รูปแบบของหนังสือได้พัฒนามาตามลำดับ และใช้เวลานาน กว่าจะมีรูปแบบอย่างหนังสือ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อได้มีการค้นคิดการผลิตกระดาษขึ้นมาได้ ในประเทศจีน ในปี พ.ศ.๖๔๘ กระดาษ จึงเป็นวัสดุหลักในการผลิตหนังสือ จีนได้ค้นคิดวิธีพิมพ์ขึ้น และได้นำมาใช้ในการผลิตหนังสือเป็นชาติแรก เป็นการพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ (wood block printing) โดยใช้แผ่นไม้ แกะสลักเป็นแม่พิมพ์ ทาหมึกลงบนแผ่นแม่พิมพ์ และใช้แรงกด ๆ กระดาษลงบนแผ่นแม่พิมพ์ หนังสือที่พิมพ์ขึ้นในตอนแรกนี้ ผนึกต่อกันด้วยกาวและ ม้วนเก็บไว้เป็นม้วน หนังสือที่พิมพ์เก่าที่สุดที่ มีเหลือเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ หนังสือวัชรสูตร จัดพิมพ์โดยหวังเซียะ พิมพ์แจก เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกบิดามารดาของตน ใน ปี พ.ศ. ๑๔๑๑ โดยพิมพ์บนกระดาษเจ็ดแผ่น ผนึกติดกันทำเป็นม้วน มีความยาวประมาณ ๑๖ ฟุต และกว้างประมาณ ๑ ฟุต
การพิมพ์ตัวเรียง (movable type printing) ได้มีคนจีนชื่อ ไปเช็ง ประดิษฐ์ขึ้นได้ในระหว่าง พ.ศ. ๑๔๘๔ - พ.ศ. ๑๔๙๒ แต่ก็ไม่ได้พัฒนาไปไกล เพราะตัวหนังสือจีนมีเป็นจำนวนมาก การสร้างตัวพิมพ์แต่ละตัว มาใช้เรียงกันเป็นบรรทัด เป็นหน้า ไม่ทำให้การพิมพ์มีประสิทธิภาพ แตกต่างไปกว่าการพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ ที่ใช้กันอยู่มากนัก จนประมาณปี พ.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อโจฮาน กูเทนเบิร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเมืองไมนซ์ (Mainz) ในประเทศเยอรมนี ได้คิดการพิมพ์ตัวเรียงขึ้นได้ในยุโรป การพิมพ์จึงได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง และได้มีการพัฒนา ขึ้นมาตามลำดับจนเป็นเครื่องมืออันสำคัญใน การผลิตหนังสือ รูปเล่มของหนังสือก็ได้มีการ ปรับปรุงให้เหมาะสมและสะดวกในการที่จะ ผลิตในทางการพิมพ์ให้จัดพิมพ์ออกมาได้มี คุณภาพดี รวดเร็ว และประหยัด