มนุษย์ทุกคนย่อมเคยเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อกันมาบ้างแล้ว คนสมัยโบราณบางหมู่เชื่อว่า การเจ็บป่วยเกิดขึ้น เพราะอำนาจภูตผีปีศาจ บางพวกก็เชื่อว่า การเจ็บป่วยเป็นผลจากพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว ฟราคาสโตโร (Fracastoro) ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่เสนอแนะว่า โรคติดต่อนี้น่าจะเนื่องจากสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นตัวการ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน จนกระทั่งประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้วมา หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ชาวฝรั่งเศส ก็ได้ทำการพิสูจน์ทดลองให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตมิได้อุบัติขึ้นเอง จะต้องเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตด้วยกัน การหมักเหล้า การบูดเน่า ก็เป็นผลของสิ่งมีชีวิต ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ซึ่งมีกำลังขยาย ประมาณ ๑,๐๐๐ เท่า สิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ เราเรียกว่า จุลชีพ
จุลชีพอาจ จะเป็นโปรโตซัว (protozoa) ยีสต์ (yeast) รา (fungus) สาหร่าย (algae) ขนาดเล็ก บัคเตรี (bacteria) ในสมัยปาสเตอร์นี้ โรเบิร์ต คอค (Robert Koch) ชาวเยอรมัน ก็เป็นบุคคลแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่า บัคเตรีบางชนิด เป็นสาเหตุของโรคติดต่อ บัคเตรีนี้สามารถเพาะเลี้ยงด้วยอาหารในหลอดแก้วได้ จนกระทั่งประมาณ ค.ศ. ๑๘๙๒ ไอวานอฟสกี้ (Iwanowski) เป็นคนแรกที่พบว่า มีจุลชีพอีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมากไม่สามารถจะเห็นได้ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า และก็เป็นต้นเหตุของโรคติดต่อของต้นยา สูบได้ จุลชีพดังกล่าวสามารถลอดผ่านเครื่องกรองบัคเตรี (bacterial filter) และไม่สามารถ เพาะเลี้ยงทวีแพร่พันธุ์ในอาหารที่เคยเพาะเลี้ยงบัคเตรีได้ จุลชีพพวกใหม่นี้จึงเรียกกันว่า "ไวรัส" (virus) ปัจจุบัน ไวรัสนี้สามารถขยายให้เห็นได้ โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) ซึ่งมีกำลังขยาย ๓๐,๐๐๐ - ๘๐,๐๐๐ เท่า โรคไวรัสเคยคร่าชีวิตมนุษย์มากมาย เช่น ไวรัสไข้เหลือง ทำให้ชาวสเปนตาย ๖๐,๐๐๐ คน เมื่อ ค.ศ. ๑๘๐๐ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘ - ๑๙๑๙ มีผลให้คนตาย ๑๕ ล้านคน โรคที่เกิดจากไวรัสนั้น มีมาแต่โบราณแล้ว จากการศึกษาซากมัมมี่ของกษัตริย์ไอยคุปต์แรมซีสที่ ๕ ซึ่งทรงมีชีวิตอยู่เมี่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีที่แล้วก็ทราบว่า ตามพระวรกายของพระองค์ บ่งชัดว่า ประชวร และสิ้นพระชนม์ด้วยฝีดาษ หรือไข้ทรพิษอันเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จากภาพสลัก ที่พีระมิดโบราณ ก็มีชาวไอยคุปต์ขาลีบ คล้ายคนเป็นโรคโปลิโอ
นักชีววิทยาที่สนับสนุนว่า ไวรัสมีชีวิต เพราะ
๑. ไวรัสสามารถทวีจำนวนผลิตไวรัสแบบเดียวกันได้
๒. ไวรัสมีกรดนิวคลีอิคเป็นองค์ประกอบ และกรดนิวคลีอิคนี้ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะของไวรัส
๓. การเปลี่ยนแปลงกรดนิวคลีอิคของไวรัส ทำให้ไวรัสผันแปรจากดั้งเดิมได้
๔. หากการเลี้ยงไวรัสชนิดเดียวกัน สองแบบ (two types) แต่ละแบบมีคุณสมบัติ ทางชีววิทยาต่างๆ กัน จะพบว่า ไวรัสที่ผลิตได้ใหม่บางตัวจะมีลักษณะของไวรัส ๒ แบบผสมกัน แสดงว่ามีการรวมตัวของ ยีน* (gene) ระหว่างไวรัสสองแบบ ทำนองเดียวกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศระหว่างเพศผู้ และเพศเมีย (sexual recombination)
ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด จนไม่สามารถเห็นได้โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา** ขนาดของไวรัสไม่เท่ากัน มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยปกติไวรัส ทั่วไปมักลอดผ่านเครื่องกรองบัคเตรีได้ ไม่สามารถจะทวีจำนวนในอาหาร ที่ใช้เพาะเลี้ยง บัคเตรี การทวีจำนวนแพร่พันธุ์ของไวรัสจึงจำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์ที่มีชีวิต บัคเตรีบางจำพวก ที่ต้องเข้าไปทวีแพร่พันธุ์ภายในเซลล์แบบไวรัสนี้ จะต่างกับไวรัส ตามตารางที่แสดงการเปรียบเทียบคุณสมบัติของไวรัสกับจุลชีพ ที่ใกล้เคียง ดังต่อไปนี้
ปกติไวรัสจะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแก่สิ่งที่มีชีวิต นับตั้งแต่มนุษย์ สัตว์ แมลง พืช สาหร่ายสีน้ำเงิน รา ยีสต์ และบัคเตรี
ในการศึกษาไวรัส จึงจำเป็นต้องนำอวัยวะที่สงสัยว่าเป็นโรคมาบดผสมกับน้ำเกลือ เพื่อให้ไวรัสหลุดออกมาตอนเซลล์แตก แล้วทำให้ปราศจากบัคเตรี โดยใช้เครื่องกรองบัคเตรี หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่ทำลายบัคเตรี จากนั้น จึงนำน้ำที่สงสัยว่ามีไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคนั้น มาตรวจสอบว่า จะมีไวรัสจริงหรือไม่ โดยฉีดเข้าไปในสิ่งที่มีชีวิตปกติที่เหมาะสมแล้วสังเกต ดูการเกิดโรค ในกรณีที่เป็นโรคของมนุษย์และสัตว์ที่ไม่อาจนำมาทดลองแบบนี้ได้ ก็อาจใช้สัตว์ทดลองที่หาได้สะดวก เช่น หนูถีบจักร หนูขาว หนูตะเภา กระต่าย ลิง แมว สุกร สุนัข ฯลฯ แทน ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ กู๊ดปาสเตอร์ (Good - pasteur) เป็นคนแรกที่ใช้ไข่ไก่ที่ฟัก ให้เป็นตัวอ่อนระยะแรกๆ เลี้ยงไวรัส ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ เอนเดอร์ส (Enders) ก็เป็นคนแรก ที่เพาะเลี้ยงเซลล์ของสัตว์ดูดนม แล้วนำเซลล์ขึ้นมาเพาะเลี้ยงไวรัส ไวรัสก็จะทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์
ตัวของไวรัสเอง (virus) บางทีมักเรียกว่า ไวริออน (virion) ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ปัจจุบันยอมรับกันว่า มีขนาดเล็กที่สุด ไวรัสไม่มีสภาพเป็นเซลล์แต่เป็นอนุภาค (particle) ที่เล็กกว่าเซลล์ ไวรัสมีแกนเป็นกรดนิวคลีอิค พอกหุ้มด้วยโปรตีน หรือที่เรียกว่า แคปซิด (capsid) ภายนอกแคปซิดของไวรัสบางชนิดอาจมีสารจำพวกไลปิด (lipid) หรือไลโปโปรตีน (lipo protein) หุ้มอนุภาคไวรัสอีกชั้นหนึ่งก็ได้ | |
ไวรัส แตกต่างพิเศษจากสิ่งที่มีชีวิตอื่นก็คือ ตามธรรมดาไวรัสจะต้องเข้าไปเจริญ และทวีจำนวนภายในเซลล์ เพราะขาดเอนไซม์ หรือมีบ้างก็จำกัด ไม่สามารถทวีจำนวนเมื่ออยู่โดดเดี่ยวอย่างสิ่งที่มีชีวิตธรรมดาอื่นได้ เมื่ออยู่นอกเซลล์ จึงไม่สามารถแพร่พันธุ์อย่างบัคเตรีทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ กูเลียน (Goulian) สามารถสังเคราะห์กรดนิวคลีอิคเทียมธรรมชาติได้ โดยควบคุมปัจจัยต่างๆ พอเหมาะเสมือนสภาวะภายในเซลล์อันทำให้กรดนิวคลีอิคทวีจำนวนได้บ้างในหลอดแก้วที่ปราศจากเซลล์ กรดนิวคลีอิคที่สังเคราะห์ได้นี้มี คุณสมบัติเหมือนไวรัสที่สกัดเอาโปรตีนออกแล้วทุกประการ |