ประเพณีสงกรานต์ของภาคต่างๆ ในประเทศไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 40K views



ประเพณีสงกรานต์ของภาคเหนือ

- ชาวล้านนาจะเรียกเทศกาลสงกรานต์กันว่า “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
- วันแรกของประเพณีนี้เริ่มวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” สังขานต์ ก็คือสงกรานต์นั่นแหละ ก็คือวันที่สิ้นสุดศักราชเก่า
- ความเชื่อ ปีเก่าผ่านไป ในตอนเช้าชาวล้านนา จะยิงปืน จุดประทัดกัน เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายในปีเก่าให้พ้นไป แล้วก็ทำความสะอาดบ้าน ทำความสะอาดเรือน ทำควาสะอาดร่างกาย แล้วก็แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับปีใหม่



- วันที่ 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันดา” เป็นวันที่เตรียมงาน เตรียมของต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญ และแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน สำหรับใช้ในวันพญาวัน ตอนบ่ายมีการขนทรายจากแม่น้ำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน แล้วช่วยกันก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด และเตรียมตัดกระดาษสีต่างๆ มาทำตุง ทำธงเพื่อเอาไปปักตกแต่งเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น
- วันนี้บางทีก็เรียกกันว่า “วันเน่า” เพราะเป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ห้ามว่าร้ายคนอื่น ถ้าพูดแล้วจะปาก “เน่า” ไม่เจริญ โชคร้ายไปตลอดปี
- วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันเถลิงศกเริ่มจุลศักราชใหม่ ชาวบ้านจะทำบุญประกอบกุศลกันในวันนี้ ชาวบ้านจะตื่นกันตั้งแต่ไก่โห่ เพื่อไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จากนั้นก็เอาตุงที่เตรียมไว้ไปปักตกแต่งเจดีย์ทราย ไปสรงน้ำพระเจดีย์, พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง และสรงน้ำพระสงฆ์ รวมไปถึงรดน้ำดำหัวครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา บุคคลสำคัญในชุมชนนั้นๆ การไปรดน้ำดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของส่วนรวม หรือรดน้ำดำหัวผู้บังคับบัญชา อาจจะจัดเป็นขบวนแห่ ก็สนุกสนานกันไป


 

- ไปรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ขออโหสิกรรม และขอพรจากท่านผู้ใหญ่ ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และน้ำหอม ที่เรียกว่า น้ำขมิ้นส้มป่อย แล้วก็เอาของไปให้ด้วย เช่น ผลไม้ อาหาร เสื้อผ้า เมื่อผู้ใหญ่กล่าวอโหสิกรรม และให้พรแล้ว เราก็จุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยมาลูบหัวตัวเอง
- น้ำขมิ้นส้มป่อยคืออะไร ..เป็นน้ำสะอาดผสมดอกไม้แห้ง เช่น สารภี หรือดอกคำฝอย และผักส้มป่อยเผาไฟ
- การดำหัว เป็นวัฒนธรรมอันสูงยิ่งของภาคเหนือ เป็นการแสดงออกถึงการขออภัย การให้อภัย การแสดงความเคารพนับถือกันและกัน และจิตใจอันเปี่ยมไปด้วยคารวะไมตรี ความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ
- วันพญาวันนิยมกินข้าวกับลาบ เพราะจะทำให้มีโชคลาภตลอดปี
- วันที่ 16 เมษายน คือ “วันปากปี” ถือเป็นวันเริ่มต้นวันปีใหม่ จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา และทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ ซึ่งก็คือการไหว้เทพเจ้าประจำทิศ และมีการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้านกันด้วย
- เชื่อกันว่าวันปากปีจะกินข้าวกับแกงขนุนกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีสิ่งดีๆ มาอุดหนุนค้ำจุนตลอดทั้งปี
- นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่พูดไปแล้ว หลายๆ ท้องที่ก็ยังมีจัดกิจกรรมการละเล่นรื่นเริงสนุกสนาน มีการจัดการแสดง หรือมีการจัดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมไปด้วย เช่น การประกวดกลองมองเซิง, การประกวดกลองหลวง)


ประเพณีสงกรานต์ของภาคอีสาน

- ในประเพณี “บุญสงกรานต์” “บุญเดือนห้า” หรือ “บุญรดน้ำ” ของชาวอีสาน มีประเพณีปฏิบัติที่เคร่งครัด อย่าง “ฮีตสิบสอง” ซึ่งในเดือนห้านี้ ก็เป็นบุญสงกรานต์นั่นเอง
- “ฮีต” ก็คือจารีต “สิบสอง” คือสิบสองเดือน “ฮีตสิบสอง ก็คือประเพณีที่คนอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง 12 เดือน ในแต่ละปี
- การจัดกิจกรรมก็จะมี 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง บางทีก็ 7 วัน แล้วแต่ในท้องถิ่นนั้นจะกำหนด โดยวันแรกจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป


 

- กิจกรรมที่จัดก็จะคล้ายๆ กับภาคเหนือ กิจกรรมหลักๆ ก็คือ สรงน้ำพระพุทธรูป ส่วนใหญ่จะทำกันอยู่แค่วันเดียว จังหวัดจะเป็นคนจัดขบวนแห่ มีพระพุทธรูปและปริวารอื่นๆ พอแห่เสร็จ ก็มีการสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ตามลำดับ
- แล้วก็มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า “สักอนิจจา” ในช่วงเทศกาลนี้พวกคนที่ออกไปทำงานนอกถิ่นฐาน จะกลับมารวมญาติกัน และกลับมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
- นอกจากนี้ก็มีการทำบุญทำทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็จะมีการไปขอพรจากผู้ใหญ่ มีการแสดง และการละเล่นต่างๆ ตามประเพณีท้องถิ่น



- คนหนุ่มสาว และเด็กๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันสนุกสนาน เพื่อสานสัมพันธ์กันและกัน ทุกๆ คนจะงดการทำงาน การทำภารกิจต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ เพราะถือเป็นวันเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทุกคนรอคอมาทั้งปี


 

- ภาคอีสานอย่างจังหวัดนครพนมก็มีการจัดงานสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน เป็นงานรื่นรมย์ บุญปีใหม่ระหว่างไทย กับลาว ที่อำเภอเมือง และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในงานก็จะมีการฮดสรง หรือการสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือที่นครพนมนี้


ประเพณีสงกรานต์ของภาคใต้

- ภาคใต้จะมีความเชื่อที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ นั่นก็คือ ในช่วงสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง



- เรียกเทศกาลนี้ว่า “ประเพณีวันว่าง” เพราะถือว่าเป็นวันที่ละ วาง ทั่งกายและใจ จากภารกิจปกติที่ต้องทำทุกอย่าง
- วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” วันนี้มักจะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รวมทั้งพิธีสะเดาะเคราะห์ที่เรียกว่า “ลอยเคราะห์ หรือลอยแพ” ลงในแม่น้ำ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยไปกับเจ้าเมืองเก่า และมักจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้


 

- วันที่ 14 เมษายน หรือ “วันว่าง” เชื่อว่าวันนี้ยังไม่มีเทวดามารักษาเมือง เพื่อป้องกันปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ชาวบ้านจะหยุดกิจการ การทำงานทุกอย่าง แล้วหันไปทำบุญตักบาตรที่วัด และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- วันที่ 15 เมษายน หรือ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เป็นวันที่รับเทวดาที่มาดูแลรักษาบ้านเมืององค์ใหม่ ชาวบ้านจะต้องต้อนรับด้วยการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับใหม่ๆ เพื่อนำอาหารไปถวายที่วัด
- นอกจากนี้ กิจกรรมที่ชาวใต้ทำก็มีไปปล่อยนก ปล่อยปลา ก่อเจดีย์ทราย และเล่นสาดน้ำกันเหมือนๆ ภาคอื่นๆ)


ประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง

- ประเพณีสงกรานต์ภาคกลางก็คล้ายๆ กับภาคอื่นๆ เหมือนกัน ก็คือทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

- ก่อนวันสงกรานต์ 1 วัน ที่เรียกกันว่า “วันสุกดิบ” ก็จะเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตร หรือเอาไปถวายพระที่วัด อาหาร และขนมที่นิยมทำในเทศกาลนี้ ได้แก่ ข้าวแช่, ข้าวเหนียวแดง, กาละแม, ลอดช่อง



- นอกจากนี้ก็มีทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษ สรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน เล่นสะบ้า การจัดประกวดเทพีสงกรานต์ ขบวนแห่นางสงกรานต์ รวมทั้งขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย)


 

วันไหล

- วันไหล ก็คือ วันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเล แต่เดิมเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงในบริเวณนั้น ก็จะจัดประเพณีนี้ขึ้น โดยชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายตามชายหาดใกล้ๆ เข้าวัด ทำให้วัดได้รับประโยชน์ในการใช้ทรายก่อสร้างเสนาสนะและปูชนียสถานในวัด หรือถมบริเวณวัด ชาวบ้านที่ขนทรายเข้ามาที่วัด ก็จะก่อเป็นรูปกรวยเล็กๆ ให้ครบ 84,000 กอง ให้เท่ากับจำนวนพระธรรมขันต์



- แต่บางตำราบอกว่าในวันไหลนี้ ชาวบ้านจะช่วยกันขุดลอกทรายในห้วยหนองคลองบึงที่ถูกสายฝน และสายลมพัดพามา แล้วนำทรายนั้นไปก่อเป็นองค์พระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และยังช่วยทำให้คูคลองระบายน้ำได้สะดวกมากขึ้นในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง


 

ขอบคุณภาพประกอบ
ภาคเหนือ
https://cms.asiasoft.co.th/images/asiasoft/9425567y6fffe9i.jpg

https://comvariety.com/wp-content/uploads/2011/04/l_07vv.jpg

https://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/images/Pimai14_011_resize.jpg

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/97/Lap_mu_isan.JPG

https://www.mradio.in.th/mradio/wp-content/uploads/2013/04/nn.jpg

ภาคอีสาน
https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRAtvqQLhLHBlgqZksFx0DZQUKdMbRlYlFEhcYaQVshAREU72bb

https://blog.eduzones.com/futurecareer/90442

https://www.madchima.org/forum/index.php?topic=446.0

https://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000039939

ภาคใต้
https://www.online-station.net/entertainment/fun/421

https://sites.google.com/site/songkranalfiriny/home/ng-sngkrant-ni-taela-thxng-thi

https://sci2.hcu.ac.th/webqa/WebQA54/4/4.1/เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์/03.1.html

ภาคกลาง
https://my.kapook.com/imagescontent/fb_img/258/s_84006_6491.jpg
https://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/79419.jpg
วันไหล
https://www.baanmaha.com/wp-content/uploads/2011/04/songkran-Wan-Lai-Pattaya-thailand.jpg