Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พฤติกรรมและภาษาผึ้ง

Posted By Plookpedia | 20 มิ.ย. 60
3,655 Views

  Favorite

 พฤติกรรมและภาษาผึ้ง

 

พฤติกรรม 
        คือ การแสดงออกในลักษณะท่าทาง เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผึ้งเป็นแมลงสังคม
ที่มีพฤติกรรมแสดงออกมากกว่าแมลงอื่น ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาผึ้ง การผสมพันธุ์
การวางไข่ และการแยกรัง เป็นต้น

 

ภาษาผึ้ง 
        เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการที่แสดงออกของผึ้ง เพื่อใช้บอกแหล่งอาหารให้สมาชิก
ในรังทราบ และพากันบินไปหาอาหารนั้นทันที

 

ภาษาผึ้งเป็นภาษาที่น่าสนใจ และน่าแปลกประหลาด 

"อะไรกัน ผึ้งเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ มีภาษาด้วยหรือ?" 

        คำถามนี้ได้นำไปสู่การค้นพบ โดยศาสตราจารย์ คาร์ล ฟอนฟริช แห่งประเทศเยอรมนี ผู้ได้เฝ้าดูผึ้งตัวน้อย ๆ บอกภาษากัน ด้วยการเต้นรำ โดยศึกษาเรื่องนี้อยู่นานถึง ๔๐ ปี จึงสรุปและอธิบาย
แง่มุมต่าง ๆ ของภาษาผึ้งได้อย่างละเอียด ผลงานของเขาได้รับรางวัลสูงสุด คือรางวัลโนเบล
ในปีพ.ศ. ๒๕๑๖

 

การเต้นรำบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ ๒ แบบ คือ การเต้นรำแบบวงกลม และการเต้นรำ
แบบส่ายท้อง

 

การเต้นรำแบบวงกลม (ก) และเต้นรำแบบส่ายท้อง (ข)


การเต้นรำแบบวงกลม (round dance)
        ผึ้งงานที่กลับมาจากสำรวจแหล่งอาหาร ในรัศมีไม่เกิน ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรัง แล้วเต้นแบบวงกลมบนผนังของรวงรัง ในแนวตั้งฉากกับฐานรัง เพื่อบอกให้สมาชิกผึ้งงานด้วยกันทราบ
ลักษณะของการเต้นแบบวงกลมนี้จะเต้นวนอยู่หลายรอบนาน ๑/๒  - ๑ นาที จึงหยุด และย้ายไปเต้นในตำแหน่งต่าง ๆ บนผนังรวงรัง เพื่อบอกสมาชิกผึ้งงานตัวอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป ตลอดเวลาของ
การเต้นจะมีผึ้งงานประมาณ ๕-๑๐ ตัว ตอมรอบ ๆ ถ้ามีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ผึ้งที่สำรวจนี้
จะเต้นรุนแรงและเร็ว ถ้าอาหารมีน้อยก็จะเต้นช้า และมักไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกผึ้งงาน
ที่ล้อมดูอยู่รอบ ๆ ผึ้งงานที่ตอมดูในขณะที่ผึ้งสำรวจเต้น จะดมกลิ่น และสังเกตลักษณะสีของแหล่งอาหารซึ่งได้จากเกสร และน้ำหวานที่ติดมากับผึ้งสำรวจนี้ด้วย การเต้นแบบวงกลมมิได้บอกทิศทางแต่อย่างใด เพราะระยะทางในรัศมี ๑๐๐ เมตรนั้น เมื่อผึ้งงานที่ตอมดูอยู่รอบ ๆ บินขึ้นดู ก็จะพบแหล่งอาหารที่อยู่ไม่ไกลนี้ได้ทันที
 

การเต้นแบบส่ายท้อง (tail wagging dance)
        ผึ้งงานสำรวจที่พบแหล่งอาหารไกลกว่า ๑๐๐ เมตร จะบินกลับรัง และเริ่มเต้นแบบส่ายท้องบนผนังรวงรังทันที ลักษณะการเต้นแบบนี้ ท้องจะส่ายไปมา โดยผึ้งจะวิ่งเป็นเส้นตรงขึ้นก่อน แล้วหมุนวนรอบซ้ายและขวารอบละครึ่งวงกลม ทำองศาบนเส้นแบ่งครึ่งวงกลมกับแนวดิ่งของฐานรังนี้เอง จะบอกทิศทางระหว่างแหล่งอาหาร ที่ตั้งของรัง และดวงอาทิตย์ ผึ้งสำรวจจะเต้นแบบนี้ซ้ำแล้ว
ซ้ำอีก จำนวนรอบ และระยะเวลาในการเต้น จะเป็นตัวกำหนดระยะทางของแหล่งอาหารกับ
ที่ตั้งของรัง ผึ้งสำรวจจะย้ายตำแหน่งการเต้นไปยังที่ต่าง ๆ บนรวงรัง ให้สมาชิกภายในรังทราบมากที่สุด แล้วจะหยุดเต้น ผึ้งงานที่ตอมอยู่รอบ ๆ จะพากันบินไปสู่แหล่งอาหารนั้นทันที

 

        ความรุนแรงของการเต้น เป็นสิ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร จำนวนรอบของการเต้นบอกระยะทางของแหล่งอาหาร ผึ้งงานจะสังเกตลักษณะของกลิ่นและชนิดของดอกไม้ได้จากเกสร ที่ติดมาบนตัวผึ้งสำรวจ เช่นเดียวกับการเต้นแบบวงกลม

 

การผสมพันธุ์ 
        คือ พฤติกรรมที่ผึ้งตัวผู้จะบินออกไปผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญากลางอากาศ ผึ้งจะบิน
ออกไปผสมพันธุ์ เมื่อมีอายุประมาณ ๓-๗ วัน ผึ้งตัวผู้บินออกไปเป็นกลุ่ม และชอบทำเสียงแหลม ซึ่งต่างจากผึ้งงาน เพราะความถี่ในการตีปีกต่างกัน ก่อนบิน มันจะกินน้ำผึ้ง ทำความสะอาดหนวดและตาของมัน จากนั้นก็บินออกไปรวมกลุ่มกันก่อน ยังบริเวณที่เรียกว่า "ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้" ทันทีที่ได้กลิ่นจากผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะรีบบินตามขึ้นไป ผึ้งตัวผู้ตัวแรก ที่บินไปถึงก่อน จะได้ผสมพันธุ์กับ
ผึ้งนางพญา เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว อวัยวะสืบพันธุ์จะขาดจากตัว ทำให้ผึ้งตัวผู้ตกลงมาตาย
ผึ้งนางพญาจะสลัดอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ออก และทำการผสมกับผึ้งตัวผู้ตัวต่อไปจนครบ ๑๐ ตัว จึงจะบินกลับรัง โดยทั่วไปแล้ว ผึ้งนางพญาจะทำการผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้จากรังอื่น ๆ ที่ต่าง
สายเลือดกันผึ้งนางพญาจะเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ไว้ได้ถึง ๕-๖ ล้านตัว (อสุจิ) เพื่อใช้ผสมกับไข่ไปจนตลอดชีวิต โดยไม่ต้องบินไปผสมกับผึ้งตัวผู้อีกเลย

 

อะไร คือสิ่งที่ดึงดูดผึ้งตัวผู้ให้บินขึ้นไปหาผึ้งนางพญาได้อย่างถูกต้อง ?

        คำตอบคือ สารเคมี หรือเฟอโรโมนของผึ้งนางพญา จะทำให้ผึ้งตัวผู้มีพฤติกรรมตอบสนอง
ทางเพศ โดยบินเข้าหานางพญา สารนี้จะทำงานเฉพาะเมื่อมันอยู่ภายนอกรัง และอยู่สูงกว่าพื้นดิน
ไม่น้อยกว่า ๑๕ ฟุต เท่านั้น

เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ อาหารหายาก ผึ้งงานจะกีดกันผึ้งตัวผู้จากการกินน้ำผึ้งที่เก็บไว้ และลากมันออกมานอกรัง ผึ้งตัวผู้จะอดตายในที่สุด บางครั้งผึ้งงานอาจดึงตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นผึ้งตัวผู้ออกจากหลอดรวง และคาบออกนอกรังด้วย เมื่อเกิดขาดแคลนอาหารภายในรัง

 

การวางไข่
        เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการผสมพันธุ์ โดยผึ้งนางพญาจะเดินหาหลอดรวงที่ว่าง
ที่ต้องการจะวางไข่ ผึ้งนางพญาใช้ส่วนหัว หนวด และขาหน้า สัมผัสตามหลอดรวงต่าง ๆ เป็นการ
วัดขนาดของหลอดรวง เมื่อพบแล้ว จะยื่นส่วนปลายท้องลงไปวางไข่ ปกติผึ้งนางพญา
วางไข่ ๑ ฟองภายใน ๑ หลอดรวง ถ้าเป็นหลอดรวงใหญ่จะวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ไข่นั้นจะเจริญเป็นผึ้งตัวผู้แต่ถ้าเป็นหลอดรวงเล็ก จะวางไข่ที่ผสมด้วยอสุจิ ซึ่งจะเกิดเป็นเพศเมียคือ ผึ้งงานนั่นเอง
ไข่ที่จะเกิดเป็นผึ้งนางพญา จะเป็นไข่ที่ได้รับการผสมเช่นกัน 

        การวางไข่โดยมากจะเริ่มใน ๒-๓ วัน หลังจากผสมพันธุ์ และดำเนินต่อไปตลอดชีวิตที่เหลือ ยกเว้นช่วงที่ขาดแคลนเกสร ปกติผึ้งงานประจำรังจะให้อาหารนางพญาสม่ำเสมอ ในระยะวางไข่ และกำจัดของเสียของผึ้งนางพญา รวมทั้งเก็บไข่ที่หล่นนอกหลอดรวงโดยบังเอิญ

 

ระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโตของผึ้ง

 

การแยกรัง 
        เป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่ผึ้งจะสร้างรังใหม่ ผึ้งนางพญาที่แก่แล้ว มีโอกาสที่จะแยกรังมากกว่าผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย สัญญาณการแยกรังจะมีอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน ก่อนแยกรัง
โดยเริ่มแรก ผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงนางพญาด้านล่างของรวง ในขณะเดียวกันตัวอ่อนจะมีปริมาณผึ้งตัวผู้มากขึ้น เมื่อใกล้ถึงฤดูแยกรัง ผึ้งนางพญาจะเพิ่มอัตราการวางไข่ เพื่อเพิ่มประชากรให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการหาอาหารมากขึ้น มีการรวบรวมน้ำหวาน และเกสร เกือบทุกหลอดรวงจะเต็มไปด้วยน้ำผึ้ง เกสร หรือตัวอ่อน เมื่อมีประชากรหนาแน่นขึ้นถึงจุดหนึ่ง จนไม่มีหลอดรวงว่างให้นางพญาวางไข่ ผึ้งงานจะป้อนอาหารให้กับผึ้งนางพญาน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวของนางพญาลดลง

 

        เมื่อนางพญาตัวใหม่ฟักตัวออกจากไข่ ช่วงนี้เอง ตัวอ่อนที่อยู่ในหลอดรวงปิดทั้งหมด
จะไม่ต้องการอาหารเพิ่มอีก ดังนั้นจะมีผึ้งงานอายุน้อยจำนวนมากมายที่เกิดขึ้น และไม่มีงานทำ
สภาพเหล่านี้จะเป็นสัญญาณให้มันเตรียมตัวก่อนแยกรัง ในขณะที่ผึ้งนางพญาตัวใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่อบอุ่นมีแสงแดดตามปกติระหว่าง ๑๐ โมงเช้า ถึง บ่าย ๒ โมง ผึ้งจำนวนมากจะรีบออกจากรัง พร้อมกับผึ้งนางพญาตัวเก่าที่มีน้ำหนักลดลง ประมาณร้อยละ ๓๐ มันจะบินตามผึ้งงานไป โดยถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน ผึ้งงานที่แยกไปส่วนใหญ่อายุมากกว่า ๒๐ วัน ผึ้งงานบางตัวจะหยุดใกล้รัง และปล่อยกลิ่นนำทาง ทำให้ผึ้งตัวอื่น ๆ ที่บินไม่ทัน สามารถบินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน
รวมเป็นฝูง เพื่อไปหาที่ตั้งสร้างรังใหม่ต่อไป ในรังเดิมจะมีผึ้งนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้น ปกครองผึ้งงานที่เหลืออยู่ต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow