ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าใจว่า การเล่นคือความสบายของเด็ก ๆ และเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน แต่ในทางจิตวิทยานั้น มีการวิจัยมากมายเลยล่ะค่ะ ที่บ่งบอกว่า การเล่น ไม่ใช่กิจกรรมเล่น ๆ แบบที่พวกเราคิด แต่กลับมีประโยชน์มหาศาลสำหรับเด็ก ๆ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ มีพลังเต็มเปี่ยมพร้อมสำหรับการเล่นนั่นเองค่ะ
และหนึ่งในการเล่นที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็กในวัยก่อนเข้าเรียนและเด็กอนุบาลก็คือ “การเล่นสมมุติ” นั่นเอง ซึ่งการเล่นสมมตินี้ จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กับความสามารถในการสื่อสารของเด็ก ๆ โดยเริ่มจากการสมมุติด้วยพฤติกรรม เช่น ทำท่าโทรศัพท์ตามผู้ใหญ่ ทำท่าเล่นกับตุ๊กตาหรือของเล่น และเริ่มพัฒนามากขึ้นด้วยการเสริมเติมแต่งเรื่องราว เริ่มมีการสมมุติตนเองเป็นตัวละคร และเริ่มที่จะเล่นสมมุติโดยแบ่งบทบาทกับคนอื่น ๆ
บทความหนึ่งจากเว็บไซต์ Psychology Today ได้กล่าวถึงการเล่นสมมุติไว้ว่า เป็นกิจกรรมที่มีการพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงวัย 6-7 ปี และในการพัฒนารูปแบบการเล่นนั้น เด็ก ๆ เองก็ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการหลาย ๆ ด้านไปตามช่วงวัยด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนจากการเล่นสมมุติก็คือ การพัฒนาทักษะทางด้านการสื่อสารและการใช้ภาษา โดยเด็ก ๆ ที่ได้รับโอกาสในการเล่นสมมุตินั้น จะมีความเข้าใจโครงสร้างภาษาในลักษณะของการใช้คำที่มีระดับภาษาที่ยากขึ้น เช่น ประโยคขอร้อง ประโยคแสดงความต้องการ ประโยคแสดงการคาดคะเนอนาคต และมีวิธีการใช้คำคุณศัพท์เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ งานวิจัยของ ซานดร้า รัส นักจิตวิทยายังได้เปิดเผยอีกว่า การเล่นสมมุตินั้น มีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะทางเชาว์ปัญญาให้กับเด็ก ๆ ในแง่ของการรู้จักใช้สัญลักษณ์ ตัวแทน และการจัดลำดับขั้นตอน รวมไปถึงการกระตุ้นให้เด็ก ๆ รู้จักใช้ความคิดแบบหลากหลาย (Divergent Thinking) อีกด้วย
ไม่เพียงแต่ความฉลาดทางด้านเชาว์ปัญญาเท่านั้นนะคะ แต่สิ่งหนึ่งที่ครูพิมอยากให้คุณพ่อคุณแม่เล็งเห็นประโยชน์ของการเล่นสมมุติก็คือ มันเป็นการเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างมาก เพราะการเล่นสมมุติ เด็ก ๆ จะต้องมีการคาดเดาความคิดและความรู้สึกของสิ่งที่ตนเองจะเป็น หรือสิ่งที่สมมุติขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นอกจากนี้ ในการเล่นสมมุติ เด็ก ๆ จะได้มีโอกาสในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งบางครั้งก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เด็ก ๆ ไม่ได้แสดงออกในชีวิตจริง และนี่คือโอกาสสำคัญ ที่เด็ก ๆ จะได้ผนวกรวมความสามารถทางด้านอารมณ์และเชาว์ปัญญาเข้าไปด้วยกันในกิจกรรมเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากจากกิจกรรมอื่น ๆ ค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก