ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์ภายใต้สภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดลักษณะเฉพาะหรือทำให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษในพื้นที่นั้น ๆ ขึ้น เรียกว่า ปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์
1.ลักษณะโครงสร้างของโลก
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบและโครงสร้างของโลก โดยศึกษาเกี่ยวกับเศษชิ้นส่วนที่ภูเขาไฟพ่นออกมา ตลอดจนเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่อยู่ในอวกาศและตกลงมายังพื้นผิวโลก ซึ่งจากการศึกษาสรุปได้ว่า โลกมีโครงสร้างและส่วนประกอบซึ่งแบ่งได้ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นเปลือกโลก (crust) ชั้นเนื้อโลก (mantle) และชั้นแก่นโลก (core)
1.1 ชั้นเปลือกโลก
เป็นพื้นผิวโลกที่อยู่ชั้นนอกสุด หนาประมาณ 35 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ชั้นไซอัล (sial layer) เป็นชั้นหินสีจาง มีแร่ซิลิกาเป็นส่วนใหญ่ และมีอะลูมินาเป็นส่วนประกอบ ตัวอย่างของเปลือกโลกชั้นไซอัล ได้แก่ หินแกรนิตชนิดต่าง ๆ
2. ชั้นไซมา (sima layer) เป็นชั้นหินหนืดที่มีผืนหินแข็งกว่าหินเปลือกโลกชั้นไซอัล ประกอบด้วยซิลิกาและแมกนีเซียม และมีชั้นแนวแบ่งเขตมอฮอรอวีชีชกั้นอยู่ ตัวอย่างหินชั้นไซมา ได้แก่ หินบะซอลต์
1.2 ชั้นเนื้อโลก
เป็นชั้นที่สองของโครงสร้างของโลก หนาประมาณ 2,900กิโลเมตร เป็นชั้นที่มีหินเย็นตัวแล้ว สันนิษฐานว่าชั้นนี้ประกอบด้วยหินชนิดเดียวกันตลอดชั้น
1.3 ชั้นแก่นโลก
เป็นโครงสร้างชั้นในสุดของโลก แบ่งออกเป็น 2 ชั้นย่อย ได้แก่
1. แก่นโลกชั้นนอก (outer core) หนาประมาณ 2,200 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินหนืดซึ่งเป็นหินหลอมละลายที่มีอุณหภูมิสูง มีแร่หลายชนิดและแก๊สกำมะถันละลายรวมอยู่ด้วย
2. แก่นโลกชั้นใน (inner core) หนาประมาณ 2,500 กิโลเมตร เป็นชั้นของแข็งที่เป็นโลหะเหล็กและนิกเกิลที่อัดตัวกันแน่นภายใต้ความกดดันสูง และมีแรงดึงดูดมวลวัตถุอื่น ๆ เข้าสู่ศูนย์กลางของโลกมาก
2.ลักษณะภูมิประเทศของโลก
ปัจจัยที่ทำให้เปลือกโลกเปลี่ยนแปลงมี 2 ประการ คือ ปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากพลังงานที่เกิดขึ้นภายในโลก และปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากภายนอกโลก
ลักษณะภูมิประเทศแต่ละแบบนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลและมีปฏิสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ของประชากรอีกด้วย ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปัจจัยส่งเสริม เช่น ที่ราบ ส่วนที่เป็นอุปสรรค เช่น ที่ราบสูง
2. ความสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อม ลักษณะภูมิประเทศมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1) ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูมิประเทศแบบภูเขามักจะเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรแร่ ป่าไม้ สัตว์ป่า
2) ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ เช่น ที่ยอดเขามีระดับอุณหภูมิต่ำกว่าเชิงเขา
3. กระบวนการสำคัญที่ส่งผลให้เกิดลักษณะภูมิประเทศของโลก
กระบวนการที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พื้นผิวโลกและเปลือกโลกเปลี่ยนแปลงมีอยู่ 3 กลุ่ม ดังนี้
3.1 กระบวนการแปรสัณฐาน (tectonic process)
เป็นกระบวนการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกอันเป็นผลจากแรงที่กระทำต่อเปลือกโลก แล้วทำให้โครงสร้างของหินที่ประกอบเป็นเปลือกโลกเกิดการแปรสภาพไปเป็นภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น มหาสมุทร ที่ราบสูง ภูเขา
3.1.1 รอยคดโค้ง (fold)
เกิดจากแรงดันภายในเปลือกโลก ทำให้เปลือกโลกบีบอัดกันจนโค้งงอ แล้วเกิดเป็นภูเขา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ชั้นหินโค้งรูปประทุน (anticline) ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางจะมีอายุแก่ที่สุด
2. ชั้นหินโค้งรูปประทุนหงาย (syncline) ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางจะมีอายุอ่อนที่สุด
3.1.2 รอยเลื่อน (fault)
รอยเลื่อนเกิดจากบริเวณเปลือกโลกที่มีความอ่อนตัว เกิดความเค้นและความเครียด จนทำให้เปลือกโลกเคลื่อนไหว และแยกออกจากกัน การเกิดรอยเลื่อนโดยทั่วไปมี 2 ทิศทาง ได้แก่
1. การเกิดรอยเลื่อนในแนวดิ่ง มี 2 แบบ คือ
1) รอยเลื่อนปกติ เกิดจากแรงดึงออกจากกันของหินสองฟาก ทำให้เกิดหน้าผารอยเลื่อนที่มีความสูงชัน
2) รอยเลื่อนย้อน เกิดจากแรงดันเข้าหากันของหินสองฟาก ทำให้เกิดหน้าผาซึ่งมักถล่มได้ง่าย
ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากรอยเลื่อนปกติมี 2 แบบ ได้แก่ หุบเขาทรุดหรือกราเบน (graben) ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งราบที่เกิดจากการทรุดตัวตามแนวรอยเลื่อน และพื้นที่ยกตัวขึ้นตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาสูงที่ขนาบด้วยหน้าผารอยเลื่อนที่เรียกว่า ฮอสต์ (horst) หรือภูเขาบล็อก บริเวณที่ยกตัวสูงหากมีพื้นที่กว้างขวางเรียกว่า ที่ราบสูง
2. การเกิดรอยเลื่อนในแนวนอน เรียกอีกอย่างว่า รอยเลื่อนแนวระดับ (strike fault) เกิดจากการเคลื่อนตัวไปทางด้านข้างขนานกับแนวระดับของชั้นหินที่เลื่อนไป
3.1.3 ภูเขาไฟปะทุ (volcanism)
เกิดจากแมกมาถูกแรงดันผลักดันขึ้นสู่ผิวโลกด้านบน โดยมีแรงปะทุเกิดขึ้น เรียกว่า การปะทุของภูเขาไฟ หินหนืดที่พุ่งขึ้นมาจากการปะทุของภูเขาไฟสู่ผิวโลกนี้เรียกว่า ลาวา
นักธรณีวิทยาจัดแบ่งภูเขาไฟตามลักษณะรูปร่างและการเกิดได้ 3 แบบ ดังนี้
1. ภูเขาไฟแบบกรวยกรวดภูเขาไฟ (cinder cone) มีขนาดเล็กที่สุด ลักษณะเหมือนกรวยที่คว่ำอยู่ เกิดจากหินหนืดถูกดันปะทุออกมาทางปล่องโดยแรง ทำให้ชิ้นส่วนของหินที่ร้อนจัดลุกเป็นไฟปะทุขึ้นไปในอากาศแล้วเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นกรวดภูเขาไฟและขี้เถ้ากองทับกันเป็นชั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ
2. ภูเขาไฟแบบกรวยภูเขาไฟสลับชั้น (composite cone หรือ stratovolcano) มีลักษณะคล้ายแบบแรก แต่ฐานแผ่ขยายใหญ่และลาดจากปากปล่องมาที่ฐานมากกว่า เพราะนอกจากหินหนืดจะถูกดันปะทุขึ้นไปทางปากปล่องโดยตรงแล้ว ยังถูกดันออกมาทางด้านข้างของปล่องอีกด้วย แต่เนื่องจากหินหนืดที่ไหลออกมามีความหนืดสูง จึงไหลไปไม่ไกลนัก
3. ภูเขาไฟรูปโล่ (shield volcano) มีลักษณะกว้างเตี้ยคล้ายรูปโล่คว่ำ เกิดจากหินหนืดที่ไหลออกมาจากปล่องมีอุณหภูมิสูงมากและมีอัตราการไหลเร็วมากจึงไหลไปได้ในระยะทางไกล จึงเป็นภูเขาไฟที่มีรูปร่างกว้างใหญ่ที่สุด
บริเวณขอบทวีปที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรมีโอกาสเกิดภูเขาไฟปะทุมากกว่าบริเวณอื่น ๆ เนื่องจากบริเวณที่เปลือกโลกมุดตัวลงไปจะถูกหลอมกลายเป็นหินหนืดที่มีอุณหภูมิและแรงดันสูงมาก หินหนืดนี้จะถูกแรงดันอัดให้แทรกตัวขึ้นมาตามรอยแตกแยกง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ
การปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้เกิดภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น ทำให้เกิดแอ่งขนาดใหญ่ เรียกว่า แคลดีรา บางแห่งอาจมีน้ำขังจนกลายเป็นทะเลสาบ หรือบางแห่งอาจเกิดเป็นที่ราบสูงภูเขาไฟเนื่องจากลาวาที่ไหลออกมาปกคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง
3.1.4 แผ่นดินไหว (earthquakes)
แผ่นดินไหวเกิดจากการคลายตัวอย่างรวดเร็วของเปลือกโลกที่มีการสะสมพลังความเค้นและความเครียด มักเกิดบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดภูเขาไฟ ผลจากการเกิดแผ่นดินไหว อาจทำให้เกิดการถล่มของแผ่นดิน เกิดรอยแตกรอยแยกบริเวณเปลือกโลก
3.2 กระบวนการปรับระดับผิวแผ่นดิน
กระบวนการปรับระดับผิวแผ่นดินเป็นการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอย่างช้า ๆ ทำให้ระดับพื้นผิวโลกมีระดับราบ หรือลาดสม่ำเสมอ อันเนื่องมาจากตัวการทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำไหล ลม ธารน้ำแข็ง คลื่น และกระแสน้ำ
3.2.1 กระบวนการที่ทำให้เกิดการปรับระดับผิวแผ่นดิน
1. การผุพังอยู่กับที่ (weathering) เป็นกระบวนทางเคมีของลมฟ้าอากาศและน้ำฝน รวมทั้งการกระทำของต้นไม้และแบคทีเรีย การผุพังอยู่กับที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท คือ
1) การผุพังทางกายภาพ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมบัติทางเคมีของหิน เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
2) การผุพังทางเคมี เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแร่ประกอบหินที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น การละลาย (solution) ออกซิเจนทำปฏิกิริยากับแร่ (oxidation)
3) การผุพังทางชีวะ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต เช่น รากของพืชที่ซอกซอนรอยแยกของหินทำให้หินแตกออกมา
2. การกร่อน (erosion) เกิดจากตัวการธรรมชาติที่เคลื่อนที่ได้ เช่น น้ำ ลม
3. การพัดพา (transportation) เกิดจากตัวการธรรมชาติ เช่น ลม ธารน้ำแข็ง พัดพาวัตถุไป
4. การทับถม (deposition) เป็นการเคลื่อนที่ของเศษตะกอนที่ถูกพัดพาไปทับถมยังบริเวณอื่น
3.2.2 ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการปรับระดับผิวแผ่นดิน
1. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของน้ำและแม่น้ำ
การกร่อน การพัดพา และการทับถม เป็นกระบวนการของแม่น้ำที่มีผลต่อลักษณะภูมิประเทศ โดยวิลเลียมเอ็ม. เดวิส (William M. Davis) นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำไว้ ดังนี้
ระยะเริ่มแรกหรือวัยอ่อน (young age) ลักษณะภูมิประเทศจะมีความชันมาก น้ำจะไหลแรง บริเวณนี้ไม่ปรากฏที่ราบน้ำท่วมถึง
วัยหนุ่ม (mature age) น้ำไหลช้าลงและมีลักษณะคดเคี้ยว แม่น้ำจะกัดเซาะบริเวณตลิ่งมากขึ้น เริ่มปรากฏที่ราบน้ำท่วมถึงในบริเวณนี้
วัยชรา (old age) น้ำไหลช้ากว่าวัยหนุ่มและไหลคดโค้งขึ้น มีการตกตะกอนของวัตถุทำให้ท้องน้ำตื้น เกิดพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นบริเวณกว้าง บางบริเวณอาจมีเขาโดด (monadnock)
ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำ
1) แก่ง (rapids) คือ ธารน้ำที่มีโขดหินขวางกั้นกระจายตามท้องน้ำ
2) น้ำตก (waterfall) เกิดจากกระบวนการกัดกร่อนของกระแสน้ำที่ไหลผ่านธารน้ำที่มีชั้นหินรองรับอยู่ จนหินแข็งกร่อนและเปลี่ยนสภาพเป็นผาชันของน้ำตก
3) หุบผาชัน (canyon) เกิดจากการกัดเซาะของน้ำบริเวณท้องน้ำอย่างรวดเร็วจนเป็นร่องลึก เหลือหน้าผาสูงชันทั้งสองด้าน
4) ถ้ำ (cave) มักพบมากในบริเวณที่ภูเขามีลักษณะเป็นหินปูน ซึ่งน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนจะค่อย ๆ กัดกร่อนหินปูนให้กลายเป็นช่องหรือโพรงขนาดใหญ่ และพัฒนามาเป็นถ้ำ และในถ้ำยังพบหินงอก (stalagmite) และหินย้อย (stalactite)
5) ที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain) เป็นที่ราบลุ่มที่อยู่ตามฝั่งของแม่น้ำในระยะวัยหนุ่มและวัยชรา เกิดจากการทับถมของตะกอนในช่วงน้ำหลาก ทำให้น้ำตื้นเขินเกิดเป็นที่ราบ
6) เนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan) เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนในลักษณะที่แยกกระจายออกไปรอบข้างเป็นรูปพัด ถ้าตะกอนสะสมตัวพูนสูงขึ้นจนเป็นรูปกรวยผ่าครึ่งตามยาว เรียกว่า เนินตะกอนน้ำพารูปกรวย ถ้าตะกอนส่วนใหญ่มีเนื้อหยาบ เรียกว่า เนินตะกอนหยาบรูปกรวย
7) ดินดอนสามเหลี่ยม (delta) เกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาตะกอนมาทับถมบริเวณปากแม่น้ำกลายเป็นพื้นดินแผ่กระจายเป็นรูปพัดบริเวณปากแม่น้ำ
2. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของลม
การกระทำของลมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลก ได้แก่ การกร่อน การพัดพา และการทับถม ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น
1) แอ่งในทะเลทราย ลมจะพัดพาเอาวัตถุที่อยู่ตามพื้นผิวดินหรือทะเลทรายขึ้นมา จนทำให้เกิดแอ่งขนาดเล็ก
2) เขาโดดในทะเลทราย (inselberg) เกิดจากการกร่อน โดยลมกระทำต่อภูเขาที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทะเลทรายจนทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป
3) เนินทรายหรือสันทราย (sand dune) เกิดจากลักษณะแผ่นดินที่ตั้งขวางทิศทางลม ทำให้ลมพัดทรายละเอียดมาทับถมกันบริเวณด้านหน้าของสิ่งที่กั้นขวาง
4) ดินเลิสส์ (loess) หรือดินลมหอบ เกิดจากลมพัดพาตะกอนดินมาจากเขตพื้นที่แห้งแล้งมาทับถมกัน
3. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็ง
ธารน้ำแข็งแบ่งออกเป็น 2ประเภท ดังนี้
1) ธารน้ำแข็งหุบเขา (valley glacier) เป็นน้ำแข็งที่เกิดจากการสะสมตัวของหิมะแล้วไหลลงมาตามหุบเขา ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศรูปแบบต่าง ๆ เช่น
เซิร์ก (cirque) เกิดจากธารน้ำแข็งกัดเซาะไหล่เขาให้เป็นแอ่งลึกเข้าไป ถ้าบริเวณแอ่งมีน้ำขังอยู่จะมีลักษณะเป็นทะเลทราย เรียกว่า ทาร์น (tarn)
อาแรต(arête) อยู่ระหว่างแอ่งเซิร์ก 2 แห่ง มักมีลักษณะสันเขาหยักแหลม ๆ
ฮอร์น (horn) คือบริเวณที่มีแอ่งเซิร์ก 3 แอ่ง หรือมากกว่านั้นหันหลังชนกัน จะเกิดยอดเขาแหลมรูปพีระมิดสูง
หุบเขาธารน้ำแข็ง (glacial trough) คือบริเวณหุบเขาที่มีลักษณะลึกและกว้าง ขอบสูงชันคล้ายตัวยู (U-Shape valley) ถ้าหุบเขานี้อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นหุบเขาแคบ ๆ มีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า ฟยอร์ด (fiord)
2) ธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีป (continental glacier) พบอยู่บนภาคพื้นทวีปในเขตละติจูดสูง ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการกร่อน พัดพา และการทับถม เช่น
ทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacier lake) เกิดจากการกัดกร่อนของธารน้ำแข็งจนทำให้เป็นหลุม เมื่อธารน้ำแข็งละลายจึงกลายเป็นทะเลสาบ
ที่ราบเศษหินธารน้ำแข็ง (outwash plain) เกิดจากเศษดินเศษหินที่ธารน้ำแข็งพัดพามาทับถมบริเวณปลายธารน้ำแข็ง
4. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของคลื่นและกระแสน้ำ
การกระทำของคลื่นและกระแสน้ำที่ก่อให้เกิดลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ การกร่อน การพัดพา และการทับถม ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น
1) แหลม (cape) และอ่าว (bay) ส่วนหินแข็งที่ยื่นออกไปในทะเล เรียกว่า แหลม ส่วนบริเวณที่ถูกกัดเซาะเว้าเข้าไปในแผ่นดิน เรียกว่า อ่าว
2) หน้าผาสูงชันริมทะเล (sea cliff) และโพรงหินชายฝั่ง (sea cave) เกิดจากการกัดเซาะของคลื่น ทำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชัน ถ้าบริเวณหน้าผาชายทะเลถูกคลื่นกัดเซาะบริเวณฐานของหน้าผา เรียกว่า โพรงหินชายฝั่ง
3) ซุ้มหินชายฝั่ง (sea arch) มักเกิดขึ้นบริเวณหัวแหลม โดยกระแสน้ำจะกัดเซาะจนทำให้เกิดเป็นโพรงหิน เมื่อโพรงนี้ทะลุจะมีเป็นลักษณะเหมือนสะพานโค้งอยู่เหนือน้ำ
4) หาดทราย (beach) เกิดขึ้นจากการทับถมของกรวดทรายที่คลื่นพัดพามา
5) สันดอน (bar) เกิดจากคลื่นและกระแสน้ำพัดพาเอากรวด ทรายมาทับถมขวางทางไว้ เมื่อนานเข้าจะปรากฏเป็นเนินสูงพ้นจากพื้นน้ำ
6) ที่ราบชายฝั่ง (coastal plain) เกิดจากคลื่นและกระแสน้ำพัดพาเศษวัตถุจากทะเลเข้ามาทับถมไว้ที่ชายฝั่ง ทำให้เกิดเป็นที่ราบ
3.3 กระบวนการจากภายนอกโลก
ตัวการที่สำคัญ ได้แก่ อุกกาบาต หากชิ้นส่วนที่ตกสู่ผิวโลกมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขึ้น หลุมอุกกาบาตที่พบอยู่ทั่วไปบนผิวโลกมีทั้งสิ้นราว 50 หลุม โดยหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
4. ปัญหาทางกายภาพของประเทศไทยและของโลก
4.1 ปัญหาทางกายภาพของประเทศไทย
ตัวอย่างปัญหาทางกายภาพในประเทศไทย
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นชื่อทุ่งกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด 10 อำเภอ
ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแอ่งกว้าง มีขอบสูงลาดลงตรงกลาง ฤดูฝนน้ำจะท่วมขังอยู่กลางทุ่ง ส่วนในฤดูแล้งบริเวณทั่วท้องทุ่งน้ำอาจมีน้ำขังอยู่บ้างตามหนองน้ำ แต่พอเดือนเมษายนหนองน้ำทั้งหลายก็เหือดแห้งไปหมด
ดินในทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินตะกอน (slit) หรือทรายแป้ง เกิดจากการสลายตัวของหินชุดโคราช มีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ปานกลางลงไปกระทั่งน้อย
สภาพอากาศเป็นแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน คือ มีระยะที่ฝนตกชุกและฝนแล้งสลับกัน ระยะที่ฝนตกชุกอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ส่วนเดือนธันวาคม - มกราคมเป็นเดือนที่แล้งจัดที่สุด จนกระทั่งเดือนมีนาคม – เมษายน อากาศจะร้อนจัด
ทุ่งกุลาร้องไห้เริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจังระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2546 ผลการพัฒนาทำให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของประเทศ และประชากรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
4.2 ปัญหาทางกายภาพของโลก
ตัวอย่างปัญหาทางกายภาพของโลก
ทะเลทราย หมายถึง ดินแดนซึ่งมีความร้อนและแห้งแล้งจัดจนพืช สัตว์ และมนุษย์แทบจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทะเลทรายที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกสามารถแบ่งออกเป็น 2 เขต ได้แก่
1) ทะเลทรายแถบลมค้า (trade wind desert) เป็นทะเลทรายในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมค้า (trade wind) ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ใต้เส้นศูนย์สูตรไปถึง 30 – 35 องศาเหนือและใต้
2) ทะเลทรายภาคพื้นทวีป (continental desert) เป็นทะเลทรายที่อยู่ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีปและได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมากหรือแทบไม่ได้รับเลย
การกระทำของลมและสภาพภูมิอากาศในเขตแห้งแล้ง สามารถจำแนกทะเลทรายตามลักษณะที่ปรากฏได้ดังนี้
1) ทะเลทรายหิน (hammada) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมด้วยหินแข็ง เนื่องจากเม็ดทรายและดินถูกลมพัดพาไปจนหมดสิ้น
2) ทะเลทรายหินกรวด (reg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมด้วยเศษหินและกรวด ในประเทศอียิปต์และประเทศลิเบียเรียกทะเลทรายชนิดนี้ว่า เซเรียร์ (serir)
3) ทะเลทรายทราย (erg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมพื้นที่แห้งแล้ง ประกอบด้วยเนินทรายแบบต่าง ๆ
4) ทะเลทรายแดนทุรกันดาร (badland desert) เป็นร่องธารและหุบเหวขนาดใหญ่ที่มีความกว้างและลึก ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย
5) ทะเลทรายภูเขา (mountain desert) พื้นที่ตามที่ราบสูงหรือภูเขาจะเกิดการกร่อนจากน้ำค้างแข็ง ทำให้ภูมิประเทศผุพังสลายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง
5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศไทยและของโลก
5.1 แผ่นดินถล่ม (landslide)
มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฤดูฝนบริเวณภูเขา โดยภูเขานั้นอุ้มน้ำไว้จนอิ่มตัวจึงเกิดการพังทลายลงมา
สาเหตุการเกิดแผ่นดินถล่ม
มักเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง และไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ ประกอบกับปัจจัยอย่างอื่นที่ส่งเสริมความรุนแรงของแผ่นดินถล่ม ได้แก่ ลักษณะและโครงสร้างทางธรณีวิทยา เช่น รอยแตก รอยเลื่อน ชั้นหินคดโค้ง และความลาดชันของภูเขา
ผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินถล่ม
ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ก็ได้รับความเสียหายไปด้วย เช่น ดินเสื่อมสภาพ คุณภาพน้ำลดลง ตลอดจนทำความเสียหายต่อเขื่อน เนื่องจากเศษซากต่าง ๆ ขวางทางเดินของน้ำ เมื่อเขื่อนกั้นน้ำพังก็จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล
การป้องกันดินถล่ม
ไม่ตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรสังเกตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นการบอกเหตุว่าอาจเกิดแผ่นดินถล่ม เพื่อการอพยพได้ทันท่วงที
5.2 อุทกภัย (flood)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุทกภัยมีความรุนแรงและมีรูปแบบต่าง ๆ คือ ลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บริเวณนั้น อุทกภัยแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน มักเกิดขึ้นบริเวณที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ดินดูดซับน้ำไม่ทัน น้ำฝนจึงไหลสู่พื้นราบอย่างรวดเร็ว
2. น้ำท่วมขัง มักเกิดบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งอาจมีอาคารบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำไหล ทำให้น้ำที่ท่วมขังระบายออกไม่ได้
3. น้ำล้นตลิ่ง เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ระบายน้ำไม่ทัน จึงเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือน
4. คลื่นซัดฝั่ง เกิดจากพายุลมแรงซัดฝั่ง ทำให้น้ำท่วมชายฝั่งทะเล
ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย
ทางตรง เช่น ทำให้บ้านเรือน ชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เสียหาย ทางอ้อม เช่น การระบาดของโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนปัญหาทางการเมือง
การป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย
ติดตามข่าวรายงานอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ และควรสังเกตปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันบนภูเขาหลาย ๆ วัน หลังเกิดอุทกภัยควรระวังโรคระบาดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
5.3 ภัยแล้ง (drought)
เกิดจากการที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค
สาเหตุการเกิดภัยแล้ง
ภัยแล้งเกิดขึ้นทั้งจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม การทำลายชั้นโอโซน และเกิดจากธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว
ผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง
ภัยแล้งส่งผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เกี่ยวเนื่องกันไป เช่น เมื่อเกิดความแห้งแล้งทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประชาชนไม่มีงานทำจึงต้องละทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมืองใหญ่
การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยแล้ง
ทำได้หลายวิธี เช่น การทำฝนเทียม การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์
5.4 แผ่นดินไหว (earthquake)
เกิดจากการที่แผ่นดินสั่นสะเทือน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อมนุษย์ทั้งด้านร่างกายและทรัพย์สินโดยขนาดของแผ่นดินไหว ความรุนแรง และผลที่เกิดขึ้นใช้มาตราริกเตอร์เป็นเกณฑ์แบ่งระดับความสัมพันธ์
ผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหว
ความเสียหายทางตรงมักจะเกิดกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ส่วนความเสียหายทางอ้อมมักจะปรากฏเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะหากแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ของคลื่นขนาดใหญ่เรียกว่า สึนามิ (Tsunami)
การป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว
ทำได้โดยการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษา ดูแล และเตือนภัยประชาชน รวมถึงการออกกฎหมายว่าด้วยมาตรการด้านวิศวกรรมของอาคารสูงให้ทนทานต่อแรงไหวสะเทือน
สำหรับประชาชนทั่วไป ควรติดตามข่าวสารและเข้าร่วมฝึกฝนการหนีภัยแผ่นดินไหวจากทางราชการอย่างสม่ำเสมอเพื่อเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวจะปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
5.5 สึนามิ (Tsunami)
สึนามิ หมายถึง คลื่นทะเลขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและมีพลังมาก เกิดจากมวลน้ำในทะเลและมหาสมุทรได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนกลายเป็นคลื่นกระจายตัวออกไปจากศูนย์กลางของการสั่นสะเทือนนั้น บริเวณที่เกิดคลื่นสึนามิบ่อยครั้ง คือในมหาสมุทรแปซิฟิก
ส่วนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด คือจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล
1. สาเหตุการเกิด
เกิดจากการถูกกระทบกระเทือนจากแผ่นดินไหว แผ่นดินเลื่อน หรืออุกกาบาตพุ่งชน จนทำให้น้ำทะเลเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุลและก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ
2. ผลกระทบที่เกิดจากคลื่นสึนามิ
ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เช่น ประชาชนขาดที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคถูกทำลาย ประเทศขาดรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่ท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย
3. มาตรการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศมาตรการในการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ ซึ่งประชาชนควรปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เช่น ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนเข้าร่วมฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เพื่อเวลาที่เกิดเหตุขึ้นจริงจะได้ช่วยเหลือตนเองได้
5.6 ภูเขาไฟ (volcano)
ภูเขาไฟเกิดจากหินหลอมเหลวที่อยู่ภายในโลกถูกแรงกระทำให้เคลื่อนที่มาสู่พื้นผิวของโลก หรือเกิดจากหินหนืดหรือลาวาที่ปะทุจากภายในโลกขึ้นสู่ยังผิวโลก
1. ผลกระทบจากภูเขาไฟ
ความเสียหายจากการปะทุของภูเขาไฟเกิดจากการไหลบ่าของหินหนืด เถ้าถ่าน ฝุ่นละออง เศษหิน ตกลงมาทับถมอย่างรวดเร็วทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถูกทำลาย แต่อย่างไรก็ตาม การระเบิดของภูเขาไฟก็มีประโยชน์ คือ พื้นผิวของลาวาที่ทับถมอยู่ในบริเวณหรือที่ราบสูง เมื่อปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการสลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์ เรียกว่า ดินลาวา เหมาะที่จะนำไปใช้ในการเพาะปลูกมาก นอกจากนี้ภูเขาไฟบางลูกยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น ภูเขาไฟฟุจิ ประเทศญี่ปุ่น
2. การป้องกันภัยจากภูเขาไฟ
การระเบิดของภูเขาไฟป้องกันไม่ได้ แต่สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการระเบิดของภูเขาไฟเพื่อหาวิธีลดผลกระทบที่อาจเกิด เช่น กรณีเกิดภูเขาไฟระเบิด อาจทราบล่วงหน้าได้โดยการสังเกตได้จากกลุ่มควันที่กรุ่น ๆ ออกมา แล้วอพยพผู้คนและทรัพย์สินออกจากบริเวณภูเขาไฟให้ห่างจากรัศมีลาวาที่จะไหลมาถึง
5.7 พายุหมุน (cyclone)
พายุหมุนก่อตัวขึ้นจากบริเวณศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ บริเวณใกล้ศูนย์กลางพายุหมุนมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม เรียกว่า ตาพายุ (storm eye) โดยทั่วไปมีศูนย์กลาง 15 – 60 กิโลเมตร พายุหมุนแบ่งตามลักษณะและแหล่งกำเนิดออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) มีแหล่งกำเนิดบริเวณน่านน้ำในเขตละติจูดต่ำ
2. พายุหมุนนอกเขตร้อน (extratropical cyclone) มีแหล่งกำเนิดบริเวณละติจูดกลางและเหนือขึ้นไป
3. ทอร์นาโด (tornado) เป็นพายุหมุนที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีความรุนแรงมากที่สุด
พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด ได้แก่ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น แต่ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เรียกว่า เฮอร์ริเคน หากเกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนืออ่าวเบงกอล เรียกว่า พายุไซโคลน และหากเกิดในมหาสมุทรอินเดียใต้ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี-วิลลี (willy-willy)
พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากทางตะวันออกของประเทศ มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ โดยความรุนแรงของพายุแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
พายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุโซนร้อน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับประเทศไทยพายุหมุนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนตัวเข้ามาจะอยู่ในระดับของพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุอ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีน้อยมาก แต่พายุหมุนเขตร้อนก็ยังมีด้านที่เป็นประโยชน์อยู่ด้วย คือ พายุดีเปรสชันจะทำให้ฝนตกปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสภาวะความแห้งแล้งและสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th