เราทำไร่ทำนาปลูกพืชได้เมล็ดพืชเป็นอาหารของมนุษย์ เศษเหลือ หรือวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เราปลูกข้าวได้ข้าวเปลือก เมื่อนำข้าวเปลือกไปสีได้ข้าวสารเป็นอาหารมนุษย์ ส่วนรำ ปลายข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้นข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแล้ว เรียกว่า ฟาง ก็เป็นอาหารโคกระบือ เราปลูกถั่วเก็บเมล็ด นำเมล็ดไปหีบน้ำมัน น้ำมันเป็นส่วนประกอบของอาหารมนุษย์ ส่วนกากที่ได้ใช้เป็นอาหารสัตว์ เถาถั่วใช้เป็นอาหารโคกระบือ เราทำการประมง จับปลาในทะเลได้ปลาหลายชนิด ปลาที่ไม่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ ใช้ทำเป็นปลาป่น เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ยอดอ้อย ชานอ้อย กากน้ำตาล เป็นเศษเหลือวัสดุพลอยได้จากอ้อย ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบและต้นพืชในวงศ์หญ้า และถั่วบางชนิดเป็นอาหารของสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า แพะ และแกะ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุพลอยได้ของอาหารมนุษย์นั่นเอง
อาหารสัตว์
อาหารสัตว์หมายถึงวัตถุต่าง ๆ ที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกาย และไม่เป็นพิษต่อสัตว์ เช่น รำ ปลายข้าว เมล็ดข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วต่างๆ มันสำปะหลัง ตลอดจนหญ้าและพืชในวงศ์ถั่วบางชนิด เรานำเอาวัสดุพลอยได้ จากอาหารมนุษย์เหล่านี้ มาผสมเข้าด้วยกันตามสัดส่วน ที่ต้องการให้เป็นอาหารผสมสำเร็จรูป สำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น เพื่อเป็นอาหาร เพื่อใช้แรงงาน และเพื่อส่งขายในต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ เราส่งเนื้อไก่ไปจำหน่ายในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔,๘๐๐ ล้านบาท การเลี้ยงโคนมของเราก็ก้าวหน้า สามารถผลิตนมได้ประมาณวันละ ๓๐๐ ตัน ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอ ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดต่างๆ จำนวน ๔๙ โรง ผลิตอาหารได้กว่า ๓ ล้านตัน ได้อาหารสัตว์ ที่มีคุณภาพดี ทัดเทียมกับของต่างประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ดังนี้ คือ โค ๔.๗ ล้านตัว กระบือ ๕.๙ ล้านตัว สุกร ๔.๒ ล้านตัว ไก่ ๘๔ ล้านตัว และเป็ด ๑๕ ล้านตัว
ในเมืองไทยอาหารสัตว์ได้มาจากแหล่งอาหารสัตว์หลายแหล่ง ดังนี้
๑. แหล่งอาหารสัตว์ธรรมชาติ ได้แก่ หญ้า ถั่ว และพืชอื่นๆ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นอาหารของโค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า เช่น หญ้าเพ็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งนา และคันนา มีหญ้าธรรมชาติขึ้นปกคลุม ป่าละเมาะ และที่รกร้าง ซึ่งมีหญ้าและพืชอาหารสัตว์ขึ้นปนอยู่ เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ ที่เกษตรกรได้ใช้เลี้ยงโค กระบือโดยทั่ว ๆ ไป
๒. แหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ผลิตขึ้น ได้แก่ เมล็ดพืชต่างๆ ที่เก็บเกี่ยวจากไร่นา เช่น เมล็ดข้าวโพด ข้าวฟ่าง ตลอดจนหัวมันสำปะหลัง ซึ่งปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะ
๓. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานต่างๆ เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง รำข้าว และปลายข้าว กากน้ำมันมะพร้าว กากปาล์ม และกากยางพารา ส่าเหล้า กากเบียร์ กากน้ำตาล เศษสับปะรด มะเขือเทศ และหน่อไม้ฝรั่ง กระดูกป่น วัสดุเหลือใช้เหล่านี้มีคุณค่าอาหารสัตว์สูงมาก
๔. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นวัสดุพลอยได้จากไร่นา ส่วนใหญ่จะเป็นใบพืชเช่น ยอดอ้อย เศษต้น และเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน ฟางข้าว ใบมันสำปะหลัง ใบปอกระเจา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทอาหารหยาบ ใช้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ
๕. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ ปลาป่น เปลือกหอย กระดูกสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญเช่นกัน ทำเป็นอาหารป่นใช้ผสมกับอาหารชนิดอื่นๆ ปลาป่นให้สารอาหารโปรตีน ส่วนเปลือกหอย และกระดูกป่น ให้อาหารแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัส
๖. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า มีการเพาะปลูกบำรุงรักษาเช่นเดียวกับการปลูกข้าวและข้าวโพด โดยใช้พันธุ์หญ้า และถั่วพันธุ์ดีโดยเฉพาะ บำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ปล่อยโคแทะเล็มเอง หรือตัดให้กิน พันธุ์หญ้าที่ใช้กันมาก ได้แก่ หญ้ารูซี กินนี เนเปียร์ และพืชอื่น ๆ ได้แก่ ถั่วลาย ถั่วฮามาตา และกระถิน เป็นต้น