Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทุนการศึกษา

Posted By Plookpedia | 21 ธ.ค. 59
1,219 Views

  Favorite

ทุนการศึกษา

ความหมายของทุนการศึกษา

ทุนการศึกษา หมายถึง เงินทุน สำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่บุคคล หรือองค์การต่างๆ บริจาคให้ เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ ผู้ที่มิได้อยู่ในหน้าที่ เลี้ยงดูปกครอง โดยตรงของตน ได้ศึกษาเล่าเรียน 

การศึกษาในระบบโรงเรียน และสถาบันการศึกษาในสมัยปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหลายประการ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ ค่าบำรุงกีฬา และกิจกรรม ฯลฯ ที่โรงเรียน หรือสถานศึกษา เรียกเก็บ ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าเดินทาง และกินอยู่ พักผ่อนหย่อนใจ และกิจการสังคม ฯลฯ ที่ผู้เรียนจับจ่ายใช้สอยเอง ถ้าผู้เรียนไม่สามารถพำนักที่บ้าน กับครอบครัวของตนเองได้ ก็มีค่าเช่าที่พักที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก ดังผู้ที่ไปศึกษาต่างจังหวัด หรือต่างประเทศประจักษ์ได้ดี

ค่าใช้จ่ายในการศึกษา 

ในสมัยโบราณ การศึกษาของชาวบ้านสามัญชนคือ การเรียนความรู้ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ ซึ่งมักตามแบบอย่างของพ่อแม่ และบรรพบุรุษ การศึกษาคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ปกติของชีวิตประจำวัน ด้วยการช่วยงาน ในครัวเรือนและไร่นา จนมีความรู้ความชำนาญสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เมื่อเติบใหญ่ การหาความรู้วิชาชีพอื่นๆ ที่นอกเหนือประสบการณ์ และความสามารถของพ่อแม่ที่จะสั่งสอนฝึกฝน ได้ใช้วิธีนำผู้เรียนไปฝากทำงาน รับใช้ผู้มีความรู้ ที่จะถ่ายทอดให้

ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของเยาวชนเริ่ม เป็นภาระทางการเงิน สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองระดับชาวบ้านสามัญชนที่ยากจน หรือมีเพียงพอกินพอใช้ เมื่อการหาความรู้ต้องกระทำนอกระบบ ความเป็นอยู่ของชีวิตประจำวันในครอบครัว และชุมชน และบ้านเมืองมีกฎหมายสั่งบังคับไว้ให้ทุกคนต้องปฏิบัติ แม้ผู้ปกครองจะไม่ต้องการ หรือไม่มีเงินทอง พอที่จะใช้สอย เพื่อการศึกษาเช่นนี้ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติในฐานะประชาชน พลเมืองของประเทศได้

เนื่องจากรัฐบาลคำนึงถึงภาระของผู้ปกครองนักเรียนที่จะต้องใช้จ่ายส่งเสีย เพื่อการศึกษาของเยาวชน จึงจัดการศึกษา ในส่วนที่เป็นภาคบังคับ (ปัจจุบันคือระดับประถมศึกษา ๖ ปี) ให้เปล่า โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน และจัดหาส่วนหนึ่งของ อุปกรณ์การเรียน เช่น สมุด หนังสือเรียน และ ฯลฯ ที่จำเป็นให้โดยไม่ต้องซื้อ แต่กระนั้นผู้ปกครองก็ยังต้องซื้อหาเองบ้าง เช่น เครื่องแบบ กระเป๋าหนังสือ ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ฯลฯ และ เสียผลตอบแทนจากแรงงานของผู้เรียนที่ผู้ปกครอง เคยได้อาศัยช่วยเหลือในบ้านและงานอาชีพของครอบครัว

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดคำขวัญประเภทนักเรียน หัวข้อ การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เมื่อ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐


เมื่อสังคมมีวิวัฒนาการไป จนโอกาสการได้งานอาชีพ ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นสำคัญ ผู้ที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการมาน้อย ก็ย่อมเสียเปรียบ ถ้าบุคคลได้รับการศึกษาน้อย ไม่ใช่เพราะขาดสติปัญญา หรือความวิริยะอุตสาหะ แต่เพราะฐานะของครอบครัวไม่อำนวย ขาดทุนรอนค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เขาก็จะไม่มีโอกาสแสดงความสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เท่าที่ควร ทุนการศึกษาที่ผู้อื่นหยิบยื่นมาช่วยสงเคราะห์ ก็จะเป็นการลงทุนสร้างทรัพยากรมนุษย์ ที่ให้ผลได้มาก เป็นการสร้างความเสมอภาคในโอกาสให้แก่บุคคล ที่จะเป็นกำลังของสังคม

ประวัติการให้ทุนการศึกษาในเมืองไทย 

การศึกษาตามแบบประเพณีเดิมของไทยนั้นเป็นที่คุ้นเคย และปฏิบัติกันตามความพอใจ และตามฐานะของบุคคล เรียกกันว่า ศึกษาในวัด และในวัง ดังนั้นการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากผู้ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ตรงตามความพอใจ หรือฐานะของบุคคล เช่น การศึกษาความรู้แบบตะวันตก ที่ชาวตะวันตกอยากจะให้ หรือที่ผู้ปกครองบ้านเมืองไทยตระหนักเห็นความจำเป็นที่คนไทยต้องรู้ จึงจำเป็นต้องมีสิ่งจูงใจ หรือการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่จะเรียน 

ในอดีตมีหลักฐานการให้สิ่งจูงใจให้เล่าเรียน เช่น ประชุมพงศาวดาร (ภาคที่ ๓๒) ระบุว่า คณะสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสเคยให้ทุนคนไทย ไปศึกษาต่างประเทศ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๒๑๙-๒๒๓๑) แห่งกรุงศรีอยุธยา มีการช่วยเหลือการเล่าเรียนของเด็กไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยในระดับเจ้านาย และขุนนางข้าราชการ เริ่มสนใจความรู้ของตะวันตก ซึ่งหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีตะวันตก นำมาเผยแพร่ มิชชันนารี คณะเพรสไบทีเรียน ชาวอเมริกัน ที่ตั้งโรงเรียนในเมืองไทย หาเด็กเข้าเรียนไม่ได้ ต้องใช้วิธีจ้างเด็กให้เรียน มิชชันนารีชาติเดียวกันนี้ ได้ให้ทุนสตรีไทยคือ นางเต๋อ หรือนางเอสเทอร์ (Esther) ไปศึกษาวิชาผดุงครรภ์แผนใหม่ที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อทางราชการเริ่มจัดการศึกษาแผนใหม่ ในระบบโรงเรียน ตามแบบตะวันตกอย่างจริงจัง เพื่อรับเอาความรู้ของตะวันตกมาใช้ในการบริหาร และสร้างความเจริญให้ประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ และวิชาการตะวันตกที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๔ นักเรียนเหล่านี้ถือได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษา ในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งสิ้น

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น ก็มีทุนของ เอกชนชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในเมืองไทย คือ หมอเฮาส์ (Samuel House) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ให้แก่นายเทียนฮี้ สารสิน ต่อมารับราชการได้ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสารสิน สวามิภักดิ์ ไปศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัย นิวยอร์ก กลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔

ทุนการศึกษาที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน แก่นักเรียนไทยให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ก็โดยพระราชประสงค์ จะให้กลับมารับราชการ ได้ใช้และถ่ายทอดความรู้ของตะวันตกเผยแพร่ทั่วไป ในหมู่อนุชนคนไทยแทนผู้เชี่ยวชาญและครูอาจารย์ ชาวต่างประเทศรุ่นแรกๆ ที่รัฐบาลจ้างมา ดังปรากฏในพระราชปรารภในกฎหมายข้อบังคับ สำหรับนักเรียนสยามที่เรียนวิชาอยู่ ณ ประเทศ ยุโรป ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ว่า 

"...โดยพระบรมราชประสงค์เพื่อจะให้ได้วิชา เวลากลับเข้ามากรุงเทพฯ จะได้ทำการสิ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ราชการ และบ้านเมืองต่อไป เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด เด็กคนไทยส่งออกไปเล่าเรียนวิชา และพระราชทานเงินหลวงเป็นค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า กินอยู่เบ็ดเสร็จตามสมควร..." 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๐ มีการวางระเบียบ การพระราชทานเงินส่งนักเรียนไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ แยกเป็นทุน "คิงส์สกอลาร์ชิป" (King's Scholarship) ส่วนพระองค์ ซึ่งผู้ได้รับพระราชทานทุนนี้ไม่จำเป็นต้องกลับมารับราชการ ประเภทหนึ่ง กับทุนตามความต้องการของกระทรวง ซึ่งผู้ศึกษาต้องกลับมารับราชการอีกประเภทหนึ่ง ทุนประเภทแรก ภายหลังวิวัฒนาการมาเป็น ทุนเล่าเรียนหลวง หลังจากที่ขาดตอนไป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ และรื้อฟื้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ส่วนทุนประเภทหลังวิวัฒนาการ มาเป็นทุนรัฐบาล ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ตามความต้องการของราชการสืบต่อมา ไม่ขาดตอน คือทุนซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้บริหารในปัจจุบัน

นิสิตนักศึกษาที่เรียนดีและประพฤติดีแต่ยากจน หากได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น การให้ทุนในรูปของอาหารกลางวัน ก็จะเป็นการสนับสนุนให้มีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับสูงเป็นกำลังสติปัญญาที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป


นอกจากทุนของทางราชการไทยแล้ว ก็ยัง มีทุนของมูลนิธิเอกชนไทยอีกหลายทุน เช่น ทุนระพีมูลนิธิ ซึ่งบรรดาศิษย์และผู้คุ้นเคย ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ร่วมกันตั้งขึ้นถวายกุศล เริ่มให้ทุนส่งนักเรียนกฎหมายไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ทุนของมูลนิธิต่างประเทศ เช่น ทุนร็อกกีเฟลเลอร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ (สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลปัจจุบัน) ทรงเจรจาติดต่อขอมา เป็นทุนให้นักเรียนไทยไปศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ และสาขาอักษรศาสตร์ในประเทศ ทางยุโรปและอเมริกา 

ทุนให้ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศหลังจาก การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากทุนของรัฐบาล และเอกชนไทยแล้ว ก็มีทุนจากรัฐบาลและองค์การ ต่างประเทศมากขึ้นโดยลำดับ เช่น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศ ที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาวิชา ในประเทศมากที่สุด 

ในปัจจุบัน ทุนการศึกษามิได้มีให้เฉพาะ นักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพราะมีความจำเป็น ที่ต้องเรียนความรู้แบบตะวันตกเท่านั้น หากเมื่อการศึกษาวิชาการในสถาบันการศึกษาแพร่หลาย และมีประโยชน์ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทุนให้ผู้เรียนศึกษาภายในประเทศก็ปรากฏตามมา และมากขึ้น เพื่อผู้ขัดสนแต่มีสติปัญญา และความมานะพยายาม จะได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างเสมอภาคกันตามที่ควรจะได้ 

นอกจากให้ทุนนักเรียนไทยได้เรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว รัฐบาลไทยในสมัยหลัง ยังให้ทุนนักศึกษาต่างประเทศ ได้เข้ามาศึกษาวิชาการในประเทศไทยได้ด้วย เช่น ทุนรัฐบาลไทย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ที่เริ่ม มีให้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒- ๒๔๘๘) มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทุกทวีป ได้รับทุนปีละประมาณ ๑๐ คนมาศึกษา ค้นคว้าในสถาบันอุดมศึกษาของไทยทุกปี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow