ความสำคัญของมาตรวิทยา
มาตรวิทยาเกิดขึ้นจากความต้องการความเชื่อมั่นและความไว้วางใจร่วมกันของมนุษย์ที่มีมาช้านานควบคู่กับมนุษยชาติ การพัฒนามาตรวิทยาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มาตรวิทยาสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เช่น มาตรวิทยาในระดับนาโนสเกลนำไปสู่การพัฒนานาโนเทคโนโลยี
ด้านการค้า
มาตรวิทยามีบทบาทสำคัญในการช่วยลด และ/หรือขจัดข้อกีดกันทางการค้า (Technical Barrier to Trade : TBT) เช่น การยอมรับความถูกต้องเกี่ยวกับการวัดหรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การยอมรับใบรับรองผลการวัดนับว่า มีความสำคัญสำหรับผู้ต้องการส่งออกสินค้าของตนเป็นอย่างยิ่ง หน่วยงานหรือห้องปฏิบัติการไม่ว่าของภาครัฐหรือเอกชน ที่เข้าสู่ระบบการวัดระบบเดียวกันทั่วโลก ต้องมีพื้นฐานของความเชื่อมั่นร่วมกัน
ด้านสิ่งแวดล้อม
จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก มาตรวิทยาทำให้การเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณรังสีแสงอาทิตย์ที่พื้นผิวโลก ปริมาณแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิของน้ำทะเล ฯลฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
ด้านสุขภาพ
มาตรวิทยาทำให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบไม่สัมผัสมาช่วยตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเดินทาง เพื่อตรวจหาผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซาร์ หรือกลุ่มอาการทางการหายใจอย่างเฉียบพลัน (Sudden Acute Respiratory Syndrome : SAR) ได้อย่างรวดเร็ว การใช้วัสดุอ้างอิง เพื่อการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคส หรือคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างแม่นยำ นับเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการตัดสินใจ ให้การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดอุดตัน
ด้านความปลอดภัย
เทคโนโลยีการสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์การวัดที่เที่ยงตรงแม่นยำนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยที่สูงขึ้น เช่น เครื่องวัดความกดอากาศที่ติดตั้งไว้กับตัวเครื่องบินนำไปสู่การลงจอดที่ปลอดภัย เครื่องตรวจสอบวัตถุที่เป็นโลหะ อาวุธปืน ระเบิด ซึ่งผู้โดยสารอาจพกพาภายใต้เสื้อผ้านำขึ้นเครื่องบินโดยสาร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบมาตรวิทยานอกจากจะมีความสำคัญในการสร้างมาตรฐานการวัด ยังเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ในสังคมมนุษย์ทุกด้าน ดังที่กล่าวมาข้างต้น