เมฆ ฝน หมอก น้ำค้าง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 83.2K views



มรุตเทพ วงษ์วาโย

 

        เมฆ คือ ไอน้ำที่ควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำลอยตัวอยู่ในระดับสูงจากพื้นดิน ฝนคือละอองน้ำจากเมฆที่รวมตัวกันมากพอจนตกลงมาถึงพื้น ทั้งหมอกและน้ำค้างเกิดจากไอน้ำที่ควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำในระดับต่ำใกล้พื้นดิน โดยหมอกจะเกาะฝุ่นละอองล่องลอยไปเป็นควันสีขาว ส่วนน้ำค้างจะรวมตัวกันเป็นหยดน้ำเกาะอยู่บนวัตถุที่มีความเย็น​

ภาพ : shutterstock.com

เมฆ

        ไอน้ำ คือ น้ำในสถานะของแก๊ส เมื่อน้ำกลายเป็นไอความหนาแน่นจะน้อยลง ไอน้ำจึงถูกอากาศที่มีความหนาแน่นมากกว่าเบียดแทรกให้ออกห่างจากพื้นผิวโลก เราจึงเห็นไอน้ำลอยตัวสูงนั่นเอง​

        เมื่อไอน้ำลอยสูงขึ้นไปบนฟ้า จะกระทบกับอากาศเย็นข้างบนนั้น เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายเทพลังงานกับอากาศเย็น ไอน้ำจึงสูญเสียพลังงานและอุณหภูมิลดต่ำลงจนเกิดการควบแน่นกลายเป็นของเหลว คือละอองน้ำเล็ก ๆ เมื่อเกาะกลุ่มกันมาก ๆ เราจึงเห็นเป็นก้อนเมฆ

        ก้อนเมฆลอยอยู่บนฟ้าได้ เพราะมีอากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปพยุงไว้ หากละอองน้ำมีขนาดไม่ใหญ่พอ เมื่อร่วงหล่นลงมาก็จะเจอกับแรงต้านของอากาศ น้ำจะได้รับพลังงานจนกลับไปเป็นไอน้ำและลอยขึ้นไปอีกครั้ง ซึ่งหากไอน้ำลอยสูงขึ้นไปมาก ๆ ก็จะเจอกับอากาศเย็นจัด จนเกิดการแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งเล็ก ๆ รวมตัวกันเป็นเมฆชั้นสูง ดังนั้น เมฆจึงเป็นได้ทั้ง ของแข็ง ของเหลวและแก๊ส

ภาพ : shutterstock.com

ฝน
        แต่หากละอองน้ำในเมฆเกิดการรวมตัวกันจนมีขนาดของหยดน้ำที่ใหญ่พอ ก็จะตกลงมาสู่พื้นดินโดยไม่ระเหยไปในชั้นบรรยากาศจนหมดเสียก่อน ซึ่งเราเรียกว่า น้ำฝน

ภาพ : shutterstock.com

หมอก
        เมื่อน้ำระเหยกลายเป็นไอ บางครั้งก็ไม่ได้ลอยขึ้นไปสูงเป็นก้อนเมฆ หากไอน้ำปะทะกับความเย็นที่บริเวณเหนือพื้นดินหรือพื้นผิวน้ำ ไอน้ำนั้นก็จะควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ ลอยเกาะกลุ่มกันเหนือพื้นดินไม่มาก โดยเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าหมอก

ภาพ : shutterstock.com

น้ำค้าง
        เมื่อพื้นดินเย็นตัวลงมากอย่างเช่นในเวลากลางคืนและเช้ามืด หากอากาศบริเวณนั้นมีความชื้นสูง (มีไอน้ำในอากาศมาก) ไอน้ำก็จะเกิดการควบแน่น กลายเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ บริเวณเหนือพื้นดิน เช่น ยอดหญ้า ใบไม้ พื้นหิน รั้วเหล็ก ใบจอบ เสียม เราเรียกน้ำที่เกิดในลักษณะนี้ว่า น้ำค้าง