ ยกเท้านั้นลอยขึ้นไปข้างหลัง     ย่างหนอ เลื่อนเท้าที่ยกไปข้างหน้าช้า ๆ แล้วนิ่ง   
เหยียบหนอ  ลดเท้าลงให้ปลายเท้าแตะพื้นก่อน แล้วจึงวางเต็มฝ่าเท้า  
การเดินจงกรมจะเดินเป็นวงกลม เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา
๔. การหยุดเดิน ให้ยืนตรง กำหนดลมหายใจและภาวนาเบา ๆ ว่า “อยากหยุดหนอ” ๓ ครั้ง แล้วยกมือขวาออก ค่อย ๆ เลื่อนลงพร้อมกับภาวนาว่า
มือขวา-ยกหนอ-ลงหนอ-ปล่อยหนอ (ปล่อยมือขวาลง)
มือซ้าย–ยกหนอ-ลงหนอ- ปล่อยหนอ (ปล่อยมือซ้ายลง) 

                    ฝึกการนั่งสมาธิ เป็นการฝึกจิตให้มีสมาธิ โดยการนั่งกำหนดลมหายใจ มีวิธีการฝึก ดังนี้
๑. ยืนสมาธิ
๒. กำหนดลมหายใจว่า “อยากนั่งหนอ”
๓. ปล่อยมือขวาและมือซ้ายลงข้างตัวอย่างช้า ๆ
๔. เลื่อนเท้าซ้ายถอยหลัง ย่อตัวลง เข่าจรดพื้น
๕. มือซ้ายเท้าลงที่พื้น แล้วนั่งลงขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย
๖. มือทั้งสองวางบนเข่า
๗.เลื่อนมือซ้ายวางหงายบนตัก แล้วเลื่อนมือขวามาวางทับบนมือซ้าย
๘. นั่งตัวตรง หลับตา
๙. ระลึกถึงลมหายใจ
๑๐. เมื่อสูดลมหายใจเข้า ก็ภาวนาว่า “พุท”
๑๑. เมื่อปล่อยลมหายใจออก ก็ภาวนาว่า “โธ”
๑๒. ภาวนาสลับไปเรื่อย ๆ ให้ใจสงบ

                                                         ฝึกการนอนอย่างมีสติ มีขั้นตอนดังนี้
๑.นั่งพับเพียบ ขาซ้ายทับขาขวา
๒. ประนมมือสวดมนต์ตามเสียงเพลง
๓. กราบ
๔. มือซ้ายยกมาวางที่ท้อง
๕. มือขวาเท้าพื้น เตรียมเอนตัวนอน
๖. ครูร้องเพลงนอนกับสติเบา ๆ  ๑ จบ
การฝึกนอนอย่างมีสติ เป็นการฝึกจิตให้สงบนิ่ง เมื่อหลับจะไม่ฝันร้ายหรือหวาดกลัว นักเรียนจะหลับสนิท ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่าไม่ง่วงเหงาหาวนอน
  ฝึกกำหนดรู้ความรู้สึก เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสสิ่งที่มากระทบ
ฝึกกำหนดรู้ เป็นการฝึกเมื่ออายตนะ คือ อวัยวะที่ทำหน้าที่มากระทบมี ๖อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อวัยวะต่าง ๆ ได้สัมผัสกับสิ่งรอบกาย คือ ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสกับสิ่งรอบกายและอารมณ์ที่เกิดกับใจ แล้วเกิดการรับรู้ของจิต

• การฝึกกำหนดรู้ เป็นการฝึกง่าย ๆ ดังนี้ 
ฝึกการเห็น
ระลึกถึงตา ภาวนาว่า ตาหนอ
ลืมตาขึ้น ภาวนาว่า ลืมตาหนอ
มองดู ภาวนาว่า เห็นหนอ
มองดูดอกไม้ ภาวนาว่า เห็นดอกไม้หนอ
• ฝึกการได้ยิน
ระลึกถึงหู ภาวนาว่า หูหนอ
ตั้งใจฟัง ภาวนาว่า ได้ยินหนอ
ฟังเสียงนก ภาวนาว่า ได้ยินเสียงนกหนอ
• ฝึกการได้กลิ่น
ระลึกถึงจมูก ภาวนาว่า จมูกหนอ
ตั้งใจดมกลิ่น ภาวนาว่า ดมกลิ่นหนอ
• ฝึกการรู้รส
ระลึกถึงลิ้น ภาวนาว่า ลิ้นหนอ
ตั้งใจลิ้มรส ภาวนาว่า ลิ้มรสหนอ
ลิ้มรสน้ำตาล ภาวนาว่า ลิ้มรสน้ำตาลหนอ

• ฝึกการสัมผัส
ระลึกถึงมือ ภาวนาว่า มือหนอ
ตั้งใจหยิบของ ภาวนาว่า หยิบของหนอ
หยิบปากกา ภาวนาว่า หยิบปากกาหนอ
• ฝึกการใช้ความคิด
ระลึกถึงความคิด ภาวนาว่าใช้ความคิดหนอ
ตั้งใจคิด ภาวนาว่า ได้คิดหนอ
คิดถึงพ่อแม่ ภาวนาว่า คิดถึงพ่อแม่หนอ
การฝึกกำหนดรู้ความรู้สึกทำให้จิตนิ่งเป็นสมาธิ จะทำอะไรก็รู้จักระมัดระวัง ความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้น เพราะรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่
 ฝึกให้มีสมาธิในการฟัง การอ่าน การคิด การถาม และการเขียน การฝึกให้มีสมาธิในการฟัง
ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิแน่วแน่ตั้งใจฟัง จนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดจากการฟัง การศึกษาเล่าเรียน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะได้ดำเนินไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ

                                                            การฝึกให้มีสมาธิในการอ่าน
การศึกษาเล่าเรียนจะดำเนินไปได้ด้วยดี จะต้องอาศัยการอ่านอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการศึกษาหาความรู้แล้ว การอ่านจะได้ผลดีจำเป็นต้องมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อเรามีสมาธิแล้วจะทำให้เราสามารถอ่านได้รู้เรื่อง อ่านได้เข้าใจและอ่านได้อย่างรวดเร็ว

                                                              การฝึกให้มีสมาธิในการคิด
เมื่อนักเรียนได้ฟังและอ่านแล้ว พิจารณาเรื่องที่รับรู้มาจากแหล่งต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ “คิดเป็น” เช่น นักเรียนได้ฟังวิทยุ หรืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ก็ให้นักเรียนคิดพิจารณาดูว่าทำไมบุคคลเหล่านั้นจึงได้รับผลเช่นนั้นหรือลองคิดดูอย่างมีเหตุผลว่า คนที่ขยันเรียนหนังสือมักประสบความสำเร็จ หรือคนที่พบเพื่อนดีจะแนะนำชักชวนไปในทางที่ดี 

                                                                ฝึกให้มีสมาธิในการถาม
เมื่อนักเรียน ฟัง อ่าน และคิดแล้ว เกิดความสงสัยหรือยังไม่เข้าใจ นักเรียนควรถามผู้รู้หรือครูอาจารย์ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจให้กระจ่างแจ้ง  การถามต้องใช้สติที่สงบแน่วแน่ ถามด้วยความอยากรู้ อยากศึกษาให้เข้าใจใช้ถ้อยคำและวาจาที่สุภาพเรียบร้อย จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

                                                                ฝึกให้มีสมาธิในการเขียน
เมื่อนักเรียนได้ฟังหรือรับรู้ด้วยการอ่าน แล้วนำมาคิดพิจารณาตลอดจนถามในสิ่งที่ตนไม่เข้าใจแล้ว นักเรียนควรจะจดบันทึกไว้เพื่อกันลืมและสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาค้นคว้าในครั้งต่อไป

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร