Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] ธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

  Favorite

ธรณีวิทยาเรียนเกี่ยวกับอะไร ? เรียนเกี่ยวกับหินและดิน อย่างเดียวเหรอ ? ต้องขุดดินขึ้นมาดูอะไรในนั้น ? แล้วจบไปจะทำ งานอะไรดี ? เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงมีคำถามมากมาย วันนี้พี่มีคำตอบนั้นให้ครับ พบกับประสบการณ์การเรียนตลอดจนการใช้ชีวิตตลอด 4 ปี ในรั้วจามจุรีแห่งนี้ โดยพี่เกสท์-ณัฐวุฒิ ทรัพย์ไพบูลย์ นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเรามาดูกันว่า “ธรณีวิทยา” ที่น้อง ๆ รู้จัก เหมือนกับที่พี่จะมาเล่าให้ฟังมั้ย ?
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร

 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


แรงบันดาลใจ

ด้วยความที่สมัยม.ปลายเป็นนักเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตอยู่แล้ว จึงรู้สึกชอบและเห็นภาพว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราจริง ๆ ประกอบกับส่วนตัวแล้วชอบธรรมชาติ รักการผจญภัย ไม่ชอบการเรียนแต่ในห้องเท่าไหร่ เลยสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นพิเศษ ตอนนั้นหาข้อมูลไปเจออาชีพนักธรณีวิทยา แล้วเห็นภาพตัวเองในชุดออกภาคสนามรู้สึกว่าเท่ดีนะ อยากรู้ว่าเค้าทำงานกันยังไง ศึกษาเกี่ยวกับอะไร พี่จึงตัดสินใจมาหาคำตอบที่นี่ครับ พอได้คำตอบแล้วก็รู้สึกว่าใช่เลย สนุกดี เรียนไปออกภาคสนามไป ใช่สิ่งที่ต้องการเลย แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดนะ ต้องมาลองดูถึงจะรู้จ้า

 

ธรณีวิทยาเรียนเกี่ยวกับอะไร ?

ก่อนอื่นขอสร้างความเข้าใจก่อนว่าวิชานี้เราจะ เน้นศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง เเละกระบวนการตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเราจะศึกษาจากหลักฐานที่ค้นพบในชั้นหิน และซากดึกดำบรรพ์ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่แค่โลกเท่านั้นนะ เราสามารถไปประยุกต์ใช้กับการศึกษากระบวนการเกิดสิ่งต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนั้นธรณีวิทยาจึงสามารถประยุกต์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น อุตุนิยมวิทยา ดาราศาสตร์ อนุกรมวิธาน เป็นต้น บอกได้คำเดียวว่าเจ๋งสุด ๆ ไปเลย
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


จุดเด่นของการเรียนสาขานี้

สาขาวิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิชาเฉพาะทางในสาขาธรณีวิทยา ไม่เพียงแต่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น ที่นี่เราเน้นการออกภาคสนามด้วย เราจะพาน้อง ๆ ไปเห็นตัวอย่างในสถานที่จริง เก็บตัวอย่าง และหลักฐานข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ตามหลักการทางธรณีวิทยาว่าในอดีตบริเวณนั้นเคยเป็นอย่างไรบ้าง หรืออาจกล่าวได้ว่าเราเรียนรู้ปัจจุบันเพื่อย้อนกลับไปหาอดีต และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ไม่น่าเชื่อเลยว่ามุมมองในการท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ของเราจะเปลี่ยนไป เพราะน้อง ๆ จะมองหินก้อนหนึ่งแล้วตั้งคำถามทันทีว่ามันคือหินอะไร และมันมาจากไหนนะ อะไรทำให้มันมาอยู่ตรงนี้ นี่คือสิ่งที่เราจะสนุกไปกับมันโดยไม่รู้ตัวเลย

 

ความสำคัญของสาขาธรณีวิทยา

ปัจจุบันน้อง ๆ จะพบว่าโลกของเราเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เห็นในข่าวกันบ่อย ๆ ซึ่งสามารถคร่าชีวิตคนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลได้ นี่แหละคือสิ่งที่เราจะมาศึกษากัน เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกได้ นอกจากนี้ความรู้ทางธรณีวิทยามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ อาทิเช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เขื่อน โรงไฟฟ้า การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม แหล่งแร่ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น เรียกได้ว่าถ้าขาดนักธรณีวิทยาไปแล้ว โลกของเราคงจะลำบากน่าดูเลย
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร

 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


การเรียนในแต่ละชั้นปี

หลักสูตรปริญญาตรีของสาขานี้เรียน 4 ปีครับ เริ่มกันที่นิสิตใหม่ ชั้นปีที่ 1 ก่อนเลย น้อง ๆ เฟรชชี่ทุกคนจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ทั้งหมด (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แคลคูลัส) เพื่อเป็นการทบทวน และเตรียมนำความรู้ไปต่อยอดในสาขาธรณีวิทยาต่อไป จริง ๆ เราก็เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งนะ ดังนั้นแสดงว่าเราต้องมีการเรียนในห้องเรียน และทำแลปกันด้วยจ้า ขอแอบนอกเรื่องนิดนึง น้อง ๆ หลายคนอาจจะอยากใส่เสื้อกราวน์แบบคุณหมอ และอยากใส่เสื้อช็อปแบบวิศวกร แต่ธรณีวิทยาให้คุณได้ทั้งสองอย่างเลย เพราะเราเป็นนักวิทยาศาสตร์สายลุยไง

มาปีที่ 2 กันดีกว่า ปีนี้เราจะเข้าสู่ภาควิชาธรณีวิทยาอย่างเต็มตัว เน้นศึกษาวิชาพื้นฐานเฉพาะทางด้านธรณีวิทยาเลย อาทิเช่น แร่วิทยา ตะกอนวิทยา บรรพชีวินวิทยา ธรณีวิทยาโครงสร้าง และหินต่าง ๆ เป็นต้น การเรียนแลปในปีนี้ก็จะต่างไปจากเดิมคือเน้นการดูหิน ดูฟอสซิลกันมากกว่าการนั่งเขย่าหลอดทดลองสมัยปี 1 จริง ๆ ยังมีวิชาอื่น ๆ อีกเยอะนะ อันนี้แค่ส่วนหนึ่ง แล้วก็ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้เรียนวิชาการออกภาคสนามด้วย ตื่นเต้นสุด ๆ บอกเลยว่าน้อง ๆ จะหลงรักธรณีวิทยาจริง ๆ หรือไม่ คำตอบอยู่ในชั้นปีที่ 2 เนี่ยแหละ

พอขึ้นปีที่ 3 เราจะเรียนวิชาพื้นฐานที่ต่อยอดมาจากความรู้เดิม มีความเฉพาะทางมากขึ้น ได้แก่ ธรณีฟิสิกส์ การลำดับชั้นหิน เป็นต้น มีการออกภาคสนามเหมือนเดิม แต่จะท้าทายความสามารถ การทำงานเป็นทีมของน้อง ๆ มากขึ้น และยังให้นิสิตได้เลือกเรียนวิชาเลือกตามความสนใจ เช่น ธรณีพิบัติภัย อัญมณีวิทยา ธรณีกับการก่อสร้าง ธรณีปิโตรเลียม การทำเหมืองแร่ และการศึกษาน้ำบาดาล เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรของเราไม่มีสาขาวิชาย่อยให้เลือกแบบเจาะจงนะครับ น้อง ๆ สนใจด้านไหน อยากมีความรู้อะไรติดตัวไปสมัครงาน ก็สามารถลงเรียนวิชานั้นได้เลย เรียกได้ว่าเราจะมีความรู้หลากหลาย และมีงานให้เลือกเยอะแน่นอน

มาถึงปีสุดท้าย ปีที่ 4 เป็นปีที่ให้เก็บวิชาเลือกให้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ และมีการออกภาคสนามอย่างจริงจังที่สุด เน้นศึกษาธรณีวิทยาในประเทศไทย เพื่อนำมาทำโปรเจกต์จบนั่นเอง
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


ฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจในสาขานี้

การเรียนในสาขาธรณีวิทยา จะต้องเป็นนักเรียนที่ผ่านการเรียนสายวิทย์-คณิตมาก่อน มีทักษะการคิดและมีกระบวนการแก้ปัญหาที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ มีใจรักในการศึกษาธรรมชาติ ยิ่งชอบการผจญภัย บุกป่าฝ่าดงด้วยก็จะดีมาก เน้นย้ำเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก น้องที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืดแบบรุนแรง โรคชักต่าง ๆ อาจรบกวนการเรียนในสาขานี้ได้ และขอแสดงความเสียใจสำหรับใครที่เป็นโรคตาบอดสีไม่สามารถเรียนสาขานี้ได้นะครับ ส่วนน้องคนอื่น ๆ ก็พยายามฟิตร่างกายเข้าไว้ เมื่อเข้ามาเรียนก็จะได้ใช้อย่างเต็มที่ บอกเลยว่าออกภาคสนามแต่ละครั้งเหนื่อยไม่ใช่น้อย แต่ก็สนุกมากเช่นกัน นอกจากนี้น้อง ๆ ควรมีทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี เพราะการทำงานหลายอย่างจะเป็นงานกลุ่ม ต้องมีความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงจะผ่านการเรียน 4 ปีไปได้ สุดท้ายนี้พี่รอต้อนรับน้อง ๆ อยู่นะครับ ภาควิชาเราอยู่กันแบบอบอุ่น รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง อาจารย์และบุคลากรทุกท่านก็มีความเป็นกันเองกับนิสิต ให้ความดูแลเอาใจใส่เสมือนเป็นบุตรหลานของท่านเอง แล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวธรณีวิทยากันนะครับ
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร

 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


ธรณีวิทยาจบไปแล้วทำงานอะไร ?

ขอพูดเลยว่าสำหรับสาขานี้ ถ้าไม่เลือกงาน โอกาสตกงานแทบจะไม่มีเลย มีงานทำ 99.99% ขึ้นอยู่กับว่าเราพอใจในการทำงานกับองค์กรแบบใด ภาครัฐหรือเอกชนก็มีงานรองรับทั้งหมด เช่น งานด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ้านเราส่วนใหญ่จะดูแลโดยหน่วยงานของภาครัฐ คือ กรมทรัพยากรธรณี ถ้าน้อง ๆ สนใจจะเข้ารับราชการก็สามารถทำได้เช่นกัน งานด้านการสำรวจน้ำบาดาลเพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค งานด้านพลังงานและปิโตรเลียม อันนี้เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงใฝ่ฝันจะทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันกันแน่ ๆ เลย เงินเดือนดีด้วยนะ หรือจะเป็นงานด้านเหมืองแร่และการสำรวจถ่านหิน เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุต่าง ๆ เช่น การผลิตไฟฟ้า การผลิตชิ้นส่วนโลหะ สำหรับใครที่ชอบการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ก็สามารถทำงานเป็นนักวิจัย นักวิชาการด้านนี้ได้ หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างถนน อุโมงค์ เขื่อน หรืออาคารขนาดใหญ่ต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยนักธรณีวิทยาในการให้คำปรึกษาและดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งปัจจุบันนักธรณีวิทยายังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่มาก ยิ่งถ้าน้อง ๆ ได้มีโอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศ รับรองว่ารายได้และคุณภาพชีวิตดีแน่นอน
 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


 

ภาพ : ชนมน ปานบุตร


ข้อมูลการสมัครสอบ

ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.geo.sc.chula.ac.th

TCAS

  • รอบที่ 1 สัมภาษณ์นักเรียนที่มีคุณสมบัติอยู่ในโครงการที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ใช้ Portfolio ในการพิจารณา รับจำนวน 9 คน

  • รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ใช้คะแนนการสอบวิชาสามัญ รับจำนวน 11 คน

(คณิตศาสตร์ 1 20% ชีววิทยา 20% เคมี 20% ฟิสิกส์ 20% GAT 20%)

  • รอบที่ 4 Admissions รับจำนวน 20 คน

(GPAX 20% ONET 30% PAT2 20% PAT1 10% GAT 20% )

- รวมทั้งสิ้น 40 คน

*หมายเหตุ : รอบที่ 2 และรอบที่ 5 ไม่มีการเปิดรับ โดยจำนวนการรับนิสิตในแต่ละรอบ และจำนวนนิสิตรวมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี

 

เรื่อง : ณัฐวุฒิ ทรัพย์ไพบูลย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us