ปฏิกิริยานิวเคลียร์ เกิดขึ้นในระดับนิวเคลียส เมื่อเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ นิวเคลียสของธาตุตั้งต้นจะเปลี่ยนเป็นนิวเคลียสของธาตุใหม่ พลังงานยึดเหนี่ยว เป็นพลังงานที่ได้จากมวลอะตอมที่หายไปหลังเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ โดยปฏิกิริยานิวเคลียร์มี 2 ประเภท ได้แก่ นิวเคลียร์ฟิชชัน และนิวเคลียร์ฟิวชัน
1. นิวเคลียร์ฟิชชัน (fission)
เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเมื่อนิวเคลียสของธาตุหนัก เช่น ยูเรเนียม-235 เกิดการแตกตัวออกเป็น 2 นิวเคลียส มวลอะตอมรวมหลังเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์มีค่าลดลง ซึ่งมวลอะตอมรวมที่หายไป จะกลายเป็นพลังงาน ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจะเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้ได้พลังงานมหาศาล
2. นิวเคลียร์ฟิวชัน (fusion)
เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเมื่อธาตุเบารวมกันกลายเป็นธาตุหนัก เช่น การรวมกันของดิวทิเรียม กับทริเทียม กลายเป็นฮีเลียม กับนิวตรอน นิวเคลียร์ฟิวชันจะให้พลังงานต่อมวลมากกว่านิวเคลียร์ฟิชชันประมาณ 3.2-4.6 เท่า เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์
การควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ทำได้โดย ควบคุมการเกิดปฏิกิริยาให้อยู่ในบริเวณจำกัด และใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็ก
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร