หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน (๒)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-03-27 16:07:31
หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน (๒)
ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖ ราชบัณฑิตยสถานได้นำ "อัญประกาศ" กับ "อัญประกาศเดี่ยว" มาอธิบายไว้ในหัวข้อเดียวกัน ตัด "เสมอภาค หรือ เท่ากับ" และ "สัญประกาศ" ทิ้งไป แล้วเพิ่มเครื่องหมายอีก ๓ เครื่องหมาย ดังนี้
เครื่องหมาย ชื่อภาษาไทย ชื่อภาษาอังกฤษ
. จุด dot, point
: ต่อ
___ ยัติภาค dash
จะเห็นได้ว่า เครื่องหมายวรรคตอนส่วนใหญ่ได้มาจากภาษาอังกฤษ ดังที่ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้อธิบายไว้ว่า
"เครื่องหมายวรรคตอนแบบใหม่นี้ ตั้งขึ้นตามแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาใช้ตัวอักษรโรมัน เขียนหมดคำหนึ่งก็เว้นวรรคทีหนึ่ง เขาจึงจำเป็นต้องมีเครื่องหมายจุกจิกมาก..."
(พระยาอุปกิตศิลปสาร หลักภาษาไทย ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๓๕ หน้า ๓๑๐)
ส่วนเครื่องหมายวรรคตอนของไทยที่เรียกว่าเครื่องหมายวรรคตอนโบราณนั้น ได้อธิบายไว้ ๙ เครื่องหมาย ดังนี้ คือ
เครื่องหมาย ชื่อ
๑. ๏ ฟองมัน หรือ ตาไก่
๒. ๏_ ฟองมันฟันหนู หรือ ฟันหนูฟองมัน
๓. ฯ อังคั่นเดี่ยว คั่นเดี่ยว หรือ คั่น
๔. ๚ อังคั่นคู่ หรือ คั่นคู่
๕. ๚ะ หรือ ฯะ อังคั่นวิสรรชนีย์
๖. ๛ โคมูตร
๗. ๎ ยามักการ
๘. ์ ทัณฑฆาต
๙. ตีนครู หรือ ตีนกา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงกล่าวถึงเครื่องหมายวรรคตอนนี้ไว้ว่า
"เครื่องหมายวรรคตอนของเรานั้น มีตาไก่ ๏ เป็นเครื่องหมายขึ้นบรรทัดใหม่ เพราะแต่ก่อนนี้เขียนต่อกันไปโดยไม่ขึ้นบรรทัดใหม่ แต่มาบัดนี้เราใช้วิธีขึ้นบรรทัดใหม่แล้วก็ไม่ต้องใช้ตาไก่ ส่วนเครื่องหมายจบประโยค (full stop) นั้น เรามีไปยาล แต่บัดนี้เราเห็นว่าจุดของฝรั่งสะดวกกว่า เราก็ใช้จุดแทนไปยาล"
(พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ "สยามพากย์" ใน ๑๐๐ ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ คณะกรรมการอำนวยการโครงการฉลอง ๑๐๐ ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ๒๔๓๔ หน้า ๑๘๗)
ในปัจจุบันนี้มิได้มีการบังคับให้ทุกคนใช้ เพียงแต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมและตามความต้องการ หลักเกณฑ์ที่ราชบัณฑิตยสถานพิมพ์เผยแพร่นี้ เป็นเพียงแนวทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้เท่านั้น
ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน