คนเขียนเองเป็นลูกคนเดียว แต่ก็อินไม่น้อยเพราะได้รับรู้เรื่องดราม่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ อยู่ตลอด บางทีก็มาในรูปแบบของ “เมื่อวานแม่เราพาน้องไปซื้อ iPad Pro เพราะมันช่วยงานที่บ้านตอนปิดเทอม ประเด็นคือเราทำงานช่วยที่บ้านมาตั้งแต่น้องยังไม่เกิดอีก ไม่เห็นจะได้ใช้เลยไอ้ iPad เนี่ย” หรือ “ที่บ้านเรา ลูกชายไม่เคยต้องล้างจานค่ะ เพราะเป็นหน้าที่ของลูกสาวเท่านั้น” และอีกมากมายหลายคำบ่นที่รู้ว่าลึก ๆ ก็น้อยใจ
พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน หรือที่เราเรียกว่า “Parental favoritism” ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย บางครั้งพ่ออาจจะรักลูกคนโตมากกว่า ส่วนแม่อาจจะเอ็นดูไปทางลูกคนเล็กมากกว่า บางครั้งอาจเป็นลูกสาวหรือลูกชายที่เป็น “ลูกคนโปรด” ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ เช่น ลูกคนไหนเหมือนพ่อแม่มากกว่ากัน ลูกคนไหนเกิดก่อนหรือเกิดหลัง ลูกคนไหนเข้าใจพ่อแม่ได้ดีกว่า ลูกคนไหนประสบความสำเร็จ เรียนดีกว่า เจริญรอยตามหรือชดเชยในสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่สำเร็จได้ หรือใครได้ดั่งใจทำให้พ่อแม่ปลื้มมากกว่ากัน ซึ่งความจริงแล้วมันก็หาเหตุผลเป๊ะ ๆ มาเมคชัวร์ยากว่าทำไมลูกคนไหนถึงได้เป็น “ลูกคนโปรด” ของพ่อแม่
นักจิตวิทยาครอบครัวได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็รักลูกเท่า ๆ กันนั่นแหละ แต่แสดงออกว่ารักไม่เท่ากัน เพราะรักใครมากกว่าเราคงวัดไม่ได้ เหมือนที่ถ้าใครมาถามว่าเรารักพ่อแม่เท่ากันไหม ? เราก็อาจจะตอบยากว่ารักพ่อแม่เท่ากัน หรือปากจะบอกว่ารักแม่มากกว่า แต่ในใจเราก็อาจจะรักพ่อ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ควรจะแสดงออกในทางบวกกับลูกทุกคนเท่า ๆ กัน คือแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่ารักและหวังดีแบบไม่มีเงื่อนไข แต่จะออกมาในรูปแบบใดก็แล้วแต่ครอบครัว
• คิดซะว่าขนาดเราเป็นลูก มันก็ยังยากที่จะพูดได้ว่าเรารักพ่อแม่เท่ากัน ในใจบางคนก็อาจจะรักแม่มากกว่า เพราะแม่ดูแลเราดี หรือบางคนก็อาจจะรักพ่อมากกว่า เพราะพ่อใจเย็นไม่ค่อยบ่น ชิลล์ ๆ พ่อแม่ก็เหมือนกัน เขาอาจะสองมาตรฐานไปบ้าง มี รัก โลภ โกรธ หลงตามประสามนุษย์คนหนึ่ง
• ทางที่ดีเราควรคุยกับพ่อแม่ตรง ๆ ว่าเรารู้สึกยังไง เพราะในความรักที่ไม่เท่ากันมาก ๆ ในครอบครัวที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็กอาจจะทำให้เรากลายเป็นคนเอาแต่ใจ ไม่เข้าใจคนอื่น หรือเลวร้ายที่สุดคืออาจจะทำให้เราเห็นแก่ตัวในการใช้ชีวิตได้ แต่พ่อแม่จะกล้ายอมรับไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง
• สังคมไทยยกฐานะพ่อแม่ประหนึ่งเทพเจ้า เช่น “พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูก” “พ่อแม่รักลูกเท่ากัน” แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ พ่อแม่ก็คือคน เป็นคนที่ทำอะไรแย่ ๆ ได้ ตัดสินใจพลาดได้ ลำเอียงได้ เพราะฉะนั้นในฐานะลูก เราก็แค่ต้องยอมรับให้ได้ว่าเขาพลาดตรงนี้ เเละเราจะไม่เป็นแบบเขาเมื่อเรามีครอบครัวของเราเอง
• หากใครรู้สึกผิดที่ไม่ชอบน้องตัวเองหรือมีความรู้สึกอิจฉาพี่ตัวเองก็ไม่ต้องกังวลไป พยายามเข้าใจว่าที่เราเป็นแบบนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพ่อแม่ด้วย เพราะถ้าหากพ่อแม่ยังรักลูกไม่เท่ากัน แล้วจะหวังให้ลูกรักกันมันก็ยาก เด็กทุกคนสัมผัสได้อยู่แล้ว แต่เราจะยังคงหวังดีเสมอกับพี่น้องเรา แล้วเราจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือได้จากตรงนี้
• บางทีที่พ่อแม่ใส่ใจเราน้อยกว่าก็อาจจะเป็นเพราะเรา “น่าเป็นห่วงน้อยที่สุด” เราดูแลตัวเองได้ ไม่ค่อยมีปัญหาให้เขาปวดหัวก็เป็นได้ ดังนั้นพยายามเข้าใจและเติบโตจากตรงนี้ไปเป็นคนที่มีคุณภาพให้สมกับที่พ่อแม่เขาไว้ใจ (แต่ไม่ได้พูดออกมา) ให้เราดูแลตัวเอง
• ใช้มันเป็นบททดสอบในชีวิต ว่าถึงแม้เราจะไม่ใช่ “คนโปรด” ของพ่อแม่หรือคนในครอบครัว แต่เราก็รักตัวเองมากพอที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตที่เหลือได้ เพราะความรักที่ดีอาจจะไม่ใช่ความรักที่คนอื่นมีให้กับเรา แต่เป็นความรักที่เรามีให้กับตัวเองต่างหาก
หวังว่าบทความนี้จะโอบกอดใครหลายคนที่อาจจะ “ไม่ใช่ลูกคนโปรด” ในบ้านได้ไม่มากก็น้อย บางทีถ้าเราลองมองไปรอบ ๆ ตัวเรา เราอาจจะเห็นความรัก ความหวังดีจากคนอื่นอีกมากมายที่อาจจะไม่ได้ร่วมสายเลือด จากเพื่อนซี้ของเรา จากคนรักของเรา ขอให้ดูแลหัวใจให้ไม่โกรธ ไม่เกลียดเอาไว้ ในอนาคตเราอาจจะเจอคนดี ๆ อีกมากมายที่จะเข้ามาทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็น “คนโปรด” ของพวกเขา
แหล่งข้อมูล
- Jeffrey Kluger: The sibling bond | TED Talk
- คุยกับ พญ.พนิดา รณไพรี พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากันจริงหรือ แล้วคนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องจริงไหม
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป