ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถทางอารมณ์ในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงมาก ๆ จะตัดสินใจได้ดี ควบคุมตนเองได้ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ไม่หัวร้อน เมื่อผิดหวังก็ไม่ดำดิ่ง เข้าใจสถานการณ์ทางสังคม ไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ สามารถสู้ปัญหาชีวิตได้ และไม่ปล่อยให้ความเครียดท่วมท้นจนทำอะไรไม่ถูก
ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะบอกว่าทำไมคนฉลาดถึงเรียนดี มีเกรดสวย ๆ ก็เพราะเขาฉลาดน่ะซิ ดังนั้นในงานวิจัยเก่า ๆ จึงชี้ว่า คนฉลาด (คนที่มี IQ สูง) จะเรียนได้ดีกว่าคนทั่วไปถึง 15% ส่วนคนที่ละเอียด รอบคอบ (Conscientiousness) จะเรียนได้ดีกว่า 5% แต่เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยจากเว็บไซต์ข่าวจิตวิทยา Psychology Today ตีพิมพ์ว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สามารถเรียนได้ดีกว่าคนทั่วไปถึง 12% เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่การพัฒนาด้านสมองเท่านั้นที่จะทำให้เราเรียนดีขึ้น แต่การพัฒนาด้านอารมณ์ก็มีแนวโน้มทำให้เราเรียนดีขึ้นได้ด้วย !
ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้เหตุผลอยู่ 3 ข้อด้วยกันว่าทำไมคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ถึงเรียนดีขึ้นกว่าคนที่ไม่มี
ความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้นักเรียนรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีเมื่อเป็นเรื่องของการเรียน เช่นรู้สึกประหม่าเกี่ยวกับการสอบ รู้สึกผิดหวังกับคะแนนที่ออกมาน้อย รู้สึกท้อแท้เมื่อพยายามอย่างสุดความสามารถแล้วแต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ หรือรู้สึกเบื่อเมื่อต้องเรียนในวิชาที่ไม่ชอบ แต่คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะรู้ทันอารมณ์ของตัวเองและจัดการอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นจากการเรียนได้ และรู้จักใช้วิธีที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดเพื่อไม่ให้อารมณ์พาไปจนทำให้เสียการเรียน
ความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้เรารักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับครูผู้สอนหรือกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันได้ เช่น ไม่กลัวที่จะเดินเข้าไปถามครูเมื่อไม่เข้าใจ ไม่เขินที่จะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนเมื่องงกับบทเรียน แถมยังสามารถเข้ากับเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ เมื่อต้องทำงานกลุ่ม และรู้จักที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการใครสักคนในยามผิดหวังจากการเรียน จากการรู้จักใช้อารมณ์เชิงบวกแก้ไขสถานการณ์
ในบางวิชาที่เกี่ยวกับสังคม เช่น วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา เป็นต้น วิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับต้องแสดงออกทางอารมณ์และการเรียนรู้ทางสังคม คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะวิชาเหล่านั้นต้องการคนที่มีความเข้าใจเรื่องอารมณ์ แรงจูงใจเป็นอย่างดี
“ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตัวเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้”
ฝึกสังเกตอารมณ์ตัวเอง
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ไหนก็รู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่ารู้สึกยังไง หมั่นสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ เพราะหากเราไม่รู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่ากำลังรู้สึกยังไง เราก็จะไม่สามารถหาวิธีโต้ตอบได้อย่างถูกต้อง รวมถึงไม่สามารถควบคุมวิธีการโต้ตอบกับผู้อื่นได้อีกด้วย เช่น เมื่อเพื่อนมาสายเกินเวลานัดไปมาก เรารู้สึกว่าเราโกรธที่เพื่อนมาสาย แต่เราก็รู้ว่าถ้าหากเราแสดงอารมณ์โกรธออกไปอาจจะทำให้นัดวันนี้ไม่สนุก เราจึงเลือกที่จะถามเพื่อนดี ๆ ว่าทำไมมาสาย
ทำความเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น
เพราะหากเราจะเอาแต่ความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้ง เราก็จะกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ทันที เราควรฝึกรับรู้อารมณ์ของคนอื่นด้วยการฟัง สังเกต ผ่านคำพูด น้ำเสียงและภาษากาย เพื่อที่จะตอบโต้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม หรือตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกยังไง เช่น เมื่อเพื่อนมาสายเพราะว่าขึ้นรถผิดคัน จากที่พร้อมด่า เราก็ต้องเข้าใจว่าเพื่อนไม่ได้อยากจะมาสายและคงรู้สึกผิดที่ทำให้เรารอ ดังนั้นก็ต้องให้อภัยเพื่อน
ฝึกจัดการกับอารมณ์
พยายามใช้สมองมากกว่าอารมณ์ รู้จักหักห้าม ยืดหยุ่น และเลือกใช้อารมณ์เชิงบวกในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ควบคุมความอยากได้ อยากเป็น ไม่ได้ดั่งใจ และสามารถควบคุมอารมณ์ให้สงบได้โดยที่ไม่ต้องเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ และคิดอยู่เสมอว่าเราเป็นคนรับผิดชอบอารมณ์ของตัวเองไม่ใช่คนอื่น
เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาอารมณ์อยู่เสมอ
เราไม่สามารถที่จะมีความฉลาดทางอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง จนกว่าเราจะถูกทดสอบด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้จนสามารถมีความฉลาดทางอารมณ์ได้ตามวัย จากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม การเล่นกีฬา การแข่งขันต่าง ๆ การเข้าสังคม สังสรรค์กับเพื่อน เพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ
แหล่งข้อมูล
- Why You Need Emotional Intelligence to Succeed at School
- คู่มือความฉลาดทางอารมณ์
เว็บไซต์ปลูกเฟรนส์ดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป