บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง เทคโนโลยีอวกาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 62.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การส่งดาวเทียมและยานอวกาศ
การเริ่มต้นศึกษาและประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งยานอวกาศมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 1775 ชาวจีนได้ใช้แรงระเบิดจากถ่านหิน กำมะถัน และดินประสิวขับดันลูกธนูในการทำสงคราม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2446 ไซออลคอฟสกี (Tsiolkovski) ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในเครื่องยนต์ของจรวดประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 โรเบิร์ต กอดดาร์ด (Robert Goddard) ประสบความสำเร็จในการใช้จรวดเชื้อเพลิงเหลว หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลวเรื่อยมา จนในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ประสบความสำเร็จในการใช้จรวดสามท่อนสำหรับส่งยานอวกาศ

 

 

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศ
เซอร์ไอแซก นิวตัน ตั้งทฤษฎีว่า วัตถุที่มีมวลจะมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยแรงดึงดูดจะมีค่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของมวลโลกกับขนาดของมวลวัตถุ เนื่องจากมวลของโลกคงที่ ดังนั้นวัตถุที่มีมวลมาก แรงดึงดูดที่โลกกระทำต่อวัตถุก็ย่อมมีค่ามาก และเรียกแรงดึงดูดที่โลกกระทำต่อวัตถุต่าง ๆ ว่า แรงโน้มถ่วงของโลก นิวตันยังได้ตั้งกฎของแรงดึงดูดระหว่างมวลว่า แรงดึงดูดเป็นปฏิภาคโดยตรงกับผลคูณของมวล และเป็นปฏิภาคผกผันกับกำลังสองของระยะทางระหว่างมวลทั้งสองนั้น จากกฎนี้นิวตันได้คำนวณหาค่าแรงโน้มถ่วงของโลก ได้ดังนี้
F เป็นแรงดึงดูดของมวล M และ m ที่มีระยะห่างกัน R
M เป็นมวลของโลก
m เป็นมวลของวัตถุบนพื้นผิวโลก
R เป็นรัศมีของโลก
G เป็นค่าคงที่ (เท่ากับ 6.67 x 10-11 N.m2/kg2)
ดังนั้น ถ้ามวลทั้งหมดของโลกรวมอยู่ที่จุดศูนย์กลางของโลก แรงระหว่างโลกและมวลของวัตถุบนพื้นผิวโลกจะเท่ากับ

F =G Mm  ……………………………………….(1)
        R2

เมื่อพิจารณาแรงดึงดูดต่อหนึ่งหน่วยของมวลบนพื้นผิวโลก จะได้ว่า
F = G M
m      R2   ……………………………………….(2)

จากสมการ (2) จะเห็นว่า เมื่อมวลของโลกคงที่ ค่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะแปรผันกับ 1/R^2 ถ้าต้องการส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศให้ขึ้นไปโคจรรอบโลก จรวดที่นำพาไปจะต้องมีความเร็วจากพื้นผิวโลกเพียงพอที่จะทำให้ดาวเทียมหรือยานอวกาศสามารถขึ้นไปโคจรรอบโลกในระดับความสูงจากผิวโลกตามต้องการได้ ซึ่งความเร็วนี้จะต้องมีค่ามากกว่า 7.91 กิโลเมตร/วินาที เมื่อจรวดนำพาดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นไปถึงระดับที่ต้องการแล้ว ดาวเทียมหรือยานอวกาศจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างน้อยเท่ากับความเร็วโคจรรอบโลก (orbital velocity) ซึ่งค่าความเร็วโคจรรอบโลกนี้จะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากจุดศูนย์กลางของโลก ทั้งนี้เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อวัตถุลดลง
การส่งยานอวกาศออกจากวงโคจรของโลก จรวดที่เป็นยานพาหนะต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างน้อยเท่ากับความเร็วหลุดพ้น (escape velocity) มีค่าเท่ากับ 11.2 กิโลเมตร/วินาทีซึ่งมากพอที่จะเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกได้

ยานขนส่งอวกาศ
ระบบยานขนส่งอวกาศถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศแทนการใช้จรวด เพราะเครื่องยนต์ของจรวดมีค่าใช้จ่ายสูง และตัวจรวดเมื่อส่งขึ้นสู่อวกาศและตกลงสู่พื้นจะพังเสียหายใช้การไม่ได้ แต่ยานขนส่งอวกาศสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยยานขนส่งอวกาศมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ยานขนส่งอวกาศ (space shuttles) มีลักษณะคล้ายเครื่องบิน ประกอบด้วยห้องบังคับการบิน ห้องพักประจำสำหรับนักบินอวกาศและลูกเรือ ที่พักผ่อน ห้องควบคุมการปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์

 

 

2. ถังเชื้อเพลิงภายนอก (external liquid fuel tank) ติดอยู่ใต้ท้องยานขนส่งอวกาศ ใช้บรรจุเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์จรวด
3. เครื่องยนต์จรวดสนับสนุน (solid fuel booster rocket) ทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้พายานขนส่งอวกาศขึ้นไปเหนือพื้นผิวโลก

 

 

การปล่อยยานขนส่งอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกนั้น เมื่อศูนย์บังคับการปล่อยยานขนส่งอวกาศ เครื่องยนต์จรวดสนับสนุนจะทำงาน ส่งผลให้ยานขนส่งอวกาศทะยานขึ้นสู่อวกาศ จากนั้นเครื่องยนต์จรวดสนับสนุนจะถูกปล่อยแยกออกจากยาน และร่อนตกลงสู่มหาสมุทร อัตราเร็วของยานขนส่งอวกาศจะเพิ่มขึ้น เมื่อเดินทางไป 9 นาที ถังเชื้อเพลิงภายนอกจะแตกตัวหลุดออกและตกลงสู่มหาสมุทร พลังงานจากเครื่องยนต์หลักจะทำให้ยานขนส่งอวกาศไต่ระดับเข้าสู่วงโคจรของโลกที่ความสูง 280 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก ยานจะอยู่ในความสูงระดับนี้ในระหว่างการบิน และบินในอัตราประมาณ 27,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจยานจะถูกบังคับให้เคลื่อนตัวในแนวตั้ง เพื่อลดความเร็วเป็น 13,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมที่จะร่อนลงสู่พื้นผิวโลก เมื่อยานขนส่งอวกาศเข้าสู่บรรยากาศของโลกจะเสียดสีกับบรรยากาศทำให้เกิดความร้อน แผ่นกระเบื้องสำหรับกำบังความร้อนข้างใต้ยานจะเปล่งแสงสีแดงจัดออกมาเพื่อป้องกันตัวยาน เมื่อยานเคลื่อนที่ใกล้พื้นผิวโลกจะเคลื่อนที่ในลักษณะรูปตัวเอส (s) เพื่อให้ยานเคลื่อนที่ช้าลง เมื่อใกล้สนามบินก่อนที่จะลงแตะพื้นยานจะกางล้อออกเพื่อเตรียมร่อนลงสู่สนามบิน

การอาศัยและทำงานในยานขนส่งอวกาศ
ในยานขนส่งอวกาศจะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ภายในยานขนส่งอวกาศจะต้องทำบรรยากาศภายในให้เหมือนกับบรรยากาศที่พื้นผิวโลก แต่ปราศจากแรงโน้มถ่วงโลก นักบินอวกาศจะนอนบนเตียงในห้องและต้องรัดเข็มขัดขณะนอนหรือนอนในถุงนอนที่ผูกกับเตียงนอน

 

 

อาหารที่รับประทานในยานอวกาศส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ขจัดน้ำออกและง่ายต่อการเก็บรักษา บรรจุในภาชนะที่ง่ายต่อการเก็บรักษาและหยิบจับในสภาวะที่ไร้น้ำหนัก การรับประทานอาหารอาจใช้ช้อนหรือส้อมตักอาหารจากภาชนะบรรจุนั้นได้โดยตรง

 

 

 

กล้ามเนื้อของร่างกายจะไม่ได้เคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในยานขนส่งอวกาศ ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยนักบินอวกาศจะต้องถีบจักรยานหรือออกกำลังกายประมาณ 30 นาที/วัน

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ
ดาวเทียม
ดาวเทียม คือ วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งไปโคจรรอบโลก เพื่อใช้ในการสื่อสารและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การรายงานสภาพอากาศ รวมทั้งการถ่ายภาพพื้นผิวโลกและสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นกลับมายังโลก การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในด้านต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้
1. ดาวเทียมสื่อสาร
ดาวเทียมสื่อสารเป็นดาวเทียมที่ปฏิบัติงานเพื่อที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของโลก เช่น ส่งสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดาวเทียมประเภทนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ดาวเทียมที่โคจรในระดับต่ำ เป็นดาวเทียมที่มีเวลาโคจรรอบโลกน้อยกว่าเวลาที่โลกโคจรรอบตัวเอง เช่น ดาวเทียมเอ็คโค (Echo) และดาวเทียมเทลสตาร์ (Telstar)
1.2 ดาวเทียมที่โคจรในระดับสูง พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ต่อเนื่องในการส่งสัญญาณวิทยุของดาวเทียมประเภทแรก ดาวเทียมจะโคจรรอบโลกได้เท่ากับเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง เรียกดาวประเภทนี้ว่า ดาวเทียมค้างฟ้า เช่น ดาวเทียมอินเทลแซท และดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม

 

 

2. ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ
การทำงานของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการถ่ายภาพและโทรคมนาคม โดยใช้หลักการสำรวจจากระยะไกลด้วยหลักการของ remote sensing โดยใช้คลื่นแสงที่เป็นแหล่งพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางส่งผ่านระหว่างวัตถุเป้าหมายและอุปกรณ์บันทึกข้อมูล ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรจะโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์เป็นวงโคจรในแนวเหนือ-ใต้ และผ่านแนวละติจูดหนึ่ง ๆ ที่เวลาท้องถิ่นเดียวกัน ประโยชน์ที่ได้รับคือ การสำรวจพื้นที่ป่าไม้ การเกษตร การใช้ที่ดินด้านธรณีวิทยาเพื่อจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ สำรวจหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในดิน และด้านอุทกวิทยา เพื่อศึกษาสภาพและแหล่งย้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ชื่อ ดาวเทียมธีออส (THEOS) ย่อมาจาก Thailand Earth Observation System หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลก โดยใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพจากดาวเทียมของประเทศไทย

 

 

3. ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเป็นดาวเทียมสำรวจชนิดหนึ่ง ประโยชน์ของดาวเทียมประเภทนี้ คือ การเตือนให้ทราบถึงพายุ ติดตามลักษณะอากาศที่แปรปรวน คำนวณหาความเร็วของลมชั้นบน ปริมาณน้ำฝน หาอุณหภูมิของอากาศแต่ละระดับความสูง

 

 

4. ดาวเทียมเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์
ประเทศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียได้ส่งดาวเทียมเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้าสู่วงโคจรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมชุดหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ ดาวเทียมสังเกตการณ์ธรณีฟิสิกส์ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์พลังงานสูง เพื่อศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในระบบสุริยะ

โครงการอวกาศและยานอวกาศ
ยานอวกาศ เป็นพาหนะที่สร้างขึ้นโดยมีภารกิจ คือ การสื่อสารทั่วไป การสำรวจโลก การทำเส้นทาง ยานอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ยานอวกาศที่ไม่มีนักบินอวกาศควบคุม คือ หุ่นยนต์ที่มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สำหรับการเดินทางสำรวจดวงดาวต่าง ๆ

 

 

โครงการอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ในปัจจุบัน
โครงการอวกาศของนาซาในปัจจุบันได้ใช้หลักการภายใต้ภารกิจสำรวจค้นหา (Discovery Program) โดยมีเป้าหมาย คือ เร็วขึ้น ดีขึ้น และถูกลง ตัวอย่างโครงการอวกาศที่น่าสนใจ มีดังนี้
– โครงการอวกาศดอว์น (Dawn) ยานดอว์น ซึ่งแปลว่า “รุ่งอรุณ” ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 เพื่อเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง คือ ดาวซีรีส (Ceres) กับเวสตา (Vesta) ดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงนี้เป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ยานนี้จะเก็บข้อมูลและศึกษาวิวัฒนาการของมันซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงการก่อกำเนิดและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบสุริยะ
– โครงการอวกาศสตาร์ดัสต์ (Stardust) ยานสตาร์ดัสต์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อเก็บฝุ่นอวกาศจากกลุ่มดาวและดาวหาง โดยยานนี้จะไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 รอบ และบินเข้าใกล้ดาวหางไวลด์ (Wild 2) และในระหว่างที่เข้าใกล้ดาวหางนี้ ได้ดักเก็บฝุ่นละอองของดาวหาง และยังบันทึกภาพพื้นผิวหน้าของดาวหาง เพื่อส่งมาวิเคราะห์ยังโลกได้สำเร็จ
– โครงการอวกาศเจเนซิส (Genesis) ยานเจเนซิส ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อ พ.ศ. 2544 เพื่อไปเก็บอนุภาคในลมสุริยะที่จะช่วยให้เราทราบถึงองค์ประกอบภายในลมสุริยะที่แม่นยำขึ้น และทำให้เข้าใจการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ

สถานีอวกาศ
ในยุคแรกโครงการสถานีอวกาศตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการทดสอบว่า มนุษย์จะขึ้นไปปฏิบัติงานในอวกาศเป็นระยะเวลานานได้หรือไม่ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ฝึกบุคคลที่จะไปทำงานในอวกาศ และทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเป็น 2 ประเทศแรกที่ทำการบุกเบิกการใช้สถานีอวกาศในการปฏิบัติงาน
1. โครงการสกายแลบ
โครงการสกายแลบ (Skylab) มีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ขึ้นไปค้นคว้าทดลองบนสถานีลอยฟ้าให้ได้นานที่สุด การทดลองแบ่งเป็นการศึกษาทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ การแพทย์ อวกาศ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์ รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสภาพไร้น้ำหนักที่มีต่อมนุษย์และวัตถุต่าง ๆ

 

 

2. โครงการอะพอลโล-ซัลยุต
โครงการอะพอลโล-ซัลยุต เป็นโครงการอวกาศร่วมกันของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย มีจุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบระบบนัดพบและต่อเชื่อมยานอวกาศของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าด้วยกัน เพื่อนำผลการทดลองมาพัฒนาใช้กับยานอวกาศที่มนุษย์ควบคุม ตลอดจนโครงการสถานีอวกาศของทั้งสองประเทศ
3. สถานีอวกาศเมียร์
สถานีอวกาศเมียร์ (Mir space station) ของรัสเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาการใช้ชีวิตในห้วงอวกาศ และใช้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ผสมกันไปทั้งกิจการทหารและพลเรือน ด้วยเหตุที่รัสเซียให้ความสนใจบุกเบิกอวกาศทางด้านสถานีอวกาศ ซึ่งจะเป็นฐานความรู้สำหรับการสร้างอาณานิคมในอวกาศต่อไป 
4. สถานีอวกาศนานาชาติ
สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station -ISS) เกิดจากความร่วมมือของสหรัฐอเมริการัสเซีย บราซิล แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น สถานีอวกาศนานาชาติใช้สำหรับศึกษาและทำการทดลองเรื่องต่างๆ เช่น ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่สามารถทดลองได้บนโลก 
5. สถานีอวกาศในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจและร่วมมือกันศึกษาถึงโครงสร้างของเมืองอวกาศในอนาคต โดยการออกแบบสถานีอวกาศขนาดใหญ่นั้น ต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณที่มีสภาพไร้น้ำหนักที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลก จึงได้เสนอความคิดการออกแบบสถานีอวกาศให้มีลักษณะเป็นวงกลมรูปวงแหวนที่สามารถหมุนรอบตัวเองได้ซึ่งจะทำให้เกิดแรงหนีศูนย์กลางขึ้น ซึ่งทำให้คนเราสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ทางด้านที่เป็นขอบของวงแหวน โดยการหันศีรษะเข้าหาจุดศูนย์กลางของสถานีอวกาศ สถานีอวกาศขนาดใหญ่นี้จะต้องมีบรรยากาศคล้ายโลก ต้องมีแก๊สออกซิเจนในอัตราส่วนเท่ากับที่มีอยู่ในบรรยากาศของโลก ดังนั้นบรรยากาศของสถานีอวกาศจะเป็นครึ่งหนึ่งของความดันบรรยากาศของโลกที่ระดับน้ำทะเล 

 

ผังมโนทัศน์ (Concept Map)

 

สาระสำคัญประจำหน่วย

1. ประวัติการส่งยานอวกาศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1775 ชาวจีนได้ใช้แรงระเบิดจากถ่านหิน กำมะถัน และดินประสิวขับดันลูกธนูในการทำสงคราม พ.ศ. 2446 ไซออลคอฟสกี ชาวรัสเซียได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเชื้อเพลิงเหลวที่ใช้ในจรวด และ พ.ศ. 2469 โรเบิร์ต กอดดาร์ด ชาวอเมริกันเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการใช้จรวดเชื้อเพลิงเหลว
2. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศเกี่ยวข้องกับแรงดึงดูดระหว่างมวล แรงโน้มถ่วงของโลก ความเร็วโคจรรอบโลก และความเร็วหลุดพ้น
3. เซอร์ไอแซก นิวตัน เป็นผู้ตั้งทฤษฎีว่า วัตถุที่มีมวลจะมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน และได้ตั้งกฎของแรงดึงดูดระหว่างมวลว่า แรงดึงดูดเป็นปฏิภาคโดยตรงกับผลคูณของมวล และเป็นปฏิภาคผกผันกับกำลังสองของระยะทางระหว่างมวลทั้งสองนั้น
4. แรงโน้มถ่วง (gravitational force) เป็นแรงดึงดูดเนื่องจากมวล เช่น แรงดึงดูดระหว่างโลกกับวัตถุ
5. ความเร็วโคจรรอบโลก คือ ความเร็วในแนวราบที่ทำให้วัตถุไม่ตกลงสู่พื้นโลกและเคลื่อนที่ในแนววิถีโค้ง รอบโลก ความเร็วโคจรรอบโลกจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากวัตถุและจุดศูนย์กลางของโลก
6. ความเร็วหลุดพ้น (escape velocity) คือ ค่าความเร็วของการเคลื่อนที่เพื่อเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลก ความเร็วหลุดพ้นจะมีค่าเท่ากับ 11.2 กิโลเมตร/วินาที
7. ระบบยานขนส่งอวกาศถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ส่งดาวเทียมและยานอวกาศแทนการใช้จรวดอย่างเดียว เนื่องจากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
8. กระสวยอวกาศ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ยานขนส่งอวกาศ ถังเชื้อเพลิงภายนอก และเครื่องยนต์จรวดสนับสนุน
9. การทำงานและใช้ชีวิตในอวกาศ ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงต่อสภาพไร้น้ำหนักหลายอย่าง วิธีแก้ไขคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ถึงความจำเป็นที่อวัยวะต่าง ๆ ยังต้องใช้งานตามปกติ
10. ดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปโคจรในวงโคจรรอบโลกมีทำหน้าที่ เช่น การสื่อสาร และการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ
11. ประโยชน์ของดาวเทียมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การติดต่อสื่อสารภายในประเทศและต่างประเทศผ่านทางโทรศัพท์ วิทยุ การคมนาคมทางอากาศและทางเรือเกี่ยวกับทิศทางและตำแหน่ง
12. ยานขนส่งอวกาศหรือกระสวยอวกาศมีหน้าที่ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศเพื่อศึกษาทางวิทยาศาสตร์
13. ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศช่วยขยายขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เครื่องมือวัด การพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีพลังงาน
14. เทคโนโลยีอวกาศช่วยในด้านความก้าวหน้าของระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นการผลักดันให้สังคม โลกเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร
15. เทคโนโลยีด้านดาวเทียมใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น
    – ด้านสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของโลก ทำให้มีข้อมูลในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร และการประมง
    – ด้านสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของโลก
    – ด้านสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ โดยทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสภาวะและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
    – ด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อให้ข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ
16. เทคโนโลยีอวกาศด้านสถานีอวกาศมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการทดสอบการปฏิบัติงานของมนุษย์ในอวกาศและทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เช่น โครงการสกายแลบ และสถานีอวกาศนานาชาติ

Key word

แรงโน้มถ่วง (gravitational force) เป็นแรงที่เกิดจากการกระทำระหว่างมวล เช่น แรงดึงดูดระหว่างโลกกับวัตถุ
ความเร็วโคจรรอบโลก ความเร็วในแนวราบที่ทำให้วัตถุไม่ตกลงสู่พื้นโลกและเคลื่อนที่ใน
แนววิถีโค้งรอบโลก มีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากวัตถุและจุดศูนย์กลางของโลก
ความเร็วหลุดพ้น (escape velocity) ค่าที่จะเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกได้มีค่าเท่ากับ 11.2 กิโลเมตร/
วินาที
ยานขนส่งอวกาศ ยานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนการใช้จรวด เนื่องจากสามารถนำ
กลับมาใช้ใหม่ได้
ดาวเทียมค้างฟ้า ดาวเทียมจะโคจรรอบโลกได้เท่ากับเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th