Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัตว์ทะเลหน้าดิน (Marine Benthos)

Posted By Plookpedia | 26 ธ.ค. 59
2,092 Views

  Favorite

สัตว์ทะเลหน้าดิน (Marine Benthos)

หมายถึง สัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลัง และที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องทะเล โดยบางชนิดอาศัยอยู่บนพื้นดิน บางชนิดฝังตัวอยู่ในดิน ตลอดจนพวกที่หากินบนพื้นท้องทะเล พวกหลังนี้ได้แก่ พวกปลาหน้าดิน เ ช่น ปลาซักเดียว และปลาเก๋า ก็จัดว่า เป็นสัตว์ทะเลหน้าดินด้วย นอกจากปลาหน้าดินแล้ว พวกกุ้ง หอย และปู จัดเป็นสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่เรารู้จักกันดี เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ


 

การแบ่งเขตการกระจายของพืชและสัตว์บริเวณหาดหิน

สัตว์ทะเลหน้าดินมีบทบาทที่สำคัญในทะเลคือ เป็นอาหารที่สำคัญ สำหรับสัตว์น้ำชนิดอื่น และปลาหลายชนิด ความหนาแน่นของสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณใดบริเวณหนึ่งในทะเล เป็นสิ่งชี้บ่งถึงความอุดมสมบูรณ์ สำหรับปลาและสัตว์น้ำที่อาศัยในบริเวณนั้น โดยเฉพาะฝูงปลาและสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินในระยะแรกๆ นั้น มุ่งศึกษาถึงชนิดและความหนาแน่นของสัตว์กลุ่มนี้ เพื่อใช้ทำนายความอุดมสมบูรณ์ของฝูงปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหน้าดิน ส่วนใหญ่มุ่งที่จะให้ทราบถึงปริมาณและชนิดของสัตว์ที่พบ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ และสามารถใช้เป็นดัชนีชึ้คุณภาพของแหล่งน้ำได้อีกด้วย สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก เช่น พวกไส้เดือนตัวกลม (nematodes) และไส้เดือนทะเล (polychaetes) ใช้เป็นดัชนีชี้คุณภาพน้ำที่ดี เพราะเราสามารถพบสัตว์เหล่านี้ได้ทั่วไป มีการฝังตัวอยู่กับที่ และมีช่วงชีวิตยาว นอกจากนี้สัตว์กลุ่มนี้ ยังมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ เนื่องจากน้ำเน่าเสีย เป็นต้น

การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหน้าดิน ในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาอย่างกว้าง ในบริเวณอ่าวไทย ทั้งตอนบน และตอนล่าง ตลอดจนบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน มีการศึกษากลุ่มประชากรสัตว์ทะเลหน้าดิน บริเวณแม่น้ำ และทะเลสาบ ที่สำคัญต่างๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และทะเลสาบสงขลา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินใน ระบบนิเวศต่างๆ เช่น ระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งมีการศึกษามา กบริเวณจังหวัดภูเก็ต อ่าวพังงา ระนอง จันทบุรี และสมุทรสงคราม ฯลฯ ส่วนสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณแนวปะการังมีการศึกษา ทั้งในอ่าวไทย และบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันด้วย เช่นเดียวกับการศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดิน ในระบบนิเวศหญ้าทะเล ในการศึกษาส่วนใหญ่ มุ่งศึกษาความหลากหลายของชนิดสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่พบขอบเขตการกระจาย ปริมาณ และมวลชีวภาพ เพื่อดูความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ทำการศึกษา นอกจากนี้ส่วนใหญ่มักศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ทะเลหน้าดิน กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ประกอบกันไปด้วย การศึกษาในบางเรื่อง มุ่งให้ความสนใจที่จะใช้สัตว์ทะเลหน้าดิน เป็นดัชนีที่ชี้บ่งคุณภาพของแหล่งน้ำ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ เช่น การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพิจารณาจากค่าดัชนีความแตกต่าง (species diversity index) ค่าดังกล่าวจะบอกถึงจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบได้ ในชุมชนสิ่งที่มีชีวิตพื้นท้องทะเล ตามปกติเราพบว่า ค่าดัชนีความแตกต่างนี้ จะต่ำในบริเวณที่มีคุณภาพของน้ำเสื่อมลง หรือน้ำเน่าเสีย ทั้งนี้เป็นเพราะมีสัตว์จำนวนน้อยชนิดเท่านั้น ที่จะทนอยู่ได้ และมีการปรับตัว เพื่ออาศัยอยู่ต่อไปในบริเวณดังกล่าวได้ แต่ถ้าเรานับจำนวนตัว ในแต่ละชนิด ที่พบอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสมนี้ จะมีค่าสูง เนื่องจากมันขาดผู้ต่อสู้แก่งแย่ง เพื่อครอบครองอาหาร และที่อยู่อาศัย สัตว์กลุ่มนี้ จึงสามารถแพร่พันธุ์ และเพิ่มจำนวนได้มาก ในทางตรงกันข้าม ในที่ที่มีคุณภาพน้ำค่อนข้างสะอาด มักจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีค่าดัชนีความแตกต่างสูง เนื่องจากมีจำนวนสัตว์หลายชนิด ที่อาศัยอยู่ได้ในบริเวณเดียวกัน จำนวนตัวในแต่ละชนิด จึงมักจะต่ำ เนื่องจากต้องมีการแบ่งสันปันส่วนพลังงาน และที่อยู่อาศัยซึ่งกันและกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow