สถานะของสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 147.1K views



ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเกี่ยวข้องกับสารต่าง ๆ ในทางวิทยาศาสตร์เราเรียกสารที่จับต้องได้ว่าสสาร สถานะของสารยังจำแนกได้เป็น 3 สถานะ ได้แก่ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส

ภาพ : shutterstock.com

         สสาร (matter) คือ สิ่งที่มีมวล ต้องการที่อยู่ จับต้องสัมผัสได้ สิ่งของหรือสารต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราล้วนแต่เป็นสสารทั้งสิ้น เช่น อาหาร อากาศ ดิน น้ำ แร่ธาตุ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ (พืช, สัตว์, มนุษย์) ซึ่งเราสามารถแบ่งอย่างง่าย ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่ สารที่มีอยู่ในธรรมชาติและสารที่มนุษย์สร้างขึ้น

         การจำแนกสารออกเป็นหมวดหมู่มักใช้สมบัติต่าง ๆ ของสารเป็นเกณฑ์ เช่น สถานะ ลักษณะเนื้อสาร กลิ่น การนำไฟฟ้า ความเป็นกรด-เบส จุดหลอมเหลว จุดเดือด อาจใช้สมบัติประการเดียวของสารในการจำแนกสารหรือใช้สมบัติหลายประการประกอบกันในการจำแนกสาร

         สารแต่ละชนิดประกอบด้วยเนื้อสารที่เป็นอนุภาคเล็ก ๆ ที่อยู่รวมกันมากมาย อนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ การจัดเรียงอนุภาคและการยึดเหนี่ยวของอนุภาคทำให้สารแต่ละชนิดแสดงสมบัติของของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส

ถ้าใช้สถานะเป็นเกณฑ์ สามารถจำแนกสารได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ของแข็ง

         ของแข็งมีรูปร่างและปริมาตรไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอนุภาคอยู่กันอย่างหนาแน่นมาก จึงมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคมาก อนุภาคไม่เคลื่อนที่แต่มีการสั่น เช่น เหล็ก ทองแดง น้ำแข็ง เป็นต้น

2. ของเหลว

         ของเหลวมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ แต่ปริมาตรไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอนุภาคของของเหลวอยู่กันอย่างหลวม ๆ จึงมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคน้อยกว่าของแข็ง อนุภาคมีการสั่นและเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปทั่วของเหลว เช่น น้ำ แอลกอฮอล์ น้ำมัน เป็นต้น

3. แก๊ส

         เป็นสถานะที่สารนั้นฟุ้งกระจาย มีรูปร่างและปริมาตรเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่ใช้บรรจุ เพราะอนุภาคของแก๊สอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคน้อยมากจนถือว่าไม่มีแรงยึดเหนี่ยว และเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างอิสระรวดเร็ว เช่น ไอน้ำ แก๊สออกซิเจน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น