Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

29 กรกฎาคม ‘วันเสือโคร่งโลก’

Posted By trueplookpanya | 29 ก.ค. 65
3,345 Views

  Favorite
ชื่อภาพ : ความหวัง
ภาพโดย : นายชูยศ โตยอด
สถานที่ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
ภาพเข้ารอบ ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ระดับบุคคลทั่วไป ประจำปี 2564

เสือโคร่ง กำลังลดลงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุดองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเป้าหมายการเพิ่มประชากรเสือโคร่งให้ได้ 2 เท่าตามมติของที่ประชุมกลุ่มประเทศอนุรักษ์เสือโคร่ง หลายประเทศยังคงมีตัวเลขประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยเฉพาะบางประเทศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงที่เสือโคร่งได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

เสือโคร่งในโลกของเราแบ่งย่อยออกมาเป็น 9 ชนิดพันธุ์ย่อย สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี ทำให้เสือโคร่งที่พบได้ในปัจจุบัน มีเหลือเพียง 6 ชนิดพันธุ์ย่อยดังต่อไปนี้…

เสือโคร่งเบงกอล ข้อมูลภาพจาก Scimath

เสือโคร่งเบงกอล (Bengal Tiger: Panthera tigris tigris)

เป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเสือโคร่งทั้งหมดรองจากเสือโคร่งไซบีเรีย มีการกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ในประเทศอินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ และ กระจายในเขตพม่าด้วย สถานะในธรรมชาติถือว่าเป็นสัตว์ ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกล่าเพื่อทำหนังมาเป็นเครื่องประดับ และกระดูกอวัยวะนำมาใช้เป็นสมุนไพรตามความเชื่อ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าเสือโคร่งเบงกอลปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3,000 ตัว

เสือโคร่งไซบีเรีย ข้อมูลภาพจาก วิกิพีเดีย

เสือโคร่งไซบีเรีย (Siberian tigers: Panthera tigris altica)

เป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย  20 เหลือเพียงไม่กี่สิบตัว แต่ในปัจจุบันเสือโคร่งไซบีเรียสามารถพบในรัสเซียราว 400 ถึง 500 ตัว พบเพียงเล็กน้อยในประเทศจีนตอนบน  และที่เกาหลีเหนือ
 

สายพันธุ์อินโดจีน
ชื่อภาพ พยัคฆ์พเนจร โดย นายโดม ประทุมทอง

เสือโคร่งอินโดจีน  (Indochinese tiger : Panthera tigris corbetti)

รูปร่างเหมือนเสือโคร่งทั่วไป แต่มีลายเส้นที่เล็กกว่าเสือโคร่งเบงกอล และมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่า  จากการวิจัยทางพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่า เสือโคร่งอินโดจีนอาจเป็นบรรพบุรุษของเสือโคร่งทุกชนิด ก่อนที่สายพันธุ์เสือโคร่งจะแตกแขนงเป็นชนิดพันธุ์ต่าง ๆ เมื่อราว 108,000 หรือ 72,000 ปีที่ผ่านมา เสือโคร่งอินโดจีนนับว่าสามารถพบเห็นได้ไม่ยากในพื้นที่ประเทศพม่า ไทย เวียดนาม ลาว ทางตอนใต้ของจีน และกัมพูชา ปัจจุบันรายงานของ IUCN ชี้ว่าเสือโคร่งอินโดจีนเป็นสัตว์พันธุ์ที่อยู่ในสภาวะ ใกล้สูญพันธุ์ (endangered status) คาดว่ามีเหลืออยู่เพียง 300 ตัวตามธรรมชาติ

เสือโคร่งมลายู ข้อมูลภาพจากวิกิพีเดีย

เสือโคร่งมลายู หรือ เสือโคร่งมาเลเซีย (Malayan tiger : Panthera tigris jacksoni) พบได้ในป่าดิบชื้นของคาบสมุทรมลายู ได้แก่ รัฐกลันตัน ตรังกานู เปรัก และปะหังในมาเลเซีย รวมทั้งป่าตอนใต้สุดของประเทศไทยกับชายแดนมาเลเซีย โดยมักอาศัยในป่าผืนเล็ก ๆ และแต่ละแห่งมีประชากรเสือโคร่งไม่มาก เสือโคร่งพันธุ์มาเลเซียชอบอยู่ตามป่าเต็งรังที่ต่ำ แต่ก็พบได้ในป่าพรุ ขนาดลำตัว เสือโคร่งมาลายูจะมีขนาดเล็กกว่าเสือโคร่งอินโดจีนเล็กน้อย ปัจจุบันคาดว่าเสือโคร่งมลายูมีจำนวนประมาณ 500 ตัว สาเหตุของการถูกคุกคามเนื่องจากการแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาที่ดินเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือโคร่ง เช่นการที่เสือโคร่งบุกเข้ามากินสัตว์เลี้ยงของชุมชน ชาวบ้านจึงต้องจบชีวิตของมัน

เสือโคร่งสุมาตรา ข้อมูลภาพจาก blesstraveler

เสือโคร่งสุมาตรา (Sumatran tiger : Panthera tigris sumatrae) 

มีลักษณะแตกต่างไปจากเสือโคร่งสายพันธุ์อื่น ๆ คือ ขนบริเวณต้นคอจะหนามากที่สุด มีลวดลายมากกว่า บางเส้นอาจแตกเป็นคู่และมีสีเข้มที่สุด ในปี ค.ศ. 1978 มีการสำรวจประชากรเสือโคร่งสุมาตรา บนเกาะสุมาตราได้ราว 1,000 ตัว แต่ปัจจุบัน คาดว่ามีเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการล่าที่รุนแรงมากขึ้น และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและกระดาษ ที่บุกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน

เสือโคร่งจีนใต้ ข้อมูลภาพจาก วิกิพีเดีย

เสือโคร่งจีนใต้ (South China tiger : Panthera tigris amoyensis) 

รูปร่างเหมือนเสือโคร่งทั่วไป แต่มีสีขนที่อ่อนกว่าเสือโคร่งเบงกอล หรือ เสือโคร่งอินโดจีน มีหางสั้นกว่า มีลวดลายที่น้อยกว่า นับเป็นเสือโคร่งชนิดที่มีลวดลายน้อยที่สุด  ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเวลาของเสือโคร่งจีนใต้ได้หมดลงแล้ว เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ก็ไม่มีใครสามารถบันทึกพวกมันตามธรรมชาติได้อีก แม้ว่าอาจจะมีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่คาดว่าชนิดพันธุ์ย่อยนี้อาจสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วก็เป็นได้

ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติของเสือจะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย

แต่การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีเหตุผล ทุกการกระทำเป็นไปเพื่อความอยู่รอด และหากเรามองย้อนกลับไปจะเห็นว่า เสือ คงอยู่มานานแสนนานขนาดไหน แต่พฤติกรรมของเสือกลับไม่เปลี่ยนแปลง กลับกัน มนุษย์เสียเองที่มีความละโมบโลภอยากได้ทั้งทรัพยากรขยายอาณาเขตเกินความจำเป็น ออกล่าสัตว์เพื่อความคึกคะนอง จนสุดท้ายแล้วสิ่งมีชีวิตบนโลกเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่คงเป็นมนุษย์ และมนุษย์ก็คงจะมลายหายไปตามกฎธรรมชาติเช่นกัน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: WWF, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ วิกิพีเดีย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • trueplookpanya
  • 0 Followers
  • Follow