การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
พื้นที่ต้นน้ำลำธารเป็นแหล่งผลิตน้ำให้แก่ลำธาร ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยภูเขา หรือเนินสูง ที่มีความลาดชันค่อนข้างมาก สำหรับพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งปกคลุมด้วยสภาพป่าไม้ตามธรรมชาติ ที่มีความสมบูรณ์ ป่าไม้จะช่วยป้องกันน้ำฝนขณะฝนตก มิให้กัดเซาะชะพาดินผิวหน้า และช่วยรักษาความสมบูรณ์ และความชุ่มชื้น มิให้เสื่อมสูญไป ส่วนเศษไม้ ใบไม้ ที่ทับถมผุพัง อยู่บนผิวดินนั้น ก็จะช่วยดูดซับน้ำฝน ทำให้น้ำมีโอกาสไหลซึมลงไปเก็บสะสมอยู่ในดินได้มาก แล้วจึงค่อยไหลระบายออกจากดิน ลงสู่ลำธาร และลำห้วยอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ดังนั้น ป่าไม้จึงมีความสำคัญ ที่ช่วยให้ลำน้ำลำธารมีน้ำไหลตลอดทั้งปี
ถ้าหากพื้นที่ต้นน้ำลำธารแห่งใดมีสภาพที่ เสื่อมโทรม เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวถูกผู้คน บุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตร หรือถูกบุกเบิก เพื่อการทำไร่เลื่อนลอยในแต่ละ ปีเป็นจำนวนมาก เมื่อฝนตกน้ำฝนจะไหลบ่า ตามลาดพื้นดิน จากบริเวณพื้นที่รับน้ำฝนลงสู่ลำธาร และลำห้วยอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ดินถูกกัดเซาะ พังทลายมาก และน้ำอาจไหลบ่าท่วมพื้นที่ทำการเกษตร และที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ราบทาง ตอนล่างอย่างฉับพลันได้ แต่ครั้งถึงฤดูแล้งลำธาร และลำห้วยส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำไหล ซึ่งจะมีผล กระทบต่อความเป็นอยู่และการทำมาหากินของประชากร ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารอย่างยิ่ง ในระยะแรก ที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร ตามท้องที่ต่างๆ ในภาคเหนือ เฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งหลายแห่ง เป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำมาหากินของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริที่สำคัญ ได้แก่ การหาทางยับยั้งราษฎรชาวไทยภูเขา ไม่ให้บุกรุกทำลายป่าบนภูเขา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารเป็นอันดับแรก โดยเร่งด่วน ด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า ปัญหาที่ราษฎรชาวไทยภูเขาจำนวนมากบุกรุกทำลายป่าตามยอดเขาต้นน้ำลำธาร เพื่อนำพื้นที่มาทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกฝิ่นนั้น นอกจากจะเป็นการผิดกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าว ยังเป็นสาเหตุสำคัญ ต่อการทำลายป่า ในบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำลำธารด้วย ถ้าหากไม่หาทางหยุดยั้งให้ได้แล้ว ผลเสียหายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ในอนาคตอย่างประมาณมิได้ ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาขึ้น หรือเรียกว่า "โครงการหลวง" ในระยะต่อมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อที่จะให้ชาวไทยภูเขาได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอย่างถาวรเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว และพืชเมืองหนาวต่างๆ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งจะมีผลช่วยในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ให้พ้นจากความเสื่อมโทรมได้ ดังกระแสพระราชดำรัสมีความตอนหนึ่งว่า
"เรื่องที่ช่วยชาวเขา และโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุน ให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น... ผลอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้ เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก ที่อาจทำให้บ้านเมืองเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูก โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั้งประเทศ เพราะว่า ถ้าเราสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถที่จะมีการกินดีอยู่ดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดิน ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก"
การจัดตั้งโครงการหลวงในภาคเหนือดังกล่าว จึงเป็นการเริ่มงานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ตามพระราชดำริขึ้นในภาคเหนืออย่างจริงจัง เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ได้มีการดำเนินงานกระจายไปทั่วภูมิภาคนี้ และอีกหลายแห่งในภาคอื่นด้วย