ประโยชน์ของสถิติมิใช่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจ และ กำหนดนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า สถิติเป็นเครื่องมือที่ทรงคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ในการประเมินผลงานโครงการต่างๆ ที่จัดทำไปแล้ว ว่าได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้เพียงไร สมควรที่จะต้องปรับปรุง หรือ แก้ไขโครงการนั้นๆ หรือ ไม่อย่างไรอีกด้วย
เนื่องจากสถิติมีขอบข่ายกว้างขวาง ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ แทบทุกแขนงวิชาการ ดังนั้น นักบริหาร นักวิชาการ หรือ แม้แต่สามัญชนทั่วไป จึงควรมีความรู้ทางสถิติตามสมควร หรือ ตามความจำเป็น กล่าวคือ อย่างน้อยก็สามารถอ่านข้อมูลจากตาราง จากแผนภูมิ หรือ จากแผนภาพต่างๆ ให้เข้าใจได้ถูกต้อง
ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของข้อมูลสถิติก็คือ มักประกอบด้วยข้อเท็จ และ ข้อจริง เพราะสถิติหรือข้อมูลสถิติได้มาจากข้อมูล หรือ ที่เรียกว่าข้อเท็จจริง จำนวนมาก อาจกล่าได้ว่า ไม่มีข้อมูลชุดใดเลยที่มีแต่ข้อจริงล้วนๆ โดยปราศจากข้อเท็จ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะกรรมวิธีต่างๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีโอกาสที่จะทำให้ข้อเท็จเกิดขึ้นได้มาก ทั้งโดยเจตนา และ ไม่เจตนา เช่น พ่อค้ามักแจ้งยอดรายได้จากการประกอบธุรกิจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจำนวนมากๆ ชาวนาไม่ทราบเนื้อที่เพาะปลูก และ ผลผลิตที่ถูกต้อง ผู้ตอบสัมภาษณ์ให้ข้อมูลผิดพลาด เนื่องจากเข้าใจคำถามไม่ถูกต้อง อนึ่งผู้ทำการสัมภาษณ์เอง ก็อาจบันทึกตัวเลขผิดพลาดโดยมิได้เจตนา เป็นต้น ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นเท็จได้ โดยที่ไม่มีทางที่จะทราบตัวเลขที่แท้จริงได้เลย เช่น ชาวนาคน หนึ่งแจ้งว่าผลผลิตข้าวปีที่แล้วได้ ๔ เกวียน ซึ่งตามความเป็นจริง ปริมาณข้าวที่ชาวนาคนนี้ผลิตได้จริงอาจสูงหรือต่ำกว่านี้เล็กน้อยก็ได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบ และ ยอมรับกันว่าสถิติที่เชื่อถือได้นั้นจะช่วย ให้การตัดสินใจ หรือ การวางแผนดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง และ มีประสิทธิภาพ ดังนั้น นักสถิติที่ดีจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล โดยให้ได้ข้อจริงมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้สถิติที่จะประมวลได้จากข้อมูลเหล่านี้ เป็นสถิติที่เชื่อถือได้มากที่สุด