ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว
1. กฎหมายแพ่ง
กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายที่วางระเบียบในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลกับสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งในชั้นนี้ได้กล่าวเฉพาะกฎหมายที่สรุปไว้ ดังนี้
1) ผู้เยาว์ คือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของผู้เยาว์ในการทำนิติกรรมไว้โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม และผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำแทน การกระทำนั้นจึงจะสมบูรณ์
2) บัตรประจำตัวประชาชน คือบัตรประจำตัวของผู้ที่มีสัญชาติไทยที่ใช้แสดงตนเพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตรและทางราชการ ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือ ผู้ขอต้องยื่นคำขอภายใน 60 วัน โดยเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นบุคคลต่างด้าวที่ได้สัญชาติไทย หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย หรือวันที่ศาลสั่งให้ได้สัญชาติไทย ทั้งนี้หากพ้นระยะเวลาการขอมีบัตร ผู้ที่ไม่มีบัตรต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ และในกรณีที่ผู้ถือบัตรเสียสัญชาติไทยไม่คืนบัตรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เสียสัญชาติไทย ต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 1–5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) การหมั้น คือ การที่ชายหญิงสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน โดยการหมั้นนั้นมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ อายุของคู่หมั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ถึง17 ปีบริบูรณ์ การหมั้นนั้นจะตกเป็นโมฆะ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมายหรือถูกต้องตามกฎหมาย และการยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หากชายและหญิงยังเป็นผู้เยาว์ การหมั้นต้องได้อนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองก่อน การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยพลการ ถือว่าการหมั้นนั้นจะตกเป็นโมฆียะ ซึ่งในกฎหมายได้ระบุไว้ว่า การหมั้นจะสมบูรณ์ถูกต้องตามประเพณีได้ต้องมีของหมั้นและสินสอด
4) การสมรส คือ การที่ฝ่ายชายและหญิงสมัครใจอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยการสมรสจะทำได้โดยสมบูรณ์เมื่อคู่สมรสอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว จะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งทางส่วนตัวและทางทรัพย์สิน ซึ่งความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ สินส่วนตัวและสินสมรส
5) การรับรองบุตร กฎหมายได้แบ่งเด็กออกเป็น 3 ประเภท คือ บุตรชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ บุตรในสมรสและบุตรนอกสมรส บุตรนอกกฎหมาย คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และบุตรบุญธรรม คือ บุตรของคนอื่น จะเป็นบุตรได้ด้วยการจดทะเบียน และมีสิทธิเหมือนกับบุตรที่ชอบตามกฎหมาย
6) นิติกรรม–สัญญา โดยนิติกรรม คือ การทำข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคลด้วยความสมัครใจ เพื่อเกิดสิทธิต่าง ๆ อาจเป็นไปได้ทั้งนิติกรรมอย่างเดียว เช่น พินัยกรรม หรือ นิติกรรมทั้งสองฝ่าย เช่น สัญญา ก็ได้ ส่วนสัญญานั้นเป็นนิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย เกิดจากการแสดงเจตนาและการสนองความต้องการตรงกันของบุคคลมากกว่า 2 ฝ่าย มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือระงับนิติสัมพันธ์ตัวอย่างนิติกรรม-สัญญา ได้แก่
6.1) สัญญาซื้อขาย ประกอบด้วย สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาที่ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงว่าจะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย สัญญาขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายที่มีลักษณะคล้ายการทำสัญญาซื้อขายธรรมดา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของผู้ซื้อทันที แต่มีข้อตกลงพิเศษ คือ ผู้ขายอาจขอไถ่ทรัพย์สินคืนได้
6.2) สัญญาเช่าทรัพย์ ซึ่งการเช่า คือ การใช้ทรัพย์สินของ “ผู้ให้เช่า” ชั่วคราว โดย “ผู้เช่า” จ่ายค่าเช่าไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ สัญญาเช่าต่างจากสัญญาซื้อขาย คือ การเช่าจะต้องมีระยะเวลาจำกัด 1 หรือ 3 ปีก็ได้ และผู้เช่าจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่า
6.3) สัญญาเช่าซื้อ โดยสัญญาเช่าซื้อเป็นการทำสัญญาเช่าส่วนหนึ่ง และมีคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นให้ หรือจะให้ทรัพย์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า เมื่อผู้เช่าใช้เงินครบจำนวนตามที่กำหนดไว้
6.4) สัญญากู้ยืมเงิน โดยการกู้ยืมเงินเป็นการทำนิติกรรม 2 ฝ่าย ระหว่าง “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” โดยลูกหนี้ต้องใช้เงินคืน พร้อมดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด การกู้ยืมเงินมีผลสมบูรณ์เมื่อส่งมอบเงินให้ลูกหนี้ จะตกลงสัญญาด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็มีผลตามกฎหมาย แต่หากการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ไม่มีสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมจะฟ้องบังคับคดีไม่ได้
6.5) จำนำ คือ การนำสังหาริมทรัพย์ไปไว้กับบุคคลหนึ่ง เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ ซึ่งสัญญาจำนำเป็นการนำทรัพย์สินเฉพาะสังหาริมทรัพย์ไปไว้กับคนอื่นเท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถจำนำได้
6.6) จำนอง คือ สัญญาซึ่ง “ผู้จำนอง” เอาทรัพย์สินตราไว้แก่ “ผู้รับจำนอง” เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่มอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง โดยทรัพย์สินที่จำนองได้มี 2 ประเภท คืออสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์
2. กฎหมายอาญา
กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่บัญญัติห้ามมิให้มีการกระทำใด ๆ หรือบังคับให้มีการกระทำ โดยผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะได้รับโทษ สำหรับกฎหมายอาญากำหนดไว้มีทั้งสิ้น 12 ลักษณะ ซึ่งในชั้นนี้จะกล่าวเฉพาะการ “กระทำ” ที่เป็นความผิด ได้แก่
1) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อาทิ ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ซึ่งกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายไว้สี่หมวด ดังนี้ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือคนชรา
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและประเทศ
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ หลักประกันสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร กำหนดให้ศาลใช้อำนาจตุลาการจำกัดการใช้อำนาจของรัฐเพื่อถ่วงดุลอำนาจและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แบ่งเป็น 15 หมวด รวมทั้งสิ้น 309 มาตรา
2. กฎหมายการรับราชการทหาร
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารเพื่อทำหน้าที่ป้องกันชาติ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 กำหนดไว้ 4 ประเภท ได้แก่
1) ทหารกองเกิน คือ ชายสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์และไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ต้องทำหน้าที่รับราชการทหาร
2) ทหารกองประจำการ คือ ทหารกองเกินที่ได้รับหมายเรียกเพื่อตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ
3) ทหารกองหนุน คือ ทหารที่ปลดประจำการหรือทหารกองเกินที่สำเร็จการฝึกทหารและขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน
4) ทหารประจำการ คือ ทหารที่รับราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่ทหารกองประจำการ
3. กฎหมายภาษีอากร
ภาษีอากรเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่นำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศ ประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ทุกฉบับ ซึ่งประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่บัญญัติเพื่อให้อำนาจกรมสรรพากร กระทรวงการคลังเก็บภาษีต่าง ๆ กับประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือภาษีที่จัดเก็บจากบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เก็บจากห้างหุ้นส่วนสามัญ นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ฯลฯ
3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการ โดยผู้ขายมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 จากลูกค้า แล้วนำภาษีไปชำระต่ออำเภอภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมยื่นแบบแสดงรายการด้วย
4) อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการทำตราสาร เช่น สัญญาเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน สัญญากู้ยืม ใบมอบอำนาจ ต้องติดอากรแสตมป์ไว้ตามอัตราที่ประมวลกฎหมายรัษฎากรกำหนดและต้องขีดฆ่าเพื่อแสดงการใช้อากรแสตมป์
4. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีหลายฉบับ และมีหลายหน่วยงานที่ให้การคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่
1) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองไว้ 5 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
2) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 คดีผู้บริโภค คือ คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ สาเหตุจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ
3) พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญเช่น ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้า เป็นต้น
4) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยใช้กฎหมายเหล่านี้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
ข้อตกลงระหว่างประเทศ
ข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ หลักกฎหมายหรือข้อตกลงร่วมกันที่ใช้บังคับต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศชนิดหนึ่ง มีลักษณะบังคับใช้กับส่วนใหญ่ เพียงแต่กฎหมายระหว่างประเทศนั้นในบางเรื่องถือว่าเกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ทั่วโลก เช่น สิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในที่นี้จะกล่าวถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะกำหนดข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อการปกป้องคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยามสงคราม ผู้ตกเป็นเหยื่อของการสู้รบและได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม โดยจัดทำรูปแบบของอนุสัญญาที่เรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา จำนวน 4 ฉบับ และพิธีสารเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) มี 4 ฉบับ ประกอบด้วย อนุสัญญาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะที่ดีขึ้น ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) อนุสัญญาเพื่อให้ผู้ที่สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเลซึ่งบาดเจ็บป่วยไข้และเรือต้องอับปางมีสภาวะที่ดีขึ้น ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) อนุสัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) อนุสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในยามสงคราม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) โดยอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ มนุษยธรรม ความเสมอภาค และความไม่ลำเอียง
2) พิธีสารเพิ่มเติม (The Additional Protocols) เป็นข้อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพิ่มเติมจากอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้ได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยพิธีสารเพิ่มเติมว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ พิธีสารเพิ่มเติมว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากการขัดแย้งที่มิใช่ระหว่างประเทศ และพิธีสารเพิ่มเติมว่าด้วยการรับรองสัญลักษณ์ใหม่
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) เป็นเอกสารรับรองสิทธิของมนุษย์ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นมาตรฐานที่แต่ละประเทศในองค์การสหประชาชาติยึดถือเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และสากล
Keyword กฎหมาย กฎหมายแพ่ง นิติกรรม กฎหมายอาญา ปฏิญญาสากล
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th