โรคติดต่อ หมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อโรคเข้าไปเพิ่มจำนวนในร่างกาย อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นผลจากตัวเชื้อโรคเอง หรือพิษที่เชื้อโรคนั้น ปล่อยออกมา เชื้อโรคจะติดต่อถ่ายทอดจากผู้ป่วยโดยตรง หรือโดยอ้อมไปสู่คนปกติ บางครั้งเรียกว่า โรคติดเชื้อแทนคำว่า โรคติดต่อ
สำหรับในเขตร้อน อากาศอบอุ่นจนถึงร้อนจัดตลอดปี และมีฝนตกชุก มีความชื้นสูง เป็นผลให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ ตลอดจนแมลงที่เป็นพาหะนำโรคเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้เร็ว ทำให้มีโรคติดต่อต่างๆ ชุกชุม และบางโรคก็พบบ่อยกว่าประเทศ ที่มีอากาศหนาว โรคที่พบบ่อยในแถบเขตร้อนนี้ รวมเรียกว่า โรคเขตร้อน (tropical diseases) ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อได้มากมายหลายชนิด นับตั้งแต่เชื้อไวรัส ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ลงไปจนถึงสัตว์เซลล์เดียว และหนอนพยาธิต่างๆ
จุลินทรีย์ หรือจุลชีพ คือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขยายเป็นพันเท่า หรือหมื่นเท่า จึงจะมองเห็นได้ ในบรรยากาศที่ล้อมรอบตัวเรา ในดิน ในน้ำ ในอาหาร บนผิวกาย หรือในร่างกายของเรา จะสามารถตรวจพบจุลินทรีย์ต่างๆ ได้มากมายหลายชนิด
จุลินทรีย์บางชนิด มีชีวิตอยู่โดยไม่ทำอันตรายต่อคน หรือสัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่น บางชนิดมีประโยชน์ช่วยสังเคราะห์สารต่างๆ ให้ประโยชน์ในทางกสิกรรม และอุตสาหกรรม แต่บางชนิดก่อโรคให้กับคน สัตว์และพืช จุลินทรีย์ที่ก่อโรคนี้รวมเรียกว่า "เชื้อโรค"
เราอาจแบ่งจุลินทรีย์ออกเป็นกลุ่มตามขนาด รูปร่าง และคุณสมบัติอื่นๆ ได้ดังนี้
๑. เชื้อไวรัส
เป็นจุลินทรีย์ที่ขนาดเล็กที่สุดต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่มีกำลังขยายเป็นหมื่นเท่าจึงจะมองเห็นได้ เรายังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสได้ในอาหารเพาะเลี้ยง เชื้อไวรัสเจริญเพิ่มจำนวนได้ เมื่ออยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น
ตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้ทรพิษ พิษสุนัขบ้า ไขสันหลังอักเสบหรือโปลิโอ หัด คางทูม และอีสุกอีใส เป็นต้น
๒. เชื้อบัคเตรี มีขนาดใหญ่กว่าเชื้อไวรัส สามารถมองเห็นได้ เมื่อส่องขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา
เชื้อบัคเตรีแบ่งออกเป็นกลุ่ม ตามรูปร่างที่มองเห็น
กลุ่มที่มีรูปร่างกลม เรียกว่า ค็อกไซ (cocci)
กลุ่มที่มีรูปร่างเป็นแท่ง เรียกว่า บะซิลไล (bacilli)
กลุ่มที่มีรูปร่างขดเป็นเกลียวสว่าน เรียกว่า สไปโรคีต (spirochete)
ตัวอย่างโรคจากเชื้อบัคเตรี ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ บิด บาดทะยัก หนองใน วัณโรค หนองฝี ไข้เจ็บคอ ปอดบวม คอตีบ และไอกรน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีบัคเตรีอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติต่างไป จากเชื้อบัคเตรีส่วนใหญ่ บัคเตรีอื่นๆ เหล่านี้อาจแยก เป็นกลุ่มย่อยได้ดังนี้
ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) เป็นบัคเตรีที่ไม่มี ผนังเซลล์ มีขนาดเล็กมากต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้เกิดโรคปอดบวม และโรคอื่นๆ
คลามีเดีย (chlamydia) มีขนาดเล็กมาก และไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ ในอาหารเพาะเลี้ยง ต้องใช้เซลล์มีชีวิต เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงตา หนองในเทียม และโรคอื่นๆ
ริกเก็ตต์เซีย (Rickettsia) มีขนาดเล็กมาก เชื้อ ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก่อโรคในสัตว์ และติดต่อมายังคน โดยมีแมลงเป็นพาหะ เกือบทุกตัวไม่สามารถเจริญได้ ในอาหารเพาะเลี้ยง ต้องใช้เซลล์มีชีวิต มีเพียงบางตัว ที่เลี้ยงได้ในอาหารที่เตรียมขึ้น ตัวอย่างของโรคที่เกิดจากริกเก็ตต์เซีย ได้แก่ ไข้รากสาดใหญ่หรือไข้ไทฟัส เป็นต้น
๓. เชื้อรา (fungus)
มีขนาดใหญ่กว่าเชื้อบัคเตรี พบว่ามีรูปร่าง ๒ แบบ คือ ราแบบรูปกลม เรียกว่า ยีสต์ และราแบบเป็นสาย เรียกว่า สายรา ราบางชนิดจะมีรูปร่างได้ทั้ง ๒ แบบ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เราอาจมองเห็นกลุ่มของเชื้อราได้ด้วยตาเปล่า ราบางชนิดจะสร้างสปอร์สำหรับสืบพันธุ์เกิดเป็นเห็ดขึ้น
ตัวอย่างโรคจากเชื้อรา ได้แก่ กลาก เกลื้อน และฝ้าขาวในปากเด็ก เป็นต้น
๔. เชื้อปรสิต (parasite)
เป็นจุลชีพที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะใกล้เคียงกับสัตว์มากกว่าพืช ภายในเซลล์แยกออกเป็นนิวเคลียสและไซโทพลาซึม (cytoplasm) ชัดเจน แบ่งย่อยออกไปอีกเป็น สัตว์เซลล์เดียว หนอนพยาธิ และอาร์โทรพอด (arthropod) ตัวอย่างเชื้อปรสิต ได้แก่ เชื้อบิดอะมีบา เชื้อมาลาเรีย พยาธิตัวกลม พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ตัวหิดและตัวโลน เป็นต้น
เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายระยะแรก จะมีจำนวนไม่มากพอที่จะก่อโรค จะต้องอาศัยช่วงระยะเวลาหนึ่ง แบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วปรากฎอาการโรคภายหลัง ระยะเวลาตั้งแต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จนกระทั่งปรากฎอาการโรค เรียกว่า ระยะฟักตัว
ผลจากการติดเชื้อ มักทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน เกิดขึ้น และอาจทำให้ไม่เป็นโรคจากเชื้อนั้นอีกก็ได้
โรคติดเชื้อบางโรค จะติดต่อแพร่เชื้อไปสู่คน อื่นได้ง่าย หากในบริเวณนั้นมีผู้ติดโรคเป็นจำนวนมาก ในระยะเวลาอันสั้นเรียกว่า เกิดเป็นโรคระบาด บางโรคจะต้องมีพาหะนำเชื้อโรค และบางโรคจะต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ จึงจะเกิดการติดเชื้อก่อโรคได้
ทางติดต่อของเชื้อโรค
ทางติดต่อของเชื้อโรค ได้แก่
๑. ทางการหายใจ หรือสูดดม นับว่าเป็นทางที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยจะปล่อยเชื้อโรคออกมากับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยการไอหรือจาม เกิดเป็นละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นโดยการสูดดมละอองเชื้อโรคเข้าไป ทำให้ติดเชื้อป่วยเป็นโรค ตัวอย่างเช่น วัณโรค ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้คอตีบ ไอกรน และหัด เป็นต้น
๒. ทางการกิน โดยการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเชื้อโรคจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในลำไส้ ออกมากับอุจจาระ แล้วปนเปื้อนกับอาหาร หรือเครื่องดื่ม ติดต่อสู่ผู้อื่นต่อไป ตัวอย่างเช่น อหิวาตกโรค บิด ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โปลิโอ ตับอักเสบ พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว พยาธิใบไม้ในปอด และพยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น
๓. ทางผิวหนัง ทางบาดแผล รอยถลอกหรือฉีดยา โดยทั่วไปผิวหนังและเยื่อบุของคนปกติ จะสามารถป้องกันการบุกรุก ของเชื้อโรค เข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าเกิดบาดแผล หรือรอยถลอก หรือแทงเข็มผ่านไป ก็จะทำให้เชื้อโรคเข้าไปเพิ่มจำนวนได้ ตัวอย่างเช่น โรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก และหนองฝี เป็นต้น
แมลงหลายชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุง หมัด เห็บ เหา และไร แมลงจะกัดกินเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคไปเพิ่มจำนวนในตัวแมลง และเมื่อแมลงไปกัดกินเลือดผู้อื่นก็จะปล่อยเชื้อถ่ายทอดไป ตัวอย่างเช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น แมลงบางชนิดเป็นพาหะนำโรค โดยเป็นสื่อกลางนำเชื้อจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยตรง ไม่มีการเพิ่มจำนวนของเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น
ระยะติดต่อของพยาธิและเชื้อบัคเตรีบางชนิด สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่ไม่มีรอยบาดแผลได้ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิใบไม้เลือด และเชื้อเล็พโทสไปโรซิส (leptospirosis) เป็นต้น
๔. ทางเพศสัมพันธ์ โรคที่ติดต่อทางเพศเดิมเคยเรียกว่า กามโรค ปัจจุบันเรียกว่า โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีมากมายหลายโรค เช่น หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ เริม และแผลริมอ่อน
๕. ทางรก และช่องคลอด ถ้ามารดามีการติดเชื้อโรคบางอย่างขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกติดเชื้อ เกิดความพิการแต่กำเนิด แท้ง หรือตายตั้งแต่แรกคลอด เชื้อที่สำคัญได้แก่ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้ามารดามีการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ทารกจะได้รับเชื้อ โดยการกลืนกิน สูดดม หรือสัมผัสขณะคลอด ทำให้เกิดโรคอาการรุนแรง ตัวอย่างเช่น ตาอักเสบจากหนองใน หนองในเทียม และโรคเริม เป็นต้น
เชื้อโรคบางอย่างจะติดต่อก่อโรคจากคนไปสู่คน เท่านั้น แต่บางโรคอาจติดต่อถ่ายทอดจากสัตว์มาสู่คน โรคติดต่อจากสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคเล็พโทสไปโรซิส โรคสมองอักเสบจากเชื้อ รา และโรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นต้น
พาหะของโรค ได้แก่ คนหรือสัตว์ที่มีเชื้อโรค อาศัยอยู่โดยไม่แสดงอาการของโรคและสามารถถ่ายทอด เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้ ระยะเวลาที่เป็นพาหะอาจสั้นเพียง ชั่วคราว หรือพบเชื้ออยู่ได้นานเป็นพาหะเรื้อรัง พาหะ นำโรคนี้อาจเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ผู้สัมผัสโรค ผู้ อยู่ในระยะฟักตัวของโรค หรือผู้ที่เพิ่งหายจากการป่วย เป็นโรคก็เป็นพาหะของโรคได้
ระยะติดต่อของโรค หมายถึง ระยะเวลาที่ คนหรือสัตว์ที่มีเชื้อโรคนั้น แล้วสามารถนำเชื้อถ่ายทอด ไปสู่ผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับเชื้อโรค จะเกิด การติดเชื้อป่วยเป็นโรคหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และจำนวนของเชื้อโรค ที่ได้รับเข้าไป และความต้านทานหรือสภาพร่างกายของบุคคลผู้นั้น ผู้ที่มีสุขภาพดี ได้รับอาหารที่เหมาะ ออกกำลัง และพักผ่อนเพียงพอ จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ดีกว่าผู้ที่ขาดอาหาร หรือเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวจะมี ภูมิคุ้มกันโรคดีกว่าเด็กอ่อนหรือคนชรา
เราอาจสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจำเพาะโรคใดโรค หนึ่งให้เกิดขึ้นได้ โดยการฉีดวัคซีนหรือให้เซรุ่ม (serum) ที่มีภูมิคุ้มกันโรคนั้น
วัคซีน หมายถึง ตัวเชื้อโรคหรือส่วนใดส่วน หนึ่งของเชื้อที่สามารถนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ทำให้ เกิดโรครุนแรง แต่จะมีผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้
วัคซีน แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ วัคซีนที่ประกอบ ด้วยเชื้อโรคที่ตายแล้ว กับวัคซีนที่มีเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งถูกเลี้ยงจนอ่อนฤทธิ์ หรือเชื่อง ไม่ก่อโรค เหมือนเชื้อที่พบในธรรมชาติ
เชื้อโรคบางชนิดจะก่อโรคโดยการสร้างชีวสารที่ เป็นพิษต่อร่างกายเรียกว่า ท็อกซิน (toxin) เรานำท็อกซินนี้มาดัดแปลง ทำให้สภาพเป็นพิษหมดลงได้ แต่ยังคงสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ เรียกว่า ท็อกซอยด์ (toxoid) ซึ่งก็ถือว่า เป็นวัคซีนชนิดหนึ่ง
ภายหลังการฉีดวัคซีนหรือท็อกซอยด์ประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ ร่างกายจึงจะมีภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นเอง เกิดขึ้นป้องกันโรคได้โดยตรง แต่บางครั้ง บุคคลที่ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโรค อาจจะฉีดวัคซีน ให้ไม่ทันเวลา จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มของคนหรือสัตว์ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นให้ทันที ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโดยทางลัด