ลำต้นเป็นส่วนของพืชที่อยู่ต่อจากรากขึ้นมา ลำต้นมีหน้าที่ เช่น ชูกิ่ง ก้าน ใบ และดอกขึ้นสู่อากาศ เพื่อให้ได้รับอากาศและแสงแดด และเป็นทางลำเลียงน้ำ และลำเลียงแร่ธาตุไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืชโดย ไซเลม และโฟลเอ็ม
ภายในลำต้นมีท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ท่อลำเลียงน้ำ เรียกว่า ไซเล็ม และท่อลำเลียงอาหาร เรียกว่า โฟลเอ็ม ผ่านไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของท่อลำเลียงน้ำ ไปสู่ลำต้นผ่านกิ่งก้านไปยังใบ พืชส่วนมากมีลำต้นอยู่บนดิน แต่พืชบางชนิดมีลำต้นอยู่ใต้ดิน และลำต้นบางชนิดสะสมน้ำและอาหาร
การจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อลำเลียงน้ำและอาหารในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จะกระจายอยู่ทั่วไปในชั้นคอร์เทกซ์ ส่วนในลำต้นของพืชใบเลี้ยงคู่จะเรียงกันเป็นวง โดยไซเล็มอยู่ด้านใน และโฟลเอ็มอยู่ด้านนอก
ลำต้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. ข้อ เป็นส่วนของลำต้นบริเวณที่มีกิ่ง ใบ ตา ดอก และหนามที่งอกออกมาแทนกิ่งหรือใบ
2. ปล้อง เป็นส่วนของลำต้นที่อยู่ระหว่างข้อแต่ละข้อ
3. ตา เป็นส่วนประกอบสำคัญของลำต้น ทำให้เกิดกิ่ง ใบ และดอก โดยตาใบจะเจริญเติบโตไปเป็นใบ ส่วนตาดอกจะเจริญเติบโตไปเป็นดอก และตารวมจะเจริญเติบโตไปเป็นทั้งดอกและใบได้ โดยตาของพืชประกอบด้วยตายอดและตาข้าง
หน้าที่หลักของลำต้นคือ
1. เป็นแกนช่วยชูกิ่ง ใบ ดอก ผล และเมล็ด ช่วยให้ใบกางออกรับแดดในการสังเคราะห์ด้วยแสง
2. เป็นทางลำเลียงน้ำและแร่ธาตุที่รากดูดขึ้นมาส่งต่อไปยังใบ และส่วนต่าง ๆ ของพืช
3. เป็นทางลำเลียงอาหารที่ใบสร้างขึ้น ส่งผ่านลำต้นไปยังรากและส่วนอื่น ๆ
นอกจากนี้ ลำต้นยังมีหน้าที่พิเศษอื่น ๆ อีก เช่น การสะสมอาหาร การสังเคราะห์ด้วยแสง การขยายพันธุ์ การคายน้ำ หรือลำต้นเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษ เช่น มือเกาะ ลำต้นเลื้อยพันหลัก ลำต้นเปลี่ยนเป็นหนาม เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร