ประวัติการให้เลือด
นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ซึ่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการให้เลือดมีหลายท่านที่ควรกล่าวถึง
ท่านแรก ได้แก่ วิลเลียม ฮาวีย์ ในปี พ.ศ. ๒๑๗๑ ฮาวีย์ได้รายงานครั้งแรกว่า เลือดที่อยู่ภายในหลอดเลือดนั้นมีการไหลเวียนเป็นวงจร เมื่อเป็นเช่นนี้การให้เลือดหรือสิ่งทดแทนอื่นเข้าไปในหลอด เลือดหลอดใด ย่อมจะต้องไหลเวียนไปทั่วร่างกาย มีผลทำให้เพิ่มปริมาณของเลือดขึ้นได้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง ทำให้เกิดการให้เลือดทดแทนขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๐๘ จอห์น วิลกิน (John Wilkin, ชาวอังกฤษ, ค.ศ. ๑๖๑๔-๑๖๗๒) ได้ทดลองถ่ายเลือดดำจากหลอดเลือดดำบริเวณคอ (หลอดเลือดดำวีนาคาวา) ของสุนัข ตัวผู้ใส่ลงในภาชนะรองรับ แล้วจึงนำไปฉีดเข้ายังหลอดเลือดดำที่ขา หรือหลอดเลือดดำเฟเมอร์ลาของสุนัขตัวเมียอีกตัวหนึ่ง โดยใช้หลอดทองเหลือง ปรากฏว่าได้ผลที่เป็นที่น่าพอใจ ในช่วง ระยะเวลานี้ยังคงทำการทดลองในสัตว์เท่านั้น จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๒๑๐ ยัง แบปติสท์ เดนิส (Jean Baptist, Denis) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ทำการทดลองฉีดเลือด จากหลอดเลือดแดงของแกะ ให้กับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และได้ถ่ายเลือดแกะ เข้าสู่หลอดเลือดดำของขายหนุ่มอีกคนหนึ่ง เป็นผลสำเร็จ ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ ประมาณ ๕ เดือน ภายหลังที่เดนิสทดลองให้เลือดแกะแก่คนในประเทศฝรั่งเศส ในประเทศอังกฤษ ริชาร์ด โลเวอร์ (Richard Lower, ชาวอังกฤษ, ค.ศ. ๑๖๓๑ - ๑๗๐๑) และคณะ ได้ทำการถ่ายเลือดโดยตรง จากแกะให้ชายหนุ่มผู้หนึ่ง โดยรายงานว่า ไม่มีผลร้ายอะไรเกิดขึ้น แม้จะให้ซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ อีก ๓ สัปดาห์ต่อมา เดนิสได้ทดลอง ให้เลือดแกะแก่ผู้ป่วยอีก ๒ ราย บังเอิญผู้ป่วยรายที่ ๔ ถึง แก่กรรม นับได้ว่า เป็นรายงานแรกที่แสดงว่า มีผลร้ายคือ ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาภายหลังจากการให้เลือด ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีว่า เกิดเม็ดเลือดแดงแตกสลาย (Hemolytic transfusion reaction) อันเป็นปฏิกิริยาเนื่องจากให้เลือดเข้ากันไม่ได้ ภรรยาของผู้ป่วยรายนี้ ได้นำคดีขึ้นฟ้องศาล กล่าวหาว่า เดนิสกระทำฆาตกรรมสามีของนาง คดีเรื้องรังอยู่เป็นเวลานาน แม้ท้ายที่สุด ศาลตัดสินว่า เดนิสไม่มีความผิด ในฐานะเป็นฆาตกร แต่ศาลก็ประกาศห้ามการให้เลือด จะมีการให้เลือดได้ เฉพาะเมื่อได้รับอนุมัติโดยคณะแพทยศาสตร์แห่งนครปารีสเท่านั้น อีกหลายปีต่อมา รัฐสภาอังกฤษ ได้ออกกฎหมายห้ามการให้เลือดเช่นกัน ทำให้การให้เลือดหยุดชะงักไป เป็นเวลาเกือบ ๑๕๐ ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell, ชาวอังกฤษ, ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๘๗๗) ซึ่งเป็นทั้งอายุรแพทย์ และสูติแพทย์ประจำโรงพยาบาลกายส์ ประเทศอังกฤษ เป็นบุคคล ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาของการให้เลือดของยุคปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาทบทวนถึงวิธีการให้เลือดอีกครั้งหนึ่ง โดยทำการทดลองในสัตว์ ได้รายงานข้อมูลที่ค้นพบว่า เลือดของสัตว์ สกุลหนึ่ง (Specie) จะเข้าไม่ได้กับเลือดของสัตว์อีกสกุลหนึ่ง ดังนั้นเลือดที่จะให้แก่คนต้องเป็นเลือดของคนเท่านั้น ท่านผู้นี้ได้ทดลองนำเลือดของผู้ช่วยของท่านไปให้แก่ผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย โดยให้หลอดฉีดยา ถ่ายจากผู้บริจาค ให้แก่ผู้รับโดยตรง การให้เลือดในช่วงระยะเวลานี้มีทั้งสัมฤทธิ์ผล คือ ผู้ป่วยรอดชีวิตจากการเสียเลือด และที่โชคร้ายคือ ผู้ป่วยถึงแก่กรรมจากการให้เลือด นอกจากนี้แล้วยังพบว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางราย มีอาการของหลอดเลือดถูกอุดตันในเวลาต่อมา ทำให้การให้เลือดในระยะนี้ไม่เป็นที่นิยม แต่เนื่องจาก มีความจำเป็นบังคับ คือ เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันขึ้น ทำให้มีการให้เลือดโดยตรง คือ ถ่ายเลือดจากคนหนึ่งให้แก่ อีกคนหนึ่งในสมรภูมิ ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์มาก จนเป็นที่ยอมรับว่า การให้เลือดเพื่อทดแทนมีผลคุ้มค่า จึงทำให้มีการวิจัย ค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้เลือด
ระยะนี้มีปัญหาอยู่ ๒ ประการคือ ประการแรกเกี่ยวกับ คุณสมบัติของเลือดที่มีการแข็งตัวเมื่อเจาะออกจากหลอดเลือด ทำให้เลือดเกิดแข็งตัวก่อนที่จะนำไปให้แก่ผู้ป่วย ปัญหานี้แก้ไข ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ - พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อ ฮัสติน, อโกท, เลวิโสห์น และไวล์ (Hustin , Agote, Lewisohn และ Weil) ได้รายงาน ว่า การใช้เกลือซิเตรทเพียงจำนวนเล็กน้อย ก็จะสามารถป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ โดยที่เกลือซิเตรทไม่ก่ออันตรายแก่ผู้ป่วย
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ เราส์ และ เทอร์เนอร์ (Rous & Turner) ค้นพบว่า การเติมน้ำตาลเดกซ์โตรสลงไปด้วย จะช่วยให้สามารถเก็บเลือดได้นานขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ลูติท และ มอลลิสัน (Loutit & Mollison) จึงได้เสนอสูตรน้ำยากันเลือดแข็ง ซึ่งนำมาใช้เป็นน้ำยากันเลือดแข็งสำหรับเจาะเก็บเลือดกันแพร่หลายอยู่กว่า ๒๐ ปี นั่นคือน้ำยา เอซีดี (Acid - Citrate - Dextrose) ทำ ให้สามารถเก็บเลือดที่ ๔ องศาเซลเซียส ไว้ใช้ได้นานถึง ๒๑ วัน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้น้ำยาซีพีดี (Citrate Phosphate - Dextrose) ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สามารถเก็บเลือดได้นานขึ้นไปอีก คือ นานถึง ๓๐ วัน
การค้นพบน้ำยากันเลือดแข็ง เป็นเพียงการแก้ปัญหาประการแรกเท่านั้น ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ได้รับเลือด ซึ่งบางครั้งถึงกับทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดเสียชีวิตจากการให้เลือด ซึ่งในสมัยต้น ของการให้เลือดนั้น พบแต่เพียงว่า การนำเลือดสัตว์มาให้คนทำให้คนเสียชีวิตได้ จะต้องให้เลือดของคนแก่คนเท่านั้น แต่ต่อมาการณ์กลับปรากฏว่า แม้จะนำเลือดของคนมาให้ผู้ป่วยก็ตาม ผู้ป่วยบางคนก็ยังเสียชีวิตได้ ปัญหานี้พึ่งจะคลี่คลาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ คือ เมื่อ คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner, ชาวอเมริกัน, ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๔๓) ค้นพบหมู่เลือด เอ บี และโอ ของหมู่เลือดระบบเอบีโอ โดยการศึกษาจากเลือดของผู้ร่วมงาน เมื่อนำเซรุ่มจากคนหนึ่ง มาผสมกับเม็ดเลือดแดงของอีกคนหนึ่ง จะเกิดปฏิกิริยาจับกลุ่ม ทำให้เม็ดเลือดตกตะกอนเป็นสองชนิด และมีอีกชนิดหนึ่งไม่มีปฏิกิริยาตกตะกอนเกิดขึ้น แลนด์สไตเนอร์จึงเรียกพวกที่เกิดปฏิกิริยาจับกลุ่มตกตะกอนพวกที่หนึ่งว่า พวกมีแอนติเจนเอ เรียกอีกพวกหนึ่งว่า พวกมีแอนติเจนบี และเรียกพวกที่ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นว่า พวกศูนย์หรือโอ ถ้าเม็ดเลือดแดงของผู้ใดมีแอนติเจนเอ ในเซรุ่มของคนผู้นั้น จะไม่มีแอนติบอดีเอ แต่จะมีแอนติบอดีบีแทน ส่วนคนหมู่โอนั้น มีได้ทั้งแอนติบอดีเอ และแอนติบอดีบี ต่อมาอีก ๒ ปี เดอคาสเตลโล และสเตอร์ลี (De Castello & sturli) จึงรายงานหมู่เลือดชนิดที่ ๔ ซึ่งมีทั้งแอนติเจนเอ และแอนติเจนบีบนเม็ดเลือดแดง แต่ไม่พบแอนติบอดีเอ และแอนติบอดีบีในเซรุ่มเลย เรียกว่า หมู่เอบี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ในการแสดงปาฐกถาเพื่อรับรางวัลโนเบล เนื่องจากการค้นพบหมู่เลือดระบบเอบีโอ แลนด์สไตเนอร์ ได้กล่าวถึงสมมุติฐานว่า มนุษย์เราควรมีหมู่เลือดได้หลายชนิด ซึ่งอาจตรวจพบได้ ถ้าใช้วิธีสร้างให้เกิดแอนติบอดีขึ้น โดยการฉีดเม็ดเลือดแดงของคนเข้าไปในสัตว์ หรือจากการตรวจพบแอนติบอดีในสัตว์สกุลเดียวกันเอง และจากสมมุติฐานนี้เอง แลนด์สไตเนอร์ และเลวีน (Philip Levine) ได้รายงานการค้นพบหมู่เลือดระบบเอ็มเอ็นและพีเพิ่มขึ้นอีก การศึกษาในทำนองเดียวกันนี้คือ ฉีดเลือดลิงวอก (Rhesus) เข้าในกระต่าย ทำให้แลนด์สไตเนอร์ และเลวีนรู้จักหมู่เลือดระบบใหม่ เรียกว่า ระบบ อาร์เอ็ช (Rh)
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เลวีนและสเตตสัน (Stetson) ได้รายงานถึงปฏิกิริยาที่ตรวจพบในหญิงซึ่งได้รับเลือด ของสามีหมู่เดียวกัน ภายหลังการคลอดบุตรที่ตายก่อนคลอด ตรวจพบว่า ในเซรุ่มของผู้ป่วยมีแอนติบอดีที่ทำให้เม็ดเลือดแดง ของสามีจับกลุ่มตกตะกอน เมื่อทำปฏิกิริยาที่ ๓๗ องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์นี้เชื่อว่า แอนติบอดีที่ตรวจพบในเซรุ่มของแม่นั่นเอง ที่ทำให้ลูกในครรภ์ตาย โดยอธิบายว่า แม่อาจจะถูกกระตุ้น ให้สร้างแอนติบอดีขึ้น โดยแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดงของลูก ที่ได้รับถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อและเป็นชนิดแปลกปลอม ต่อแม่
ในเวลาใกล้เคียงกันนี้เอง วีเนอร์และปีเตอร์ (Wiener และ Peters) ได้รายงานปฏิกิริยาทำลายเม็ดเลือดแดงชนิดเดียวกัน แต่พบว่าเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยรายนี้ให้ผลลบเมื่อตรวจกับ แอนติอาร์เอ็ซของกระต่าย ส่วนแอนติบอดีที่ตรวจพบในเซรุ่ม ของผู้ป่วยรายนี้เกิดปฏิกิริยาที่ ๓๗ องศาเซลเซียส กับคนอื่นที่มี เลือดเอบีโอหมู่เดียวกัน ให้ปฏิกิริยาแบบเดียวกับแอนติอาร์เอ็ช ของกระต่าย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ความสำคัญ ทางคลินิกของหมู่เลือดระบบอาร์เอ็ชในการให้เลือด เพื่อการรักษา และการตั้งครรภ์เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแน่นอน พอดีประจวบ กับเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นทำให้มีความต้องการให้เลือด ทดแทนแก่ผู้บาดเจ็บในสงครามมาก จึงกระตุ้นให้มีการวิจัย ค้นคว้าถึงประโยชน์ของเลือดและส่วนประกอบต่างๆ ของเลือด ผลที่เกิดขึ้นตามหลังการให้เลือดนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ แขนงใหม่ คือ อิมมูโนวิทยาทางโลหิต (Immunohematology) ในปัจจุบัน