แม้ว่าดวงจันทร์จะมีขนาดเล็ก แต่เมื่ออยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์บนโลกมาก เช่น ข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง นอกจากนี้ ดวงจันทร์ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เกิดในระบบที่มีโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ได้แก่ สุริยุปราคา และจันทรุปราคา
ข้างขึ้นข้างแรม (The Moon’s Phases) เกิดขึ้นเนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีแสงในตัวเอง มีด้านสว่างเกิดจากการสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ แต่ด้านตรงข้ามจะเป็นเงามืด ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ทำให้มุมระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เปลี่ยนแปลงไปวันละ 12 องศา เมื่อมองดูดวงจันทร์จากโลก เราจึงมองเห็นเสี้ยวของดวงจันทร์มีขนาดเปลี่ยนไปเป็นวงรอบดังภาพ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน
คนไทยแบ่งเดือนทางจันทรคติ (Lunar month) ออกเป็น 30 วัน คือ วันขึ้น 1 ค่ำ – วันขึ้น 15 ค่ำ และ วันแรม 1 ค่ำ – วันแรม 15 ค่ำ โดยถือให้วันขึ้น 15 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง), วันแรม 15 ค่ำ (ดวงจันทร์มืดทั้งดวง), วันแรม 8 ค่ำ และวันขึ้น 8 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง) เป็นวันพระ
- วันแรม 15 ค่ำ เมื่อดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านเงามืดเข้าหาโลก ตำแหน่งปรากฏของดวงจันทร์อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้เลย
- วันขึ้น 8 ค่ำ เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน
- วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ (Full Moon) ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง
- วันแรม 8 ค่ำ ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน
น้ำขึ้นน้ำลง คือ ปรากฏการณ์ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและลดลงเป็นช่วงๆ ในแต่ละวัน เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างมวลของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โลก และน้ำ น้ำขึ้นเกิดบนผิวโลกด้านที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์และตรงกันข้ามกับดวงจันทร์ ส่วนน้ำลงเกิดบนผิวโลกด้านที่ตั้งฉากกับตำแหน่งของดวงจันทร์ ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงเกิดจากแรงไทดัล
แรงไทดัล คือ แรงโน้มถ่วงที่กระทำระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ แรงนี้มีค่าไม่เท่ากันในแต่ละตำแหน่งบนพื้นผิวโลกโดยส่งผลต่อพื้นผิวที่เป็นน้ำมากกว่า ดวงอาทิตย์มีบทบาทต่อการเกิดน้ำขึ้นน้ำลงประมาณครึ่งหนึ่งของผลจากดวงจันทร์เท่านั้น
แต่ในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ทำให้แรงไทดัลจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เสริมกันมากที่สุด น้ำขึ้นจึงขึ้นสูงสุดและน้ำลงจึงลงต่ำสุด เรียกว่า “น้ำเกิด” ส่วนวันขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ แรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ตั้งฉากกัน จึงหักล้างกัน ทำให้น้ำขึ้นและลงไม่มากนัก หรือเรียกว่า “น้ำตาย”
น้ำทะเลขึ้นวันละ 2 ครั้ง และลงวันละ 2 ครั้ง มีช่วงเวลาระหว่างน้ำขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุดคือ 6 ชั่วโมง 12 นาที ทำให้น้ำขึ้นครั้งแรกถึงครั้งถัดไปห่างกัน 12 ชั่วโมง 24 นาที และวันถัดไปน้ำจะขึ้นสูงสุดช้าลงวันละ 48 นาที
วันน้ำเกิด คือ วันที่น้ำทะเลมีการขึ้นหรือลงสูงสุด ได้แก่ วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ
วันน้ำตาย คือ วันที่น้ำทะเลมีการขึ้นหรือลงน้อยที่สุด ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ
สุริยุปราคา (Solar eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตบนโลก เห็นดวงอาทิตย์มืดทั้งดวง หรือมืดบางส่วน เนื่องจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก ทำให้เงาของดวงจันทร์ตกลงบนโลก สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในเวลากลางวันของวันแรม 15 ค่ำ
สุริยุปราคาแบ่งได้เป็น 3 แบบ ได้แก่
1. สุริยุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อเงามืดของดวงจันทร์ตกลงบนพื้นโลก และผู้สังเกตอยู่ในเงามืด จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้เมื่อดวงจันทร์อยู่ไม่ไกลจากโลกมากเกินไป แต่ช่วงเวลาที่สามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงจะสั้นมากมักกินเวลาไม่กี่นาที
2. สุริยุปราคาบางส่วน ผู้สังเกตที่อยู่ในเงามัว จะเห็นดวงอาทิตย์มืดเพียงบางส่วน ช่วงเวลาที่สามารถเห็นสุริยุปราคาบางส่วนจะนานกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง
3. สุริยุปราคาวงแหวน เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกพอสมควร เงามืดของดวงจันทร์จึงไม่ตกบนผิวโลก แต่เงาลบตกบนโลกแทน
จันทรุปราคา (Lunar eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มืดทั้งดวง หรือมืดบางส่วน เนื่องจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ทำให้เงาของโลกตกลงบนดวงจันทร์ จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ
จันทรุปราคาแบ่งได้เป็น 3 แบบ ได้แก่
1. จันทรุปราคาเต็มดวง ผู้สังเกตบนโลกเห็นดวงจันทร์มืดทั้งดวง เพราะดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวง
2. จันทรุปราคาบางส่วน ผู้สังเกตบนโลกเห็นดวงจันทร์มืดบางส่วน เพราะดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกเพียงบางส่วน
3. จันทรุปราคาเงามัว เกิดจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในบริเวณเงามัวโดยไม่ผ่านบริเวณเงามืด