Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง

  Favorite

          เอาไงดี ! จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วแต่ยังสับสนอยู่เลย ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร จะเลือกแบบไหน ควรวางแผนยังไงให้หาสิ่งที่ใช่เจอ พร้อมแล้วมาแก้ไข้ปัญหานี้กันเลย กับเทคนิคเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย อย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง
 


7 เทคนิคเลือกเรียนต่ออย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง
 

1. เล็งอนาคตการเรียน จากความสนใจและความถนัดเป็นจุดสตาร์ท

          จุดเริ่มแรกของการตั้งเป้าอนาคตการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย ต้องวัดจากความเป็นตัวเราเป็นอันดับแรก สำรวจและหาตัวเองให้เจอก่อนว่า เราชอบอะไร เรื่องไหนที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่ความชอบอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ คนเราทำอะไรได้มากกว่าความชอบ ซึ่งนั่นคือความถนัด เช็คตัวเองให้ดีว่า เราพอจะทำหรือเรียนรู้อะไรได้ดีบ้าง วัดจากความสามารถที่เรามีและต้องไม่เกินตัว ทั้งหมดนี้คือจุดสตาร์แรกที่น้อง ๆ ต้องหาและตอบคำถามตัวเองให้เจอ

 

2. เลือกสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความเป็นเรา

          เมื่อเจอแล้วว่าความสนใจและความถนัดที่เหมาะกับตัวเราคืออะไร มาเริ่มกันต่อที่การหาสาขาวิชาที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราสนใจจะเรียนต่อ ย้ำเลยว่าต้องเลือกจากสาขาวิชาก่อน เพราะสาขาวิชาที่เราเรียนคือสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่า เรากำลังเรียนและสอดคล้องกับอาชีพอะไรในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่น้อง ๆ ต้องหาให้เจอว่าสาขาวิชาไหนตรงกับความต้องการของเรา ที่เชื่อมโยงมาจากความสนใจและความถนัดอีกที


3. วิเคราะห์สาขาวิชาที่เลือก ให้สอดคล้องกับอาชีพที่ตลาดต้องการ

          สเต็ปต่อไปนี้สำคัญมาก หลังจากที่เลือกสาขาวิชาได้แล้ว ต้องวิเคราะห์พื้นฐานอาชีพที่ตรงกับสาขาวิชานั้นให้เจอว่า จบแล้วทำอาชีพอะไรได้บ้าง อาชีพนั้นมีอนาคตในการทำงานมากน้อยขนาดไหน สำคัญคือควรเลือกสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอาชีพ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดการจ้างงาน เพราะถ้าน้องเรียนในสิ่งที่โอกาสไปต่อในการทำงานมีน้อย เมื่อเรียนจบมาแล้วก็จะลำบากในการหางานในอนาคต ซึ่งถ้าต้องการเลี่ยงปัญหาเรื่องนี้ เราต้องคิดให้รอบคอบตั้งแต่แรก แต่ถ้าใครที่ไม่ได้ติดเรื่องนี้ ที่บ้านมีธุรกิจเรียนจบแล้วจะกลับไปช่วยที่บ้านทำงานต่อ ก็สามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องจบมาแล้วทำงานอะไร งานที่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนจะเป็นที่ต้องการของตลาดไหม

 

4. มองหาคณะ/มหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับอาชีพหรือสาขาวิชาที่เลือก

          ต่อไปก็ลุยกันเลยกับการหาคณะที่เปิดสอนสาขาวิชาที่เราเลือก น้อง ๆ ต้องรู้ก่อนว่า แต่ละมหาวิทยาลัยแม้ว่าจะมีชื่อคณะเหมือนกัน แต่หลักสูตรสาขาวิชาย่อยที่เปิดสอนก็ต่างกัน คณะที่เราเลือกต่อให้ชื่อเหมือนกัน แต่บางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีสาขาวิชา ที่เราต้องการเปิดสอนในหลักสูตรของคณะนั้นก็เป็นได้ เช่น หากเราต้องการเรียนสาขาวิชาภาษาเกาหลี ก็ต้องเข้าคณะมนุษยศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ แต่บางมหาวิทยาลัยไม่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลีในหลักสูตร ฉะนั้นเราต้องตามหาคณะที่เปิดสอนสาขาวิชาที่เราต้องการให้เจอว่า มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่น้อง ๆ จะต้องหาข้อมูลกันให้ละเอียดต่อไป


5. ตรวจเช็คข้อกำหนด - คุณสมบัติ ที่เปิดรับของแต่ละมหาวิทยาลัย

          ลุยต่อกันที่การหาระเบียบการเปิดรับสมัครนักศึกษา หรือข้อกำหนด - คุณสมบัติผู้สมัครในสาขาวิชาที่เราเลือกของมหาวิทยาลัยที่สนใจ รวมทั้งเกณฑ์ในแต่ละรอบของ TCAS เรื่องนี้จำเป็นมากที่ต้องหาข้อมูลให้ละเอียด เพราะเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นตัวบอกว่า เราต้องเตรียมพร้อมวางแผนอย่างไรบ้างถึงจะมีสิทธิ์สอบติด และจะเป็นแนวทางให้รู้ว่า ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง ต้องทำคะแนนเท่าไหร่ถึงจะมีโอกาสติด ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องศึกษาเพื่อกลับไปวางแผนการเรียน การอ่านหนังสือ การเตรียมสอบ เพื่อกันพลาดโอกาสสอบไม่ติดนั่นเอง

 

6. เช็คค่าเทอมก่อนตัดสินใจเรียน ตามความพร้อมของครอบครัว

          ประเด็นนี้สำคัญ ไม่ว่าความฝันของเราจะไกลแค่ไหน สิ่งที่เราเลือกเรียนต่อคืออะไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องเงินค่าเทอมประกอบด้วย หลายคณะ/มหาวิทยาลัยมีค่าเทอมค่อนข้างสูง อย่าลืมว่าคนจ่ายค่าเทอมให้เรา คนที่หาเงินมาต่อยอดความฝันให้คือผู้ปกครอง กำลังในการหาเงินของครอบครัวก็สำคัญ ควรเลือกในสิ่งที่สอดคล้องกับความพร้อมของครอบครัว การหาข้อมูลเรื่องค่าเทอมเป็นที่ควรทำ ต้องปรึกษาเรื่องนี้กับครอบครัวให้ดี และต้องรับฟังเหตุผลของครอบครัวอย่างถี่ถ้วน เลือกในสิ่งที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างความต้องการของเราและความสามารถในการส่งเสียของครอบครัว ทุกครอบครัวมีขีดจำกัดต่างกัน สำคัญคือจะตัดสินใจทำอะไร ต้องเลือกให้พอดีกับความพร้อมของเรา แนะนำว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องการปรึกษากับครอบครัวให้ดีในเรื่องนี้


7. ศึกษาการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ที่คิดใช่กับตัวเรา

          มาวางแผนเลยว่าตัวเลือกของเรามีอะไรบ้าง ไล่จากความต้องการมากสุดไปถึงชัวร์สุด แล้วเริ่มเจาะลึกหารีวิว หาข้อมูลของแต่ละมหาวิทยาลัยว่า มีอะไรที่ต้องรู้ก่อนเลือกเรียนบ้าง เช่น สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย สังคมในมหาวิทยาลัยไหนที่น่าจะเหมาะกับตัวเรา รวมทั้งความสะดวกในการใช้ชีวิตของเราทุกด้าน (เรื่องการเดินทางก็สำคัญนะ) เอาเป็นว่าหาข้อมูลแต่ละมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการ และความสะดวกของเราเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจไว้ก่อน ถึงเวลาต้องเลือกจริง ๆ จะได้ตัดสินใจง่าย เพราะเราศึกษาข้อมูลไว้แล้ว

          น้อง ๆ จะเห็นได้ว่า 7 ข้อที่พี่นำมาฝากในวันนี้ คือตัวอย่างการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างไรให้มีสเต็ป เพราะหลายคนมีวิธีการเลือกที่ไม่รอบคอบ ส่งผลให้มีปัญหาในโค้งสุดท้ายได้ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอมักจะเป็นไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไร จะเลือกเรียนควรเลือกจากอะไรดี เลือกจากคณะ,สาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัย ควรตั้งต้นการเลือกจากอะไรดีที่สุด ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนตัวอย่างสเต็ปการเลือกเรียนต่อให้น้อง ๆ ได้นำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์ หวังว่าจะทำให้ทุกคนหาสิ่งที่ใช่และไปต่อได้สมตามหวัง พี่ปลูกเป็นกำลังใจให้จ้า

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us