มนุษย์ใช้คำพูดเป็นสื่อบอกความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รู้จักสร้างตัวอักษรสำหรับเขียนหนังสือ เพื่อบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ให้ผู้อื่นรู้ และสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้จากการอ่านหนังสือ
หนังสือที่ใช้อ่านศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ทำด้วยกระดาษเป็นส่วนใหญ่ แต่กระดาษเป็นวัตถุที่ไม่คงทนถาวร ชำรุดฉีกขาดง่าย เมื่อผู้เขียนหนังสือมีความประสงค์จะบันทึกเรื่องราวไว้ให้คงอยู่นาน ๆ จำเป็นต้องเขียนบนวัตถุ ที่มีความแข็งแรงคงทนถาวร เช่น แผ่นศิลา แผ่นไม้ และแผ่นโลหะชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แผ่นเงิน แผ่นทอง เป็นต้น การเขียน หรือบันทึกลายลักษณ์อักษรลงบนแผ่นศิลา และแผ่นวัตถุเนื้อแข็งชนิดต่าง ๆ ต้องทำด้วยวิธี "จารึก"
จารึก
เป็นวิธีการบันทึกลายลักษณ์อักษรอย่างหนึ่ง ที่ทำให้รูปอักษรเป็นร่องลึกลงไปในเนื้อวัตถุชนิดต่าง ๆ เช่น แผ่นศิลา โดยใช้เหล็กสกัด ตอกสกัดลงไปในเนื้อศิลา ให้เป็นร่องลึก รอยรูปอักษร และเรียกแผ่นศิลา ที่มีรูปอักษรเป็นร่องลึกนี้ว่า "ศิลาจารึก"
นอกจากจารึกบนแผ่นศิลาที่เรียกว่า ศิลาจารึกแล้ว ยังมีจารึกที่บันทึกลายลักษณ์อักษร บนวัตถุที่มีเนื้อแข็งน้อยกว่าศิลา ได้แก่ วัตถุ ประเภทไม้ ดินเผา และโลหะชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งบันทึกลายลักษณ์อักษร ด้วยการใช้เครื่องมือทำด้วยเหล็ก มีปลายแหลมคมเรียกว่า เหล็กจาร โดยใช้เหล็กจารเขียนลายลักษณ์อักษรให้เป็นร่องลึกรอยรูปอักษรแทนการสกัด และด้วยเหตุที่วัตถุ ซึ่งนำมาใช้รองรับการเขียนด้วยเหล็กจาร มีลักษณะแข็งแรง และคงทนถาวร อีกทั้งรอยรูปอักษรที่ปรากฏบนวัตถุนั้น ก็มีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับการจารึก จึงรวมเรียกเอกสารประเภทนี้ว่า จารึก เช่นเดียวกัน ได้แก่ จารึกบนแผ่นไม้ จารึกบนแผ่นดินเผา และจารึกบนแผ่นโลหะชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
เอกสารที่บันทึกลายลักษณ์อักษรบนแผ่นไม้ แผ่นดินเผา และแผ่นโลหะชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ บางครั้งจะพบว่า มิได้บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยเหล็กจาร แต่ใช้วิธีเขียนหรือชุบด้วยสีหรือหมึก ชุบคือ ลักษณะการใช้พู่กัน หรือปากกาจุ่มสีหรือหมึก เขียนตัวอักษร เอกสารลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า จารึก เช่นเดียวกัน
ศิลาจารึกเป็นเอกสารโบราณอย่างหนึ่ง ที่สำเร็จด้วยหัตถกรรม โดยการสลักลายลักษณ์อักษร เป็นภาษาที่ใช้สื่อความหมายแทนคำพูด แตกต่างจากรูปภาพ หรือภาพสลัก ที่มุ่งหมายจะเล่าเรื่องราว หรือบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรม ถึงแม้ว่าบางครั้ง จารึกจะปรากฏอยู่รวมกันกับการสลักก็ตาม เช่น ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม เป็นภาพจากหลักลายเส้นบนแผ่นศิลา เล่าเรื่องในชาดก มีจารึกอักษรข้อความอธิบายภาพประกอบส่วนที่ว่างด้วย