ศัพท์เทคโนโลยีทางภาพฉบับราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ animation เป็นภาษาไทยว่า “ชีวลักษณ์” หรือใช้ทับศัพท์ว่า “แอนิเมชัน” หมายถึง การทำภาพเคลื่อนไหวหรือการทำให้เคลื่อนไหว หรือภาพเคลื่อนไหว กรรมวิธีในการผลิตแอนิเมชันใช้รูปแบบเดียวกับการผลิตภาพยนตร์ คือ การใช้ทฤษฎีภาพติดตาตามธรรมชาติของสายตามนุษย์นั้นเมื่อมองภาพภาพหนึ่งแล้วสมองก็จะยังคงรับรู้ต่อภาพภาพนั้นในช่วงเสี้ยวระยะเวลาหนึ่งและเมื่อภาพก่อนหน้าถูกแทนที่ด้วยภาพอีกภาพหนึ่งสมองก็จะเกิดการเชื่อมต่อระหว่างภาพ ๒ ภาพขึ้น ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนภาพนิ่งจำนวนหนึ่งด้วยความเร็วที่เหมาะสมมนุษย์ก็จะเห็นภาพนิ่งเหล่านั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวโดยอัตราเร็วในการทำให้ภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้อยู่ที่ ๑๔ ภาพต่อ ๑ วินาที หรือเร็วกว่าซึ่งปัจจุบันจะใช้อัตราเร็วที่ ๒๔ ภาพต่อ ๑ วินาที อันเป็นอัตราเร็วมาตรฐานที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์โดยทั่วไปและอัตราเร็วที่ ๒๕ ภาพต่อ ๑ วินาที สำหรับการผลิตวีดิทัศน์
ถึงแม้ว่าจะใช้ทฤษฎีเดียวกันแต่แอนิเมชันก็ยังแตกต่างจากภาพยนตร์ คือ ภาพยนตร์เป็นการถ่ายภาพสิ่งที่เคลื่อนไหวในโลกของเราจริง ๆ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ส่วนแอนิเมชันนั้นเกิดจากการทำให้สิ่งที่อยู่นิ่ง ๆ เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ล้วน ๆ เช่น ภาพวาด หุ่นตุ๊กตา หรือแม้แต่แบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยการถ่ายภาพนิ่งของสิ่งนั้น ๆ ให้ค่อย ๆ ขยับไปทีละภาพแล้วจึงนำภาพเหล่านั้น มาเรียงต่อเนื่องกันจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนจริงขึ้นมา แอนิเมชันเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ผู้ผลิตหรือศิลปินสร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบโลกความเป็นจริงหลาย ๆ ครั้งงานแอนิเมชันก็ถูกกล่าวอ้างให้เป็นงานที่สะท้อนความเป็นตัวตนของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคม และค่านิยม จึงทำให้ศาสตร์แขนงนี้ได้รับความสนใจและสืบทอดกันต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน