Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเปลี่ยนแปลง

Posted By Plookpedia | 06 มิ.ย. 60
4,420 Views

  Favorite

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่หยุดอยู่นิ่งๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ในระดับเดียวกันแล้วก็อาจกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวเองไม่ทันจนเกิดปัญหาทางวัฒนธรรมที่ต้องมีการแก้ไขกันตลอดมา ทั้งนี้ก็เพราะแต่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่มีการทำนา และการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก การผลิตแต่เดิมก็เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน ไม่ได้ผลิตอย่างใหญ่โตเพื่อส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศจึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด
แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ การผลิตผลิตผลทางการเกษตรซึ่งแต่เดิมผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วยเทคโนโลยีง่าย ๆ แบบดั้งเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาช่วย มีการลงทุนและการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการใช้ที่ดินก็มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์ นานาชนิดไปตามบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ดอน และที่ตามป่าเขา ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวน และการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง การผลิตแบบที่เป็นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่มีศักยภาพทั้งในด้านเงินทุน กำลังคน และเทคโนโลยีจะทำได้จึงเป็นเรื่องของบุคคลร่ำรวยที่เป็นนายทุน
 

การขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไปตามบริเวณต่าง ๆ
เช่นป่าเขาก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวนและเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม

 

สิ่งที่ควบคู่กันไปกับการเกษตรอุตสาหกรรมคือการขยายตัวทางอุตสาหกรรม เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรต่างๆ ของประเทศมาผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ อย่างมากมายทำให้เกิดย่านอุตสาหกรรม และย่านพาณิชยกรรมขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมากมาย เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา มีทั้งการย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง เช่น ในภาคอีสานไปอยู่ ทางภาคกลาง และภาคใต้ เป็นต้น กับการย้ายจากท้องถิ่นในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือทำงานเป็นกรรมกรในเมือง ซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดังกล่าวนี้มีผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในชนบท และในเมืองเป็นอย่างมากในสังคมชนบทนั้น แต่เดิมอยู่กันอย่างเรียบง่ายในกรอบของประเพณีที่มีจารีต และขนบธรรมเนียมท้องถิ่นคอยควบคุม ให้ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวขาดหาย ไปเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนทำให้สภาพครอบครัวขาดความสมบูรณ์ เด็กไม่มีความอบอุ่นในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็หมดความเชื่อถือในความรู้ ความสามารถต่อการเป็นผู้นำของคนรุ่นก่อน เพราะตนได้เล่าเรียนความรู้ใหม่ ๆ จากในเมือง มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ พร้อมกันนั้นก็รับเอาความทันสมัยหลายๆ อย่างมาจากภายนอก จึงทำให้หมดความเลื่อมใส และเชื่อถือในสิ่งที่เป็นจารีตและประเพณีของ ท้องถิ่นที่เคยมีบทบาทในการสร้างและควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีกลุ่มชนกลุ่ม ใหม่เข้าไปขยายที่ทำกินและตั้งถิ่นฐาน จนทำให้เกิดลักษณะบ้านแบบใหม่ ๆ เช่น บ้านจัดสรรขึ้นนั้น เกือบจะทำให้ความเป็นสังคมท้องถิ่นแต่เดิมล่มสลายลงไปก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะคนในท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน ความเรียบง่ายและการอยู่ร่วมกันที่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นก็หมดไป สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นสังคมที่ซับซ้อนแบบมีชนชั้น และความรู้สึกในเรื่องการเป็นปัจเจกบุคคลก็มีปรากฏทั่วไปในชนบท
ส่วนในสังคมเมืองนั้นภาวะความแออัดเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุมความเป็นสังคมเปิดที่ทำให้ติดต่อกับภายนอกได้อย่างสะดวกสบายนั้น เป็นผลให้คนได้แต่รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้ามาโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมหรือไม่ กับบ้านเมืองของตนเข้ากันได้กับสิ่งที่มีมาแต่เดิมเพียงใด เมื่อไม่มีการกลั่นกรองความขัดแย้งก็เกิดขึ้นการยึดมั่นถือมั่นในลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยที่หยุดนิ่งอย่างเป็นอุดมคติก็ดี นโยบายทางเศรษฐกิจทุนนิยม แบบเสรีที่เป็นการส่งออกของรัฐบาลก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ชักจูงคนในสังคมรุ่นใหม่ให้หันไปเห็นความสำคัญทางวัตถุ และความเป็นปัจเจกบุคคลตลอดเวลาทำให้สังคมมีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุม เกิดกลุ่มอาชีพกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายจนเป็นชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมากมายโดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีอิทธิพลในเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ดี หรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าก็ดี มีผลนำไปสู่การละเมิดกฎหมายอยู่เนือง ๆ

 

สภาพชุมชนแออัดในสังคมเมืองที่เพิ่มมากขึ้นจนควบคุมได้ยาก

 

การเน้นในเรื่องอุตสาหกรรม ทำให้เมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของพวกชาวนาในชนบท ที่เข้ามาเป็นกรรมกรตามโรงงานอุตสาหกรรม กรรมกรทำงานก่อสร้างตลอดจนคนงานลูกจ้างด้านบริการต่าง ๆ นั้น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมาย อย่างเช่น ปัญหาชุมชนแออัด แหล่งเสื่อมโทรม ปัญหา เรื่องการลักขโมย ปล้นจี้ ซึ่งรวมไปถึงปัญหา ทางโสเภณีและการว่างงานด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ นำมาสู่ปัญหาของความไม่มั่นคงภายในที่เป็นส่วนรวม ถ้ามองให้กว้างกว่าเมืองออกไปถึงบริเวณชานเมืองรอบนอกที่แต่เดิมเป็นชนบทก็จะพบว่าหลาย ๆ แห่งทีเดียวที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกร เพราะผู้ที่เป็นชาวนาแต่ก่อนเคยมีที่ดินทำการเพาะปลูกด้วยตนเองมีเป็นจำนวนมาก ที่ขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ก็เพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ในลักษณะที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมจึงต้องเปลี่ยนสภาพและ ฐานะตนเองเป็นกรรมกรรับจ้าง ทำงานให้กับ กิจการทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการปรับตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้ไม่ใช่ของง่าย ผู้ที่ประสบความล้มเหลวอาจกลายเป็นคนยากจนที่มีความเสื่อมทางด้านจิตใจและ ศีลธรรม ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการได้
เมื่อสรุปเป็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมในสังคมไทยโดยทั่วไปในขณะนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงจากสังคม ชาวนามาเป็นสังคมกรรมกรก็ดี เป็นไปในลักษณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวไม่ทัน เพราะ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการทำตัวเองให้กลมกลืนกับจักรวาล และการสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการทางวัตถุกับทางจิตใจ ที่มีผลทำให้ผู้คนต้องพึ่งพากันเอง และร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากร และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
มาเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่มีแต่ความต้องการทางวัตถุและ การเป็นปัจเจกบุคคล แล้วสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมจักรวาลแทนผลที่เห็นในปัจจุบันก็คือ การใช้เทคโนโลยีทาง วิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจ จนเกินความจำเป็นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พอจะเหลือไว้ ให้คนในรุ่นหลัง ๆ ได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่นนั้นหมดสิ้นไปโดยไม่จำเป็น

 

การผลิตผลิตผลของเกษตรกรในสมัยก่อน
จะใช้แรงงานสัตว์ในการผลิต เช่น การทำนา
การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจจนเกินความจำเป็น
ทำให้มีผลต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่นน้ำเสีย เป็นต้น


 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow