โรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นการอักเสบชนิดเอ็กซีมา
เอ็กซีมาไม่ใช่โรค แต่เป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งของผิวหนังที่มีต่อสาเหตุบางอย่าง โดยมีลักษณะเฉพาะคือ เริ่มด้วยผิวหนังแดงเหมือนกับในผิวหนังอักเสบทั่วๆ ไป แต่ต่อจากนั้นจะเกิดมีตุ่มพองน้ำใสๆ ซึ่งจะแตกออกมีน้ำเหลืองเยิ้มไหล และเมื่อไม่มีอะไรมาแหย่กวนอีกก็จะแห้งลง และกลายเป็นสะเก็ด จนกระทั่งสะเก็ดแห้งหลุดไปในระยะหลัง เมื่อผิวหนังจะกลับคืนสู่ลักษณะปกติ อาการสำคัญคือ คัน
ลักษณะของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นลักษณะที่จะพบได้ จากสาเหตุมากมายหลายประการด้วยกัน โดยอาจจำแนกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
๑. สาเหตุภายนอกร่างกาย
๑.๑ เอ็กซีมาจากการสัมผัส
๑.๑.๑ สิ่งระคายเคืองที่ทำให้เป็นพิษไหม้หรือกัด เช่น พวกกรดและด่างชนิดแรง หรือเข้มข้น เป็นต้น
๑.๑.๒ การแพ้สารเคมี เช่น สารในผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เป็นต้น
๑.๑.๓ การแพ้แสดงและผื่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากแสง
๑.๒ เอ็กซีมาจากการติดเชื้ออักเสบ
๑.๒.๑ การติดเชื้ออักเสบจากผลผลติของบัคเตรีจากแผลที่อักเสบ เช่น น้ำหนวกที่ไหลออกมาจากรูหู เป็นต้น
๑.๒.๒ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ใกล้ชิดกับผิวหนังที่อักเสบจากการติดเชื้อ
๑.๓ เอ็กซีมาที่เกิดขึ้นบนผิวหนังที่เป็นโรคของเชื้อรา
๑.๔ อินเทอร์ทริโก (intertrig) หมายถึง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่ประชิด และเสียดสีกัน เช่น บริเวณขาหนีบ รักแร้ และง่ามนิ้ว เป็นต้น
๒. สาเหตุภายในร่างกาย
๒.๑ ผื่นที่เกิดจากยา ไม่ว่าจะเป็นยารับประทาน ยาฉีด หรือโดยวิธีอื่นใด นอกจากการทาเฉพาะที่โดยไม่มีการดูดซึม
๒.๒ ผื่นจำพวกที่เรียกว่า "id" ซึ่งเป็นผื่นที่เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในตำแหน่งที่ห่างไกลออกไป จากตำแหน่งที่เป็นโรคเดิมอยู่ก่อน โดยเฉพาะจากเชื้อรา การรักษาที่ไม่ถูกต้อง และรุนแรงเกินไป มักจะทำให้มีการกำเริบของแผลเดิม และการกระจายของผื่นเกิดขึ้นที่ตำแหน่งอื่น
๒.๓ เอ็กซีมาจากการดูดซึมสิ่งที่เป็นผลิตผลจากเอ็กซีมาเดิม ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เชื้อรา ซึ่งบางที่เรียกกันว่า ออโทเซนซิไทเซซัน (autosensitization หรือ autoecxematization) ผื่นนั้นอาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็ได้ แต่จะเป็นทั้งสองข้าง ของร่างกาย และมักจะกระจายไปทั่วทั้งร่างกายด้วย โดยมากจะได้ประวัติและลักษณะการกำเริบของโรคเดิม
๓. สาเหตุที่ยังไม่ทราบชัดหรือมีหลายสาเหตุ
๓.๑ เอ็กซีมาชนิดอะโทพิก (atopic) ซึ่งมีความโน้มเอียงทางพันธุกรรม และกำเริบขึ้น โดยสาเหตุกระตุ้นหลายประการด้วยกัน เช่น อาหาร เครื่องวัดนุ่งห่ม การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และสภาพแวดล้อม เป็นต้น
ในทารกอาจมีลักษณะของเอ็กซีมาแถวหน้า ซึ่งรู้จักกันทั่วๆ ไปว่า กลากน้ำนม โดยเป็นที่ศีรษะ หรือทั่วทั้งร่างกาย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มักจะมีผื่นที่บริเวณข้อพับแขนและขาทั้งสองข้างเป็นลักษณะสำคัญ
๓.๒ ไลเคนซิมเพล็กซ์ (lichen simplex) ชนิดเรื้อรัง ผื่นประเภทนี้มักจะเกิดจากการระคายเคือง หรือแหย่กวนซ้ำๆ ซากๆ ที่ผิวหนังแห่งใดแห่งหนึ่งที่มือเอื้อมไปถึง เช่น ที่ต้นคอ และตาตุ่มด้านนอกของข้อเท้า โดยมีอาการคัน ทำให้อดเกาไม่ได้ เมื่อเกาซ้ำๆ ซากๆ เข้า ก็ทำให้ผิวหนังหนาขึ้น และมีริ้วรอยเด่นชัด เมื่อทิ้งเอาไว้ก็จะเกิดมีผิวหนังถลอก และเป็นน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีการอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย เดิมเรียกโรคนี้ว่า "เรื้อนกวาง"
๓.๓ เอ็กซีมาจากการคั่งของกระแสเลือดหรือน้ำเหลือง เช่น ผู้ที่เป็นเส้นเลือดดำขอดที่ขา ซึ่งจะเห็นเส้นเลือดดำพองใหญ่ และเมื่อมีบาดแผลหรือเกาถลอกก็จะเกิดเป็นเอ็กซีมาเรื้อรังขึ้น โดยมากจะพบบริเวณตาตุ่มด้านในของข้อเท้า
๓.๔ เอ็กซีมารูปวงกลม เอ็กซีมาชนิดนี้มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้หลายประการด้วยกัน เช่น จากการสัมผัส การแหย่กวน การแห้งของผิวหนัง ยา รวมทั้งการเคร่งเครียดทางอารมณ์ เป็นต้น โดยเมื่อแรกจะมีลักษณะเป็นเม็ดผื่นเล็กๆ ก่อน แล้วโตขึ้นเป็นวงกลม คัน และอาจเป็นขุยหรือมีน้ำเหลืองเยิ้มส่วนมากจะเป็นบริเวณแขนและขา
๓.๕ เอ็กซีมาที่เกิดขึ้นจากการผิดปกติของต่อมเหงื่อ มีปัจจัยของสาเหตุหลายอย่าง เช่น ความเคร่งเครียดของอารมณ์ผสมกับการอุดกั้นของต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดเป็นเม็ดพองน้ำทั้งเล็กและใหญ่ที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และมีอาการคันมาก
๓.๖ เอ็กซีมา หรือผิวหนังอักเสบที่มีการลอกออกของผิวหนังทั่วร่างกาย สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายประการด้วยกันคือ
๓.๖.๑ เกิดจากยาทา ยากิน หรือ ยาฉีด เช่น ยาที่เข้าสารปรอท และเพนิซิลลิน
๓.๖.๒ เกิดต่อมเนื่องจากโรคผิวหนังสามัญบางชนิด เช่น โรคโซริอาซิส (psoriasis) และ เซบอร์เรอิก (seborrheic dermatitis) เป็นต้น
๓.๖.๓ เกิดต่อเนื่องจากโรคผิวหนังที่ไม่ค่อยจะได้พบบ่อยนัก เช่น ไพทีริอาซิส รูบราไพลาริส (pityriasis rubra pilaris) เป็นต้น
๓.๖.๔ เกิดจากการดูดซึมผลิตผลของเอ็กซีมาจากที่ใดที่หนึ่ง และกระจายไปทั่วร่างกาย
๓.๖.๕ เกิดจากลิมโฟมา (lymphoma) ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น โรคฮอด์จคิน (Hodgkin) และมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukaemia) เป็นต้น
๓.๖.๖ เอ็กซีมาทั่วร่างกายในเด็กและเด็กอ่อน ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เข้าใจว่าจะเกิดจากการติดเชื้อ
๓.๖.๗ ไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัด
ในบรรดาเอ็กซีมาจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ที่พบบ่อยมากเป็นเอ็กซีมาที่เกิดจากการสัมผัส ชนิดที่เป็นปฎิกิริยาการแพ้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ในวัตถุ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้อง หรือสัมผัสกับผิวหนังในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
การแพ้นั้นต่างกับการเป็นพิษหรือกัดไหม้ของสารเคมี เช่นประเภทกรดหรือด่างอย่างแรง เพราะการเป็นพิษกัดไหม้นั้น ไม่ว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อไปสัมผัสถูกต้องเข้า ย่อมจะเกิดอาการอักเสบหรือไหม้ขึ้นมาทุกคน ไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความรุนแรง และความเข้มข้นของสารเคมีนั้นๆ การแพ้เป็นปฏิกิริยาพิเศษอย่างหนึ่งต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่คนทั่วๆ ไป สัมผัสถูกต้องได้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิกิริยาเกิดขึ้น แต่ผู้ใดก็ตามที่แพ้ต่อสาร หรือวัตถุนั้น จะเกิดมีผิวอักเสบ และกลายเป็นลักษณะของเอ็กซีมาดังกล่าวแล้ว
ส่วนสารเคมีที่เป็นกรดหรือด่างนั้น อาจทำให้ เกิดเป็นพิษหรือแพ้ได้สองประการ เช่น กรดคาร์บอลิกชนิดเข้มข้น ย่อมทำให้ผิวหนังอักเสบไหม้ทุกคน แต่กรดคาร์บอลิกเจือจางประมาณร้อยละ ๒๕ จะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อผู้หนึ่งผู้ใดที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้าเลย นอกจากผู้ที่แพ้เท่านั้น
โดยทั่วไปเชื่อว่าต้นเหตุของการแพ้ส่วนใหญ่คือ สารพวกโปรตีน ซึ่งมีน้ำหนักอณูสูง แต่ในกรณีของ เคมีวัตถุธรรมดาซึ่งไม่ใช่โปรตีน จะทำให้เกิดการแพ้ โดยไปจับกับโปรตีนของผิวหนังมีคุณสมบัติกลายเป็น แอนติเจน ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างตัวต้านทานที่ เรียกว่า แอนติบอดีขึ้นมา เมื่อครั้งต่อไปร่างกายได้รับ แอนติเจนซ้ำเข้าไปอีกก็จะเกิดปฏิกิริยา ทำให้มีอาการอักเสบ และมีเอ็กซีมาที่ผิวหนังขึ้น
วัตถุที่แตะต้องสัมผัสกับผิวหนังและอาจทำให้ ผิวหนังเกิดอักเสบหรือเอ็กซีมาได้มีมากมายในเครื่องใช้สอยประจำวันหรือสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องสำอาง ซึ่ง อาจเป็นสารเคมีที่ประกอบอยู่ในเครื่องสำอางหรือสีที่ใช้ ผสมทำให้ดูสวยงาม ยาย้อมผม ดัดผม ยาทาผิวหนัง ผงซักฟอก ยางไม้ หนังรองเท้า สายนาฬิกาข้อมือ เสื้อผ้าที่ย้อมสี ยาสีฟัน เชลแล็กที่ทาไม้ ตลอดจนโลหะบางชนิดที่ใช้กันอยู่ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นทาง หัตถกรรมและอุตสาหกรรม สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ หรือมีอยู่ในวัตถุนั้นๆ แม้จะมีจำนวนน้อยนิดสัก เพียงใดก็ตาม ถ้าสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าไปได้ย่อม เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ เช่น ศักยะของการทำให้เกิดการแพ้ได้ ของสารนั้น การเสียดสี ความชื้น และความอบอุ่น หรือความร้อน เป็นต้น
สารเคมีที่เป็นสาเหตุของเอ็กซีมาจากการสัมผัสที่พบบ่อยๆ เช่น พาราเฟนิลิน ไดอะมีน (paraphenylene diamine) แอมโมนีเอตเทดเมอร์คิวรี (ammoniated mercuri) ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehide) โพแทสเซียมไดโครเมต (potassium dichromate) นิกเกิลซัลเฟต (nickle sulfate) เบนโซเคน (benzocaine) พาราเบน (paraben) ลาโนลิน (lanolin) เพนิซิลลิน (penicillin) นิโอไมซิน (neomycin) ซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) ดีดีที (DDT) สีพวกอะโซและอะนิลีน (azo, aniline)