Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระพุทธศาสนา

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
2,983 Views

  Favorite

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดในอินเดียก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี (พุทธศักราชเริ่มตั้งแต่ปี ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน) นับว่าเป็นศาสนาที่สำคัญที่สุดของโลกศาสนาหนึ่ง มีผู้นับถือหลายร้อยล้านคน โดยเฉพาะในประเทศต่างๆ ทางเอเชียใต้ เอเชีย ตะวันออก และเอเชียอาคเนย์ ผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งเวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ในสมัยที่พระองค์ยังไม่ได้ออกบวช มีพระนามว่า สิทธัตถะ ในขณะที่ยังทรงเป็นเด็กอยู่ก็ทรงศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ในสำนักต่างๆ หลายสำนักด้วยกัน จนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในวิชาการต่างๆ หลายสาขา

แผนที่แสดงที่ประสูติ ตรัสรู้แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

 

เมื่อพระสิทธัตถะมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ก็ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา และมีโอรสองค์หนึ่ง คือ เจ้าชายราหุล ชีวิตในฆราวาสวิสัยของพระองค์มีแต่ความสมหวัง ไปทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษาก็ทรงเบื่อหน่ายโลก เพราะ ทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของโลกและทรงหวังจะช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ จึงได้ ทรงสละความสุขนานาประการ สละลูกเมีย ญาติพี่น้อง และมิตรสหายออกบวช เพื่อหา ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ทรงผนวชอยู่จนกระทั่งมีพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา จึงได้ตรัสรู้ คือรู้แจ้งในความจริงแห่งโลก เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็เสด็จเที่ยวแนะนำสั่งสอนประชาชนในแคว้นต่างๆ ในอินเดีย เพื่อหาทางที่จะนำประชาชนไปสู่ความพ้นทุกข์ อยู่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ปรากฏว่าประชาชน ชาวอินเดียในสมัยนั้นได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา และเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่จนกระทั่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา จึงปรินิพพาน 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สาวกของพระองค์ก็ยังช่วยกันเผยแผ่พระ พุทธศาสนาสืบต่อมา จนกระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมืองปาฏลีบุตร ร่วมกับคณะสงฆ์ได้ส่งพระสงฆ์ออกประกาศพระพุทธศาสนาทั้งภายใน และภายนอกประเทศอินเดีย คณะสงฆ์สายหนึ่งไดเข้ามายังสุวรรณภูมิ อันได้แก่ดินแดนใน เขตประเทศพม่าและไทยในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในดินแดนนี้ ตามลำดับ จนกระทั่งถึงสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงได้ทรงรับเอาพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย และเป็นศาสนาประจำชาติเรื่อยมาจนกระทั่งถึง ทุกวันนี้ แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็เคยตราไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะต้อง ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก คือ แม้พระองค์จะทรงนับถือพระพุทธศาสนา แต่พระองค์ก็พระราชทานความอุปถัมภ์ แก่ศาสนาอื่นๆ ในเมืองไทยด้วยเช่นกัน 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาก็เริ่มมีเค้าแตกแยก ในด้านความคิดเห็น เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ก็แตกแยกกันออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๒ นิกาย คือ มหายาน กับหีนยาน

มหายาน 

เป็นลัทธิของภิกษุฝ่ายเหนือของอินเดีย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้มหาชนเลื่อมใสเสียก่อน แล้วจึงสอนให้ระงับดับกิเลส ทั้งยังได้แก้ไขคำสอนในพระพุทธศาสนาให้ผันแปรไปตามลำดับ พวกนี้เรียกลัทธิของตนว่า "มหายาน" ซึ่งแปลว่า "ยานใหญ่" อาจพาประชาชนให้ข้ามวัฏสงสาร คือ ความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดได้คราวละมากๆ ลัทธินี้ ได้เข้าไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น 

หีนยาน

เป็นลัทธิของภิกษุฝ่ายใต้ ที่สอนให้พระสงฆ์ปฏิบัติ เพื่อดับกิเลสของตนเองก่อน และห้ามเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยอย่างเด็ดขาด คำว่า "หีนยาน" เป็นคำที่ฝ่ายมหายานตั้งให้แปลว่า "ยานเล็ก" ส่วนภิกษุฝ่ายใต้เรียกตัวเองว่า "เถรวาท" หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติอย่างเที่ยงตรง นิกายนี้มีผู้นับถือมาก ในประเทศศรีลังกา ไทย พม่า ลาว และกัมพูชา 

การปกครองของคณะสงฆ์ไทย 

ในปัจจุบันนี้ได้แบ่งรูปการปกครองคณะสงฆ์ ออก เป็น ๒ ส่วน คือ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง กับการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค 

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง เป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม โดยมีสมเด็จพระ สังฆราชทรงเป็นประธาน สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป (เดิมมี ๔ รูป ปัจจุบันมี ๖ รูป) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีพระราชาคณะ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชจะทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔ รูป แต่ไม่เกิน ๘ รูป เป็นกรรมการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ ของมหาเถรสมาคม และเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมได้ กำหนดให้มีเจ้าคณะใหญ่ ๕ รูปด้วยกัน คือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าคณะ ใหญ่คณะธรรมยุต ทั้งนี้ เพราะในประเทศไทย พระสงฆ์ไทยมีอยู่ ๒ นิกาย คือ มหานิกาย กับ ธรรมยุติกนิกาย หรือธรรมยุต เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูปแรก เป็นฝ่ายมหานิกาย อีกรูปหนึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

คณะกุฏิวัดสระเกศ

การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองออกไปเป็นภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล แต่ละระดับ มีเจ้าคณะเป็นผู้ปกครองดูแล

ในประเทศไทย เวลานี้มีวัดอยู่รวมทั้งสิ้น ๒๖,๔๖๓ วัด ในจำนวนนี้เป็นวัดหลวง ๑๖๗ วัด วัดราษฎร์ ๒๖,๒๕๖ วัด ทั้งนี้ เป็นวัดมหานิกาย ๒๕,๑๕๒ วัด วัดธรรมยุติกนิกาย ๑,๓๑๑ วัด วัดหลวงหมายถึง วัดที่พระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์เป็นส่วนพระองค์ หรือทรงในนามของผู้อื่น หรือวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทสร้างหรือปฏิสังขรณ์ขึ้น และทรงรับไว้ใน อุปถัมภ์บำรุงของแผ่นดิน ส่วนวัดราษฎร์ เป็นวัดที่ประชาชนสร้างขึ้นตามกำลังศรัทธา และทุนทรัพย์ของตน  

หอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในแต่ละวัดจะมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ คือ จะต้องมี กุฏิ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุ และสามเณร ต้องมี โบสถ์ สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม เช่น การบวชนาค เป็นต้น บางวัดก็มี วิหาร ซึ่งสร้างในลักษณะเดียวกับโบสถ์ การที่จะสังเกตว่าแห่งใดเป็นโบสถ์ แห่งใดเป็นวิหารนั้น ให้สังเกตดู พัทธสีมา ถ้าแห่งใดมีพัทธสีมาล้อมรอบทั้งแปดทิศ แห่งนั้นก็เป็นโบสถ์ พัทธสีมาโดยทั่วๆ ไป จะมีซุ้มครอบไว้ให้เห็นชัด แต่บางวัด ก็ทำสีมาติดไว้ที่ตัวผนังด้านนอกของโบสถ์ อย่างที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น บางวัดก็ฝังพัทธสีมาลงไปที่พื้นดินแล้วไม่ได้สร้างซุ้มครอบ เพียงแต่ทำเครื่องหมายบอกไว้ เช่น ที่วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น นอกจากสิ่งที่กล่าวแล้ว ก็มักจะมี พระเจดีย์ หรือ พระปรางค์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุ หรือพระธาตุอย่างอื่นๆ ถ้าเป็นเจดีย์ ก็จะมีลักษณะเป็นสถูป ที่มียอดแหลม อย่างเจดีย์ที่วัดโพธิ์ ถ้าเป็นปรางค์ ก็จะเป็นสถูปที่มียอดสูงขึ้นไป ปลายยอดมน รูปคล้ายต้นกระบองเพชร มีฝักเพกาแยกเป็นกิ่งๆ อยู่ข้างบน อย่างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น บางวัดก็อาจมี ศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ประกอบการกุศลอื่นๆ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาเทศนาสั่งสอนประชาชน ตามวาระที่จะกำหนดขึ้น อาจเป็นประจำ หรือชั่วคราวก็ได้ ตามปกติมักจะเป็นในวันพระ บางวัดอาจมี หอระฆัง และ โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำหรับเป็นที่ที่ภิกษุสามเณรจะศึกษาธรรมวินัยด้วย แต่ทั้งนี้ก็มิได้ถือว่าจำเป็นจะต้องมี ที่นับว่าจำเป็นจริงๆ ก็คือ กุฏิ กับโบสถ์
การที่จะได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ได้นั้น มิใช่เพียงมีกุฏิ โบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญเท่านั้น เพราะถ้ามีเพียงแค่นั้น ก็จะไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบทางด้านบุคคลด้วย นั่นคือจะต้องมีภิกษุ สามเณร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้

พัดยศพระราชาคณะ และพระครูสัญญาบัตร

ภิกษุ 

หมายถึง กุลบุตรที่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว หวังจะเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และเข้าไปขอบวชกับคณะสงฆ์ และปฏิญาณว่าจะ ประพฤติปฏิบัติตามศีล ๒๒๗ ข้อที่มีมาในพระปาติโมกข์ ในประเทศไทยเราถือเป็นประเพณีว่า ผู้ชายไทยทุกคนที่มีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ควรจะเข้าไปบวชเป็นภิกษุ เพื่อศึกษาธรรมวินัยอย่างน้อยก็ ๓ เดือนในฤดูฝน ซึ่งเราเรียกว่า "พรรษา" เมื่อเข้าไปบวชแล้ว อาจบวชอยู่นานแค่ไหนเพียงใดก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาและความจำเป็น แต่ถ้าหากผู้ใดมีอายุ ยังไม่ครบ ๒๐ ปี แต่ประสงค์จะเข้าไปบวช ก็อาจบวชเป็น สามเณร ได้ สามเณรไม่ต้อง ถือศีลมากอย่างพระ เพียงรับไตรสรณาคมน์ และศีล ๑๐ เท่านั้น นอกจากภิกษุและ สามเณรแล้วก็จะต้องมี ศิษย์วัด ซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งตามปกติเข้ามาศึกษาเล่าเรียนวิชาการ ทางโลก และมาอาศัยอยู่กับพระหรือสามเณรที่วัด สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๘ ปรากฏว่ามีภิกษุทั้ง ประเทศรวม ๒๑๓,๑๗๒ รูป สามเณร ๑๒๑,๗๐๘ รูป และศิษย์วัดรวม ๑๑๘,๑๖๙ คน นอกจากนั้น ในบางวัดอาจมีสำนักชี คือ ผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีล ๕ และศีล ๘ อยู่เป็นเอกเทศหนึ่งอีกด้วย สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๘ มีวัดอยู่ ๒๖,๔๖๓ วัด และมีชี ๑๐,๔๔๗ คน
การบริหารกิจการพระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยตำแหน่ง มีดังนี้ 

๑. สมเด็จพระสังฆราช ๑ พระองค์ 
๒. สมเด็จพระราชาคณะ ๖ รูป 
๓. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๗ รูป 
๔. พระราชาคณะเทียบเจ้าคณะรอง ๒ รูป 
๕. พระราชาคณะชั้นธรรม ๒๕ รูป 
๖. พระราชาคณะชั้นเทพ ๔๕ รูป 
๗. พระราชาคณะชั้นราช ๑๐๘ รูป 
๘. พระราชาคณะชั้นสามัญ ๓๒๔ รูป 
๙. พระครูสัญญาบัตร ๓,๐๐๒ รูป 
๑๐. เจ้าอาวาส ๒๖,๔๖๓ รูป 
๑๑. ครูสอนพระปริยัติธรรม ๒๐,๐๘๙ รูป

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถระ)

การศึกษาของคณะสงฆ์ก็มีการศึกษา แผนกนักธรรม หลักสูตร ๓ ปี แผนกบาลี หลักสูตร ๙ ปี ผู้ที่สอบบาลีตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป เรียกว่า เป็นเปรียญหรือ "มหา" การศึกษาแบบมหาวิทยาลัย หลักสูตร ๘ ปี เวลานี้คณะสงฆ์มีสถาบันการศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศแห่งหนึ่งกับที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุอีกแห่งหนึ่ง ผู้เรียนจบชั้นอุดมศึกษาที่ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยชื่อว่าเป็น ศาสนศาสตร์บัณฑิต ผู้ที่เรียนจบชั้นอุดมศึกษาที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกว่า พุทธศาสตร์บัณฑิต ในปัจจุบันมีโรงเรียน พระปริยัติธรรม ๕,๙๘๕ โรง โรงเรียนที่อาศัยวัด ๙,๑๗๑ โรง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเครื่องนมัสการในพิธีกงเต็ก

นอกจากคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาท หรือ หีนยาน แล้ว ก็มีคณะสงฆ์จีน และคณะสงฆ์ญวน ในฝ่ายมหายานอีกด้วย คณะสงฆ์จีนนิกาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ มีภิกษุ ๙๔ รูป สามเณร ๒๕ รูป ศิษย์และผู้อาศัยอยู่ในวัดรวม ๘๔ คน มีวัดอยู่ ๙ วัด สำนักสงฆ์ ๙ แห่ง และโรงเจ ๑๔๕ โรง ส่วนคณะสงฆ์ญวน หรืออนัมนิกาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ มีพระภิกษุ ๑๒๘ รูป สามเณร ๑๑ รูป ศิษย์และผู้อาศัย ๙๖ รูป มีวัดอยู่ ๑๓ วัด ทั้งคณะสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย ต่างก็มีเจ้าคณะใหญ่ของตนเป็นผู้ปกครอง
ระเบียบวิธีการบวช 

ผู้ที่ปรารถนาจะอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาจะต้อง เป็นชาย มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว และมีสติสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ที่สังคมรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน โรคลมบ้าหมู เป็นต้น ทั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน ถ้าเป็นข้าราชการ ก็จะต้องได้รับอนุญาตเป็นทางการก่อน แล้วจึงเข้าไปหาพระอุปัชาฌาย์ เพื่อขอบวช ทั้งนี้ เพื่อจะได้กำหนดวันที่จะสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในการบวชนี้จะต้องได้ รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะสงฆ์เสียก่อน เพราะฉะนั้นในการบวชเป็น ภิกษุ จะต้องมีคณะสงฆ์อย่างน้อย ๑๐ รูป ร่วมในสังฆกรรมนั้น นอกจากในที่ทุรกันดาร หาภิกษุสงฆ์ได้ยากจริงๆ ก็อาจใช้คณะสงฆ์เพียง ๕ รูป ได้ สิ่งที่จำเป็นในการบวชพระก็คือ จะต้องมีบาตร และไตรจีวร พร้อมทั้งบริขารที่จำเป็นอื่นๆ คือ ประคตเอว มีด เข็ม และที่กรองน้ำ ในบริขาร ๘ อย่างซึ่งเรียกว่า อัฐบริขารนี้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การบวชก็ต้องบวชในโบสถ์ และคณะสงฆ์ในที่ประชุมนั้นจะต้องเห็นชอบด้วยเป็นเอกฉันท์ ถ้าหากมีภิกษุในที่นั้นแม้เพียงรูปเดียวคัดค้าน การบวชนั้นก็ใช้ไม่ได้ ส่วนการบรรพชา หรือบวชเป็นสามเณรนั้น แม้อายุไม่ครบ ๒๐ ปี ก็บวชได้ตามปกติจะต้องอ่านออกเขียน ได้เสียก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ภิกษุสามเณรออกบิณฑบาต

เมื่อได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วก็จะต้องดำรงชีวิตแบบพระ จะดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสหาได้ไม่ หน้าที่ของพระก็คือจะต้องออกบิณฑบาตในตอนเช้า ซึ่งเราเรียกว่าออกโปรดสัตว์ ต้องทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย ได้อย่างใดต้องฉันอย่างนั้น เมื่อบวชแล้วต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจึงจะเรียกว่า "บวชเรียน" ไม่ใช่ถือเอาการบวชเป็นการเข้าไปพักผ่อน นอกจากนี้ กิจวัตรประจำวันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลงโบสถ์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เพื่อเป็นการแสดงความสามัคคีทางกาย ทางวาจา และทางใจ และเพื่อทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่องแล้วให้แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่ออยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในฤดูฝนแล้ว ก็จะทำพิธีออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ปวารณา" ในการปวารณานั้น ภิกษุทุกรูปตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา จนถึงพระลูกวัด จะต้องกล่าวเปิดโอกาสให้ภิกษุรูปอื่นๆ ว่ากล่าวแนะนำตักเตือนได้ ถ้าหากการประพฤติของตนเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น และเมื่อปวารณาเสร็จแล้ว ต่อไปก็ถึงเทศกาลทอดกฐิน ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิรับกฐิน และได้อานิสงส์กฐิน
การทอดกฐิน คือ การถวายผ้าไตรจีวรและเครื่องบริขารแก่พระสงฆ์หลังจากเข้า พรรษาแล้ว สำหรับวัดหลวง ก็เป็นกฐินหลวง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอาจเสด็จไปทรงทอด เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือส่วนราชการไปทอดแทน พระองค์ก็ได้ ส่วนวัดราษฎร์ ประชาชนอาจทอดเอง เป็นการเฉพาะรายๆ ไป หรือจะรวม กันทอดเป็นกฐินสามัคคีก็ได้ สำหรับกฐินราษฎร์ มักจะมีการทอดผ้าป่าควบคู่ไปด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow