Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พืชน้ำมัน : การจำแนกกลุ่มพืชที่เพาะปลูก

Posted By Plookpedia | 08 ส.ค. 60
4,282 Views

  Favorite

พืชน้ำมัน : การจำแนกกลุ่มพืชที่เพาะปลูก

      เป็นการจำแนกกลุ่มพืชที่เพาะปลูกเพื่อนำเอาผลิตผลไปสกัดน้ำมันทั้งนี้เพื่อให้แตกต่างไปจากพืชกลุ่มอื่น ๆ เช่น พืชเส้นใยหรือพืชอาหารสัตว์ การจำแนกกลุ่มพืชวิธีนี้ได้ยึดถือการใช้ประโยชน์เป็นหลักแม้ว่าลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชภายในกลุ่มมีความแตกต่างกันก็ตาม โดยทั่วไปแล้วคำว่า น้ำมัน หมายความถึง สารประกอบ ๒ ประเภท 
      ประเภทแรก คือ น้ำมันแร่ซึ่งสูบขึ้นมาจากใต้ดิน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหลายชนิด ไม่สามารถใช้บริโภคได้ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ 
      ประเภทที่สอง คือ น้ำมันพืชที่บริโภคได้ ได้แก่ น้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์ซึ่งเป็นสารประกอบเชิงอินทรีย์เคมีที่พืชและสัตว์สังเคราะห์ขึ้นและถูกนำไปสกัดออกมาใช้บริโภคหรือใช้เตรียมอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติและแปรรูปให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น  ในสมัยแรกที่มีการสกัดน้ำมันพืชนั้นก็เพื่อใช้ทดแทนหรือผสมกับน้ำมันสัตว์ให้มีปริมาณมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการและก็พบว่ามีพืชหลายชนิดที่ใช้สกัดเอาน้ำมันได้ ประกอบกับวิทยาการในการเพาะปลูก การสกัด และการแปรรูป ได้ก้าวหน้าตามลำดับจึงได้นำน้ำมันพืชไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการบริโภคอีกมากมายหลากหลายชนิด เช่น ทำสีและน้ำมันผสมสี เครื่องสำอาง ยารักษาโรค สบู่ ผงซักฟอก เส้นใยสังเคราะห์ หนังเทียม แผ่นพลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น (ในภาวะที่เกิดการขาดแคลน) อาจจะกล่าวได้ว่าน้ำมันพืชได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน 

 

น้ำมันพืช
สวนปาล์มน้ำมัน

 

น้ำมันพืช
ต้นถั่วเหลืองในไร่


      น้ำมันทั้งของพืชและสัตว์เป็นสารประกอบเชิงอินทรีย์ เกิดจากการรวมตัวของกรดคาร์บอซิลิค (Carboxylic acid) หรือกรดไขมันหลายโมเลกุล โดยมีกลีเซอรอลหรือกลีเซอรีน (Glycerol or Glycerine) เป็นตัวเชื่อม กรดไขมันแต่ละชนิดมีสูตรโครงสร้างของตัวเองโดยเฉพาะและยังแยกออกเป็น ๒ ชนิด คือ 
      ๑. กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งรางกายดูดซึมเข้าไปและใช้ประโยชน์ได้น้อยจึงทำให้เกิดการสะสมตัวเกาะติดกับผนังด้านในของเส้นโลหิตเป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันและเปราะแตกได้ง่าย 
      ๒. กรดไขมันไม่อิ่มตัว มีคุณค่าทางด้านโถชนศาสตร์สูงเนื่องจากถูกดูดซึมและย่อยได้ง่าย 
น้ำมันมีกรดไขมันอิ่มตัว เรียกว่า น้ำมันอิ่มตัว ในทำนองเดียวกันน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว เรียกว่า น้ำมันไม่อิ่มตัว  น้ำมันและไขมันเป็นสารประกอบชนิดเดียวกันแต่มีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกันกล่าว คือ ในอุณหภูมิห้อง (๒๕ - ๒๗ องศาเซลเซียส) ถ้าอยู่ในสภาพของเหลว เรียกว่า น้ำมัน ถ้าอยู่ในสภาพแข็ง เรียกว่า ไขมันและน้ำมันแต่ละชนิดก็มีจุดหลอมเหลวคงที่จึงได้นำมาใช้เป็นประโยชน์ในการจำแนกน้ำมันออกจากกัน ในแต่ละกลุ่มของกรดไขมันทั้งสองประเภทยังแบ่งออกไปอีกหลายชนิดตามจำนวนและโครงสร้างของโมเลกุลของธาตุ องค์ประกอบทั้งสาม คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ดังนั้นคุณภาพและการใช้ประโยชน์ของน้ำมันพืชแต่ละพืชจึงขึ้นอยู่กับสัดส่วนและชนิดของกรดไขมันที่ประกอบกันขึ้นมาและเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละพืช   กรดไขมันบางชนิดอาจใช้ทดแทนกันได้หรือนำไปผ่านกรรมวิธีบางอย่างให้มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน แต่น้ำมันพืชบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษซึ่งต้องนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างเท่านั้น  นอกจากใช้พืชน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมันแล้วส่วนที่เหลืออยู่ยังสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีก เช่น เมล็ดถั่วเหลืองหลังจากนำไปสกัดน้ำมันออกแล้วกากที่เหลือมีโปรตีนในปริมาณสูงนำไปใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ได้ ดังนั้นการจำแนกกลุ่มพืชจึงพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์  

 

น้ำมันพืช
ชาวสวนปอกเปลือกมะพร้าว

 

      พืชที่ให้น้ำมันที่เพาะปลูกในปัจจุบันมีอยู่หลายสิบชนิด แต่เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่เพาะปลูกและผลิตผลจากทั่วโลกแล้วอาจจัดลำดับความสำคัญได้ดังนี้ คือ ถั่วเหลือง ฝ้าย ถั่วลิสง ทานตะวัน เมล็ดจากต้นป่าน (flax) มะพร้าว และปาล์มน้ำมัน  ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วโลกผลิตน้ำมันพืชได้ ๕๒ ล้านตัน ซึ่งเป็นน้ำมันถั่วเหลือง ๑๖ ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ ๓๐ รองลงไป ได้แก่ น้ำมันปาล์ม จำนวน ๘ ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ ๑๕ น้ำมันพืชที่ผลิตได้ทั้งหมดใช้บริโภคภายในประเทศผู้ผลิต ๓๕ ล้านตัน เหลือส่งออกจำหน่ายในตลาดโลก ๑๗ ล้านตัน คาดว่าในอนาคตการผลิตน้ำมันพืชจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชากรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  สำหรับประเทศไทยพืชน้ำมันที่สำคัญ ได้แก่ ปาล์ม ถั่วเหลือง มะพร้าว ถั่วลิสง งา และ ละหุ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันพืชได้ในปริมาณ ๗๘,๐๐๐ ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๒๕๒,๑๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒ ต่อปี โดยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งร้อยละ ๕๐ รองลงไป ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีส่วนแบ่งร้อยละ ๒๐ และ ๑๕ ตามลำดับ นอกจากพืชน้ำมันที่กล่าวมาแล้วยังได้นำเอาเมล็ดฝ้าย เมล็ดนุ่น รำข้าว มาสกัดน้ำมันเป็นผลพลอยได้  

      ในด้านการบริโภคในประเทศก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีปริมาณการใช้น้ำมันพืช ๙๔,๐๐๐ ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศจำนวน ๑๖,๐๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ปริมาณการใช้น้ำมันพืชเพิ่มขึ้นเป็น ๒๕๕,๐๐๐ ตัน หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๘.๘ ต่อปี แต่เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันพืชภายในประเทศเพิ่มขึ้น การนำเข้าจึงเหลือเพียง ๓,๐๐๐ ตัน และคาดว่าในเวลาต่อไปประเทศไทยจะผลิตน้ำมันพืชได้เพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศและอาจเหลือส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  การบริโภคน้ำมันพืชของคนไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คนไทยบริโภคน้ำมันคนละ ๒.๒ กิโลกรัมต่อปี และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เพิ่มขึ้นเป็นคนละ ๔.๘ กิโลกรัมต่อปี ทั้งนี้อาจอนุมานได้ว่าคนไทยได้เปลี่ยนค่านิยมจากการบริโภคน้ำมันสัตว์มาเป็นน้ำมันพืชกันมากขึ้นโดยเหตุผลทางด้านสุขภาพและน้ำมันพืชมีปริมาณมากพออีกทั้งมีราคาไม่สูงนัก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow