เรื่อง: สิรินทร์ จ่างรัตศศพินทุ ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ
เพลโต ปรมาจารย์ขั้นเทพ
สำหรับเด็กไทยอย่างเราที่เติบโตขึ้นมากับวัฒนธรรมตะวันออก เมื่อพูดถึงนักปรัชญา เราก็คงจะนึกถึงท่านขงจื๊อและเล่าจื๊อ แต่ถ้าให้เพื่อนฝรั่งชาวตะวันตกบอกชื่อนักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดมากที่สุด เชื่อได้ว่าชื่อของ “เพลโต” ต้องไม่หลุดโผแน่นอน
เพลโตได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งปรมาจารย์ผู้วางรากฐานรูปแบบการศึกษาขั้นสูงในปัจจุบัน หลักปรัชญา แนวความคิด และหนังสือของเขายังคงใช้สอนกันในมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เกิดเมื่อ 427 ปีก่อนคริสตกาลหรือเกือบ 2,500 ปีที่แล้ว ในครอบครัวขุนนางที่เก่าแก่และมั่งคั่งที่สุดครอบครัวหนึ่งของกรุงเอเธนส์ เมื่อแรกเกิดเพลโตมีชื่อว่า อาริสโตคลีส (Aristocles) แต่ด้วยร่างกายกำยำไหล่กว้างของเขา ทำให้ผู้คนเรียกเขาว่า “เพลโต” (Plato) ซึ่งแปลว่า “ผู้กว้างใหญ่”
ในวัยเด็ก เพลโตได้รับการเลี้ยงดูและมีการศึกษาอย่างดีตามอย่างเด็กชนชั้นสูง เขาศึกษาวิชาการด้านต่างๆทั้งการเมืองการปกครอง ปรัชญา วรรณกรรม ดนตรี วาทศิลป์ จากอาจารย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียง ทั้ง ปีทาโกรัส (Pythagoras) และ โสเครตีส (Socrates) อาจารย์โสเครตีสนี่เองที่มีอิทธิพลทางความคิดด้านการเมืองและสังคมกับเพลโต อย่างไรก็ตาม เพลโตกลับเห็นข้อเสียของแนวคิดของโสเครตีส เขารู้สึกผิดหวังกับอุดมการณ์ทางการเมืองและเลือกคิดหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมขณะนั้น
เพลโตผลิตงานเขียนด้านปรัชญาและการเมืองไว้มากมายตลอดช่วงชีวิตของเขา ส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนในรูปแบบบทสนทนาระหว่างคนสองคน (dialogue) พูดคุยถกกันเรื่องใดสักเรื่องหนึ่ง งานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเพลโตคือหนังสือเรื่อง อุตมรัฐ (The Republic) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นบทสนทนาในประเด็นเรื่องความยุติธรรมระหว่างโสเครตีสและชาวเมืองเอเธนส์ หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องโครงสร้างสังคมและรัฐในอุดมคติของเพลโตไว้อย่างชัดเจน เพลโตเชื่อว่าสังคมจะดีไม่ได้หากคนในสังคมไม่ดี และคนจะดีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกของรัฐ อย่างสถาบันหรือกฎหมาย แต่คนจะดีได้ต้องมีคุณธรรมมาจากภายใน ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกเขียนขึ้นมานานเกือบ 2,500 ปีแล้ว มหาวิทยาลัยชื่อดังมากมายทั่วโลก อาทิ เคมบริดจ์ หรืออ๊อกซ์ฟอร์ด ก็ยังคงใช้ “อุตมรัฐ” เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนในวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน
เพลโตยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกด้วย นั่นคือ อะคาเดมี (The Academy) โรงเรียนที่เขาก่อตั้งขึ้นในกรุงเอเธนส์เมื่อประมาณ 387 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นรากฐานของระบบการศึกษาขั้นสูงในปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้จัดการเรียนการสอนหลากหลายวิชา ทั้งการบริหาร วรรณกรรม ดนตรี ปรัชญา คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ แต่ที่พิเศษก็คือ แทนที่จะให้นักเรียนมานั่งเรียนโดยการฟังอย่างเดียว ไม่ได้ออกความคิดเห็น ไม่ให้โต้แย้ง เพลโตกลับใช้วิธีตั้งคำถาม กระตุ้นให้ลูกศิษย์ได้คิดตาม ตอบคำถามอย่างมีเหตุผล และค้นคว้าหาความจริงด้วยตัวเอง
เพลโตบริหารโรงเรียนอะคาเดมี จนกระทั่งเขาเสียชีวิตเมื่อ 347 ปีก่อนคริสตกาล แต่ อะคาเดมี ก็ยังดำรงคงอยู่เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคกรีกโรมันหลังจากนั้นถึง 1,000 ปี ก่อนจะปิดตัวลงในปี ค.ศ. 529 อย่างไรก็ตาม แนวคิดและหลักปรัชญาของเพลโตก็ยังมีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังนับจนตอนนี้ สมญานาม “สุดยอดแห่งปรมาจารย์” (The Divine Teacher) ของเพลโต จึงไม่ใช่คำกล่าวเกินเลยแต่อย่างใด
เพื่อนๆ คนไหนสนใจอยากทราบเกี่ยวกับประวัติและผลงานของเพลโตมากยิ่งขึ้น เราขอแนะนำคลิปดีๆ จาก YouTube พร้อมคำแปลในเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมค่ะ สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่่
https://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=405
ที่มา : นิตยสาร Plook ฉบับที่ 13 เดือนมกราคม 2556