วันโอโซนโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.6K views



วันโอโซนโลก
ทุกวันที่ 16 กันยายนของทุกปี  


 วันที่ ๑๖ กันยายนของทุกปี ถือเป็น “วันโอโซนโลก”
เกิดขึ้นจากการที่ ๓๑  ประเทศทั่วโลก ส่งตัวแทนไปประชุมร่วมกันที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา  และได้ร่วมกันจัดตั้งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการป้องกันบรรยากาศชั้นโอโซนขึ้น  ซึ่งภายใต้อนุสัญญานี้ได้จัดทำพิธีสารมอนทรีออลโดยระบุประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้อง เลิกผลิตและใช้ สารที่ทำลายชั้นโอโซน  เพิ่อความปลอดภัยของโลกประชุมกันเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๘๗  พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๙  ไทยเราก็ได้ร่วมลงนามในพิธีสารฯ นี้ด้วย โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙  ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้วางแผนลดและเลิกใช้สารทำลายโอโซนมาโดยตลอด คาดว่าจะเลิกใช้ทั้งหมดได้ภายในสี่ปีข้างหน้า ตามที่พิธีสารฯ กำหนด
 

บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องป้องกันบรรยากาศชั้นโอโซนกันเสียขนาดนั้น  ก็เนื่องจากว่า ก๊าซโอโซนซึ่งอยู่ในบรรยากาศระดับสูงที่เรียกว่าชั้นสตราโตสเฟียร์  โดยจับตัวกันเป็นก้อนปกคลุมโลกบางแห่งหนาและบางแห่งบางนั้น จะทำหน้าที่ปกป้องโลกจากรังสีอุลตราไวโอเลต(UV) เหมือนกับการกรองเสียชั้นหนึ่งก่อน  เพราะถ้ารังสีอุลตราไวโอเล็ตลงมาถึงโลกโดยตรงได้ละก็ โลกจะร้อน มนุษย์และสัตว์จะเป็นอันตรายไปต่างๆ นานา เช่น จะเป็นมะเร็งผิวหนัง ตาเป็นต้อหรือมัวลง  ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะถูกทำลาย  พืชและสัตว์ก็อาจจะกลายพันธุ์ไปจากเดิมได้  ทั้งยังทำลายจุลินทรีย์ต่างๆ ด้วย เหล่านี้เป็นต้น  ดังนั้นการป้องกันบรรยากาศชั้นโอโซนก็เหมือนกับมนุษย์ป้องกันภัยให้กับตัวเองนั่นเอง
 

อะไรเป็นตัวการทำลายโอโซน  

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๔  มาริโอ โมลินา กับเชอร์วู้ด ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทำวิจัยพบว่า สารชนิดหนึ่ง ชื่อสาร CFCS (Chlorofluorocarbon) มีชื่อทางการค้าว่า ฟรีรอน  อันเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ  เยอะแยะไปหมด เช่น ใช้ทำให้เกิดความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ใช้ในการผลิตโฟม  พลาสติค   ใช้เป็นสารทำลายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และใช้เป็นสารขับดันในผลิตภัณฑ์สเปรย์ต่างๆ  เป็นต้น นี่แหละเป็นตัวทำลายโอโซนอย่างมาก   การค้นพบครั้งนี้ทำให้ทั้งสองคนได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมีปี  ค.ศ.๑๙๙๕ และนำไปสู่ข้อตกลงยุติการใช้สาร CFCS อย่างสิ้นเชิงตามพิธีสารฯกำหนดอย่างที่กล่าวข้างต้น 


เราจะทำอะไรเพื่อช่วยโลกได้บ้าง

      แม้จะมีสนธิสัญญาเพื่อลดและเลิกการใช้สารซีเอฟซีแล้ว แต่สารซีเอฟซียังจำเป็นต่ออุตสาหกรรมบางชนิด จึงยังมีการใช้ซีเอฟซีกันอยู่อีกต่อไป ก๊าซโอโซนก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบเป็นภาวะโลกร้อนอย่างที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลก จะสามารถช่วยลดสาร CFC ได้โดย

 

1. เลือกซื้อและใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs

 

2. หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน รวมหมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ้าน

 

3. ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ปล่อยสาร CFC ที่จะออกมาทำลายชั้นโอโซนได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนตู้เย็นที่ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่เปิดตู้เย็นบ่อย เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก

 

4. เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟมทั้งหลาย ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย

 
 
สารทดแทนและเป็นมิตรกับโอโซน Alternative Ozone-friendly 
 

      ปัจจุบันมีการผลิตในประเทศอุตสาหกรรมกันอย่างกว้างขวาง แม้ในประเทศกำลังพัฒนาเช่น อินเดีย จีน บราซิล   ผู้ผลิตสินค้าต่างๆมีการตื่นตัวในการลดการใช้สาร CFCs และหันมาใช้สารทดแทนเป็นส่วนประกอบในการผลิต โดยมีระบุในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการใช้สาร CFCs หรือใช้สารทดแทนต่างๆ ซึ่งได้แก่

 

1.  ภาคของเครื่องทำความเย็น

     ก.      ตู้เย็นผลิตใหม่  (New refrigeration units) ใช้สารทดแทนเป็น HFC-134a, สารไฮโดรคาร์บอนต่างๆ HFC blends, HCFC 22 และ แอมโมเนีย

     ข.      เครื่องปรับอากาศ (Air-cooled air conditioning units) ใช้ HFC-134a, HFC blends

     ค.      เครื่องทำน้ำเย็นในระบบปรับอากาศ (Chiller equipment) ใช้ HFCs, HCFC และ HFC blends

     ง.      เครื่องปรับอากาศรถยนต์ (Mobile Air Conditioners) ใช้ HFC-134a, HFC blends

 

2.  ภาคการผลิตโฟม ใช้สารทดแทนที่ศักยภาพการทำลายโอโซนเป็นศูนย์ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์  ไฮโดรคาร์บอนต่างๆ HFC-152a หรือ HFC-134a และ HCFCs

 

3.  ละอองสเปรย์ (Aerosols) ใช้สารทดแทนได้แก่ สารไฮโดรคาร์บอนต่างๆ เช่น โพรเพน บิวเทน และ ไอโซ-บิวเทน HCFC, HFCs ไดเมธิล อีเทอร์ และ เพอฟลูโอรอลอีเทอร์ เป็นต้น

 

4.  การทำลายเชื้อโรค ใช้สารทดแทนที่ศักยภาพการทำลายโอโซนเป็นศูนย์ ได้แก่ เอธิลีนออกไซด์ 100% ส่วนผสมของเอธิลีนออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ การสเตอริไรซ์ และ การใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ รวมไปถึง HCFCs ต่างๆ

 

5.  ตัวทำละลายคาร์บอนเตตระคลอไรด์ ใช้สารทดแทนเป็นสารอินทรีย์เช่น อัลกอฮอล์  คีโตน และ อีสเตอร์  หรือ ที่มีคลอรีนคือ เพอคลอโรเอธิลีน เป็นต้น  สารทดแทนเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ

 

6.  เครื่องดับเพลิง (Fire-Fighting) ให้มีการใช้สารเฮลอน กรณีจำเป็นเท่านั้น ส่วนสารทดแทน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือผงแป้ง

 

7.  สารชะล้าง (Solvents) ทดแทน CFC-113 และเมธิลคลอโรฟอร์ม เช่นการทำความสะอาดด้วยของเหลวและกึ่งของเหลว ใช้ไฮโดรคาร์บอน HCFCs เพอฟลูออโรคาร์บอน และ วิธีอื่นๆที่ไม่ใช่สารชะล้าง

 

8.  เมธิลโบรไมด์ ใช้สารทดแทนในขบวนการอบหรือพ่นในดิน ได้แก่  การใช้แสงอาทิตย์  การพ่นไอน้ำ การควบคุมทางชีวภาพ การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชไร้ดิน และสารเคมีเช่น คลอโรพิริน เมธัมโซเดียม  ดาโซเมต ฯลฯ



 

ที่มา
     - ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก : วรนุช  อุษณกร
     - www.tmd.go.th/

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันโอโซนโลก"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ