ความสนใจในความสวยงามของอัญมณีและเครื่องประดับของคนเรานั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลอย่างน้อยประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากหลักฐานประจักษ์พยานต่าง ๆ ทางโบราณคดี เช่น พบควอตซ์ในบริเวณเดียวกันกับการขุดค้นพบโครงร่างบรรพบุรุษของมนุษย์ (มนุษย์ปักกิ่ง) สิ่งแกะสลักจากหิน กระดูก เขาสัตว์ ทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่พบตามถ้ำหรือตามโบราณสถานในประเทศต่าง ๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้อัญมณีอย่างแท้จริงในสมัยอียิปต์โบราณ จีน และอินเดีย หลายพันปีก่อนพุทธกาลในอียิปต์ซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมต่อเนื่องกันยาวนานมีการใช้อัญมณีชนิดต่าง ๆ เช่น ลาพิส-ลาซูลี แอเมทิสต์ เทอร์คอยส์ คาร์นีเลียน ออบซิเดียน ไข่มุก มรกต เป็นต้น ในประเทศจีนซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่เช่นกัน อัญมณีที่นิยมใช้ คือ หยก สำหรับประเทศอินเดียนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอัญมณีที่มีค่าและมีความสำคัญหลายชนิด เช่น เพชร ทับทิม มรกต ไพลิน เป็นต้น
ความรู้ ความเชื่อถือ และการใช้อัญมณีของคนไทยในสมัยโบราณเริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่มีหลักฐานกำหนดแน่ชัดเราอาจทราบเรื่องอัญมณีของไทยในอดีตได้จากวรรณคดีไทยบางเรื่องบางตอน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยเริ่มรู้จักและใช้อัญมณีไม่กี่ชนิดมีการจัดแบ่งอัญมณีออกเป็น ๙ ชนิด เรียกว่า นพรัตน์ หรือ นวรัตน์ หรือ แก้วเก้าประการ เป็นต้น ในตำรานพรัตน์มีคำกลอนที่มีอิทธิพลทำให้คนไทยไม่น้อยรู้จักสนใจและนิยมนับถืออัญมณีว่า เป็นสิริมงคล มีการจัดแบ่งเป็นลักษณะ สี ชนิด ลำดับชั้นคุณภาพแตกต่างกันไป คำกลอนนั้น คือ
๑. เพชร (น้ำ) ดี หมายถึง เพชร - Diamond