ความหมายของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน (Parkinsonžs disease) คือ โรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ทำให้เซลล์สมอง ส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกมาในรูปของอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า ตัวแข็งเกร็ง และการทรงตัวลำบาก ในคนปกติมีเซลล์สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อยู่ที่บริเวณก้านสมอง ส่วนที่เรียกว่า ซับสแตนเทียไนกราคอมแพกทา (substantia nigra compacta : SNc) ซึ่งสร้างสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ที่เรียกว่า สารโดปามีน (dopamine) โดยสารนี้จะออกฤทธิ์ ทำให้คนเราเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ดังนั้น เมื่อสมองขาดสารโดปามีนในตำแหน่งดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันตามมา เพราะร่างกายมีจำนวนของสารโดปามีนไม่เพียงพอ ที่จะไปควบคุมการทำงานของสมองส่วนลึก (basal ganglia) ที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท กล่าวคือ มีอัตราความชุกของโรคประมาณ ๑ - ๒ คน ต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน และผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อยในอัตราส่วน ๓ : ๒ โรคพาร์กินสันพบบ่อยในผู้สูงอายุ กล่าวคือ อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่เริ่มต้นเป็นโรคนี้คือ อายุราว ๖๐ ปี (ช่วงอายุระหว่าง ๔๐ - ๗๐ ปี) และโรคนี้ จะมีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่ล่วงเลยไป จนทำให้เชื่อกันว่า โรคนี้จะเกิดกับคนเกือบทุกคนที่มีอายุยืนนาน เช่น อายุเกิน ๑๒๐ ปี ได้มีการศึกษาถึงการเกิดของโรคนี้ในต่างประเทศพบว่า ในประชากรที่อายุสูงกว่า ๕๕ ปี มีอัตราการเกิดโรคสูงเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ เท่า เมื่อเทียบกับประชากรที่มีอายุต่ำกว่า ๕๕ ปี ดังนั้น โรคพาร์กินสันจึงเป็นโรคที่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากประชากรโลกมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เช่น ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๒) ประเทศไทยมีอัตราผู้สูงอายุที่อายุเกิน ๖๐ ปี ราวร้อยละ ๑๐ และคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงประมาณ ๗๓ ปี คาดว่า ในอีก ๒๕ ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๓๐ หรือราว ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด จะเป็นผู้ที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี และอายุขัยเฉลี่ยคนไทยจะเพิ่มสูงกว่า ๘๐ ปี ดังนั้น ในอนาคต คนไทยจึงมีโอกาสจะเกิดโรคพาร์กินสันได้สูงมาก
โรคพาร์กินสันมีรายงานเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ หรือเกือบ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ พาร์กินสัน (James Parkinson) ได้เขียนรายงานโรคนี้ไว้ในหนังสือ "An Essay on The Shaking Palsy" หรือ "บทเรียงความเรื่องอาการอัมพาตชนิดสั่น" ในอดีตยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ว่า เกิดจากพยาธิสภาพที่บริเวณใดของสมอง และการรักษาก็ยังไม่มีวิธีใดที่ได้ผลดี แพทย์จึงเพียงแต่ให้การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยในอดีต ส่วนใหญ่มีอายุยืนนานเฉลี่ยได้ราว ๙ ปีภายหลังจากเป็นโรคนี้ โดยจะเสียชีวิตเกือบทั้งหมด และในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักต้องนอนอยู่บนเตียง เพราะเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารไม่ได้ จึงเกิดอาการสำลัก และมักเสียชีวิต เนื่องจาก โรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และแผลกดทับ (bedsore)
ในเวลาต่อมา มีแพทย์อีกคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้โรคนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ แพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชอง-มาร์แตง ชาร์โก (Jean-Martin Charcot) ซึ่งได้บรรยายถึงโรคนี้ไว้ เมื่อราว ๑๐๐ ปี มาแล้ว โดยเน้นถึงอาการหลัก ๔ ประการของโรคนี้อย่างชัดเจน คือ อาการสั่น อาการเกร็ง อาการเคลื่อนไหวช้า และอาการเสียการทรงตัว ซึ่งแพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่ ก็ยังคงใช้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยโรคนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้วงการแพทย์ได้มีความรู้ และความก้าวหน้าเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันอย่างรุดหน้าไปมาก ทั้งด้านสาเหตุ พยาธิวิทยา พยาธิกำเนิด การวินิจฉัยโรค ตลอดจนวิธีการรักษาใหม่ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ และมีอายุยืนนานได้มากกว่า ๒๐ ปีภายหลังเกิดเป็นโรค