นม มีมากมายหลายชนิด คุณคงอยากจะทราบว่า ผลิตภัณฑ์นมตามท้องตลาดที่ออกมาในรูปของนมผง นมสด บรรจุอยู่ในกระป๋อง กล่อง ถุง หรือขวดนั้น เราควรจะเลือกดื่มประเภทไหนอย่างไรดี จึงจะคุ้มค่าเงินที่เสียไป
นมคืออะไร ? ทำไมคนไทยไม่ชอบกิน ?
นม คือ อาหารธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าเกือบครบถ้วนในตัวเอง ในนํ้านมจะมีทั้งอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ที่เด่นก็คือวิตามินบี 2 ป้องกันไม่ให้เป็นโรคปากนกกระจอก
สำหรับแร่ธาตุที่มีมากคือ แคลเซียม ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี การดื่มนมเป็นประจำจะมีประโยชน์ มากมายแก่สุขภาพ
คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจคุณค่านี้ จึงตีความไปว่า นมคือ อาหารของเด็ก มักจะมีคำพูดที่ว่า “เด็กยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” พ่อแม่บางคนพอลูกอายุครบขวบก็ให้เด็กอดนม หรือเปลี่ยนจากนมผงราคาแพงมาให้กินนมข้นหวาน ซึ่งมีราคาถูก และมีความหวานแทน
ความจริงแล้ว นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าเหมาะกับคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็กซึ่งร่างกายต้องการโปรตีน เพื่อการเจริญเติบโต ฉะนั้นเราจึงควรมาสนใจกับอาหารนมให้มากขึ้นและเลิกความคิดที่ว่า นมเป็นอาหารผูกขาดสำหรับเด็กและทารกเสียที
นํ้านมจากโคพันธุ์นม ที่ถูกรีดมาบรรจุหรือผลิตตามกรรมวิธี ต่าง ๆ ให้เราได้ดื่มกินนั้น มีนมสด นมผง นมข้นหวาน และนมเปรี้ยว โยเกิร์ต
----------------------------------------------------------------------------------------
ประเภทของนมสด : จากนํ้านมมาใส่ถุงใส่กล่อง
นมสด คือนํ้านมดิบที่ได้จากโคนมในท้องตลาดมีจำหน่ายอยู่ 3 ประเภท โดยแบ่งตามกรรมวิธการฆ่าเชื้อโรคในนํ้านม คือ
- นมสดพาสเจอไรช์ คือ
เป็นนมดิบสด 100 % ที่ผ่านความร้อนต่ำประมาณ 62-63 องศาเซนเชียส เป็นเวลา 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ บางชนิด โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารบูดเสียได้
ดังนั้น แม้จะมีการสุญเสียคุณค่าของสารอาหารน้อยมาก แต่ก็ไม่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้ ต้องแช่เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 6 องศาเซนเชียส(ตู้เย็น) และแม้จะแช่เย็นก็จะเก็บไว้ใด้ไม่เกิน 3 - 5 วัน แล้วแต่จะเปิดปิดตู้เย็นให้อุณภูมิอุ่นขึ้นบ่อยแค่ไหน ส่วนใหญ่บรรจุถุง ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติค - นมสดยูเอชที คือ
นมสด 100% ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโรคที่อุณหภูมิ 135 - 150องศาเซลเซียสในระยะ เวลา 2 - 4 วินาที เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกาย ก่อนบรรจุลงกล่องด้วยระบบปลอดเชื้อพิเศษ ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ถูกทำลายแต่ไม่ทำให้คุณค่าของสารอาหารและรสชาติเปลี่ยนไป สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 9 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ต้องแช่เย็น
เนื่องจากกล่องบรรจุมีราคาแพง จึงทำให้นมมีราคาแพงด้วย สะดวกในการพกติดตัวเพื่อดื่ม เพราะไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ ในตู้เย็น - นมสดสเตอริไรช์ ได้แก่
นมสดที่ฆ่าเชื้อโรคในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสในเวลาอันเหมาะสม สมัยก่อนนิยมบรรจุในขวด ปัจจุบันบรรจุในกระป๋องด้วย นมสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 100 -135 องศาเซนเชียส เป็นเวลานาน ซึ่งจากกระบวนการขั้นตอนการผลิตและการบรรจุของนมสเตอริไรซ์ จะทำให้วิตามินที่สำคัญบางตัวอย่างเช่น วิตามิน บี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี สูญเสียไปด้วย
ดังนั้นนมสเตอริไรซ์จึงไม่เหมาะกับเด็ก ๆ ที่กำลังเจริญเติบโต และห้ามใช้เลี้ยงเด็กทารก เพราะจะทำให้ทารกเป็นโรคขาดอาหารได้ โดยทั่วไปนมชนิดนี้มักบรรจุในกระป๋องโลหะที่ปิดสนิท จึงสามารถเก็บได้นาน 1-2 ปี เวลาซื้อควรสังเกตดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุของนมที่ก้นกระป๋องด้วย และหลังจากที่เปิดใช้แล้ว ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อนมจะได้ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว
ปัจจุบันนมสเตอริไรซ์ที่ขายอยู่ในท้องตลาดจะมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่
ชนิดที่ 1 ได้แก่นมสดพร้อมดื่ม
ซึ่งเป็นนมสด 100 % และที่ข้างกล่องหรือกระป๋องจะเขียนว่า "นมสดสเตอร์ริไรซ์" ดื่มได้ทันที เช่นนมสดตราหมีสเตอร์ริลไรซ์
ชนิดที่ 2 คือ นมข้นไม่หวาน (นมข้นจืด)
ซึ่งเป็นนมสดที่ระเหยเอาน้ำออกไปบางส่วน จึงทำให้นมข้นขึ้น และไม่ได้เติมน้ำตาลลงไป นมชนิดนี้นิยมใช้สำหรับเติมใส่เครื่องดื่มพวกน้ำชาหรือกาแฟ หรืออาหารคาวบางชนิดเช่นต้มยำน้ำข้น ซึ่งหากผสมน้ำลงไป 1 เท่าตัวก็จะได้นมสดที่ดื่มได้ทันทีเช่นกัน
ในบางยี่ห้อจะมีการเติมน้ำมันปาล์มลงไปเรียกว่า "นมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน"
ดังนั้นก่อนเลือกซื้อ อย่าลืมดูที่ฉลากข้างกระป๋อง และแนะนำว่าควรซื้อชนิดที่เติมไขมันจะดีกว่า เพราะจะมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่ไม่เติมไขมัน
ส่วนชนิดที่ 3 ได้แก่นมข้นหวาน
คือ นมสดที่มีการระเหยเอาน้ำออกไปบางส่วน จึงทำให้นมมีลักษณะข้นขึ้น แล้วเติมน้ำตาลลงไป หรืออาจจะใช้วิธีละลายนมผงขาดมันเนย ผสมกับไขมันเนยหรือน้ำมันปาล์มเข้าไป แล้วเติมน้ำตาลลงไปประมาณ 45-55 % แล้วแต่ยี่ห้อของนม
ดังนั้นนมข้นหวานจึงเป็นนมที่มีน้ำตาลสูงมากจึงห้ามใช้เลี้ยงทารก หรือใช้เพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารแทนนมกับเด็ก
ซึ่งปัจจุบันทางคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ได้บังคับให้ผู้ผลิตทุกรายเขียนข้างกระป๋องด้วยอักษรสีแดงว่า "ห้ามใช้เลี้ยงทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี"
ขณะเดียวกันก็บังคับให้ผู้ผลิตเติมวิตามินที่สำคัญอย่างเช่น วิตามินเอ วิตามินดี และวิตามินบีหนึ่งลงไปด้วย เพื่อให้นมข้นหวานมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีพ่อแม่บางคนที่ไม่ทราบ และยังนำเอานมข้นหวานไปใช้เลี้ยงลูก จนทำให้เด็กถึงกับพิการตาบอด เนื่องมาจากขาดวิตามิน A
นมสดทั้งสามชนิดนี้ มีคุณค่าทางอาหารไม่ต่างกันมากนัก จะต่างกันก็ในด้านราคาเนื่องจากต้นทุนในการผลิตแตกต่างกันดังกล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------
นมผง : จากนํ้านมสู่ผงนม
นมผง คือนมสดที่นำมาผ่านกรรมวิธีทำให้นํ้าระเหยออกหมด มีมากมายหลายยี่ห้อ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- นมผงดัดแปลงสำหรับทารก
ใช้สำหรับเลี้ยงทารกที่อายุ ตํ่ากว่า 6 เดือน ควรใช้ในกรณี แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้
คุณค่าทางอาหารของนมดังกล่าวเหมาะสมสำหรับทารกหากรู้จักเลือกใช้ เพราะเป็นนมวัวที่ได้รับการดัดแปลงแล้ว แต่ก็ไม่มีทางสู้นมแม่ได้ บางคนเข้าใจว่า นมผงทารกราคาแพงมาก ย่อมดีมาก ความจริงแล้ว ราคาที่แพงนั้นมาจากการดัดแปลงมากกว่า เพื่อให้มีส่วนผสมใกล้เคียงนมแม่ ตัวอย่างนมประเภทนี้ เช่น นมผงสินไทย, สโนว์แนน, เอส 26, เมจิ, ซิมิแลค, เอนฟามิล เป็นต้น
หลักในการเลือกซื้อนมผงดัดแปลงสำหรับทารก
- ต้องมีคำว่า นมผงดัดแปลงสำหรับทารกบนฉลาก (หรือ ภาษาอังกฤษว่า INFANT FORMULA
- เลือกชนิดที่มีธาตุเหล็กผสมอยู่
- ไม่ซื้อนมผงชนิดที่มีนํ้าตาลทราย (หรือซูโครส) คือเลือก ชนิดที่ไม่มีนํ้าตาลทรายผสม โดยอ่านดูจากส่วนประกอบของนมบนฉลาก
- ราคาถูก
วิธีชง ต้องอ่านฉลากประกอบ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสะอาด โดยใช้นํ้าต้มสุกที่เย็นแล้วหรือพออุ่น ๆ ผสมนม ขวดนมต้องล้างให้สะอาด ต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที
- นมผงธรรมดา
เป็นนมวัวที่ระเหยเอานํ้าออก
ตัวอย่างที่ขายในตลาด เช่น คาร์เนชั่น, เนสเปรย์, คลิม, ดูเม็ค, อะแลคต้า, ฟรีเชียน่า, โคสต์ ฯลฯ มักจะเขียนภาษาอังกฤษว่า POWDER WHOLE MILK สามารถใช้ได้ในเด็กทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป มีคุณค่าใกล้เคียงกับนมสด
หลักการเลือกซื้อนมผงธรรมดา
- นมผงของเด็กทารกอายุ 6-9 เดือน ให้เลือกนมผงธรรมดา ที่เขียนบนฉลากว่า “มีเหล็กและวิตามินครบถ้วน”
- นมผงของเด็กอายุเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป ให้เลือกนมผงที่เขียน บนฉลากว่า นมผงธรรมดา
ให้เลือกซื้อชนิดที่มีราคาถูก ถ้าหากว่ามีธาตุเหล็กด้วย โดยราคาไม่แพงก็ควรเลือกซื้อ นอกจากนี้เด็กอาจจะกินนมสดได้แล้ว สำหรับวัยดังกล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------
นมข้นหวาน : นมต้องห้ามสำหรับเด็กและทารก
นมข้นหวานเป็นนม ที่ห้ามใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็กเป็นอันขาด เพราะเป็นนมที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร ถ้านำไปเลี้ยงทารกแล้วจะทำให้เกิดภาวะขาดอาหาร ร่างกายและสมองเติบโตไม่ได้ เจ็บป่วยบ่อย ๆ
บางคนบอกว่า เลี้ยงลูกแล้วอ้วนท้วนได้ด้วยนมข้นหวานนั้น เป็นเพราะความหวานเป็นพลังงานสำคัญตัวหนึ่ง เด็กจะได้พลังงานมากแต่ขาดพวกโปรตีน ซึ่งสำคัญในการเติบโตของทุกส่วน และสร้างเกราะต้านทานโรคด้วย บางคนอ้วนจริง แต่ไม่แข็งแรง ดูเซื่องซึมได้
นมข้นหวานมีความหวานเพราะทำมาจากนํ้าเชื่อมถึง 40-50% เป็นนมที่ขาดมันเนย แต่เติมพวกไขมัน หรือนํ้ามันมะพร้าวแทน มักจะใช้ในการชงกาแฟ จิ้มปาท่องโก๋ มากกว่าจะใช้ชงดื่ม เพื่อเอาประโยชน์จากนม
----------------------------------------------------------------------------------------
รวมความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับนม
ความเชื่อผิด ๆ ของพ่อแม่ไทยสมัยก่อน เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวาน
สมัยก่อน 30-40 ปีที่แล้ว คนนิยมชงด้วยหางนม ซึ่งหมายถึง การเอานมข้นหวานมาชงด้วยน้ำร้อนไม่ให้หวานจนเกินไป จะได้น้ำนมสีขาวขุ่นมีสีเหมือนนมสูตรเลี้ยงทารกทุกประการ ให้ลูกกินกัน เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีนมผง นมขวด หายาก ราคาสูง คนจึงนิยมเอานมข้นมาละลายน้ำชงให้เด็กดื่มด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แต่ทว่า นมข้นหวานมีเนื้อนมน้อย มีน้ำตาลเป็นหลัก จึงเป็นเพียงหางนม เด็กทารกที่ดื่มหางนมแทนนมแม่เป็นประจำนานเข้าจึงเกิดอาการขาดโปรตีนและพลังงาน กลายเป็น “โรคขาดอาหาร” ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นคือในหางนมไม่มีวิตามินเอ จึงทำให้เด็กขาดวิตามินเอร่วมไปด้วย ผลที่ตามมาคือ “เด็กตาบอดถาวร”
ฉนั้น หน่วยงานราชการ กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้นมข้นหวาน นมข้นคืนรูปหวาน นมข้นขาดมันเนย นมข้นขาดมันเนยคืนรูปหวาน และนมข้นแปลงไขมันหวาน ต้องแสดงข้อความเห็นชัดเจนว่า “อย่าใช้เลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะจะทำให้ขาดสารอาหาร อาจทำให้ตาบอด”
ความเชื่อผิด ๆ : นมเปรี้ยว คือนมบูด?
นมเปรี้ยว คือ นมที่มีรสเปรี้ยวหรือนมที่มีกรดอ่อน ๆ เวลากินเข้าไปจะรู้สึกว่า ไม่ใช่นมธรรมดามีการดัดแปลงให้เปรี้ยวโดยใส่เชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสซึ่งพบโดยปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยเอามาหมักกับนมจนกระทั่งเกิดรสเปรี้ยวและ ความเป็นกรดขึ้น
นมบูด คือ นมที่มีเชื้อโรคชนิดที่กินไม่ได้ ไปทำปฏิกิริยากับนมจนบูดเหมือนอาหารบูดทั่ว ๆ ไป หากกินเข้าไปแล้ว จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย คือเกิดท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนได้
ฉะนั้น นมเปรี้ยว จึงไม่ใช่นมบูด แต่นมเปรี้ยวก็มีโอกาสจะเป็นนมเปรี้ยวที่บูดได้ หากเก็บไว้นานเกินไป จนหมดอายุ หรือเป็นนมที่มีการบรรจุไม่ดี มีเชื้อโรคตัวอื่นปนเข้าไปด้วย
นมเปรี้ยวที่ทำสะอาดถูกต้องและยังไม่หมดอายุ ก็ไม่มีอันตรายอะไร แต่ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะถ้าเก็บในที่อุณหภูมิธรรมดาหรือร้อน เชื้ออาจจะมีมากขึ้นเกินต้องการหรืออาจถูกทำลายโดยความร้อน ทำให้ไม่ได้ประโยชน์ในการกิน
นมที่ใช้ทำนมเปรี้ยว
ส่วนใหญ่เป็นนมขาดมันเนย แล้วเติมนํ้าตาล เติมเชื้อ ในแง่ของคุณค่าอาหารมีน้อยกว่านมสด แต่ดีกว่าตรงที่เชื้อจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในนั้น จะช่วยแก้ปัญหา ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปกป้องทางเดินอาหารจากเชื้อจุลินทรีย์บางตัวที่อาจเข้ามารุกลํ้า เช่น ในบางคนที่กินพวกยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค ยานี้จะไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งมักจะพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ปกติหรือบางรายท้องเสียมีการอักเสบของทางเดินอาหาร หากอักเสบนาน ๆ จะมีการระคายเคืองเยื่อบุลำไส้ เราใช้นมเปรี้ยวในการรักษาผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าวได้
สำหรับการใช้นมเปรี้ยวรักษาท้องเสียนั้น ให้กินทีละนิด เริ่ม จากครั้งละ 1-2 ช้อนต่อวัน ต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1-3 ครั้ง เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยให้มีอาการดีขึ้น
ความคิดนี้จึงกลับกันกับที่เรามักจะได้ยินว่า นมเปรี้ยวเป็นตัวช่วยระบายท้องไม่ให้ท้องผูก ในแง่ของการใช้นมเปรี้ยวเพื่อ แก้ท้องผูกนั้น ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ โดยทั่ว ๆ ไปเราจะสนับสนุนการแก้ท้องผูกด้วยวิธีกินนํ้ามาก ๆ กินอาหารที่มีกากสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ฯลฯ และออกกำลังกายผ่อนคลายความตึงเครียดมากกว่า
ไม่มีการกำหนดตายตัวว่า จะต้องกินนมเปรี้ยวทุกวัน หรือกินวันละเท่าใด แล้วแต่นิสัยการกินของแต่ละคน ถ้าให้เด็กกินก็สามารถให้กินได้ทุกวัน แต่คงไม่ถึงกับจำเป็นต้องกินทุกวัน หากเรากินอาหารที่มีความสุกสะอาดได้ครบถ้วน 5 หมู่
วิธีเลือกซื้อนมเปรี้ยว
ก่อนซื้อควรดูว่านมเปรี้ยวนั้นหมดอายุหรือไม่ และหากพบตะกอน หรือก้อน ๆ ที่ก้นขวด อาจเป็นนมเปรี้ยวที่เสียจึงไม่ควรซื้อ ภาชนะที่ใช้บรรจุนมเปรี้ยวต้องสะอาดไม่บุบสลาย
โยเกิร์ต เป็นนมเปรี้ยวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะครึ่งแข็งครึ่งเหลว ไม่เป็นนํ้า ต้องเก็บในที่มีความเย็น
ความเชื่อผิด ๆ เรื่องวิธีการดื่มนม
- นมยิ่งข้นยิ่งดี เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากขึ้น คุณคิดผิดแล้ว! นมที่ข้นจากการเติมนมผงลงไปมากๆ แต่เติมน้ำน้อย หรือคิดไปว่านมสดรสชาติจืดไปจึงเติมนมผง อาจจะทำให้เกิดความเข้มเกินมาตรฐานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ! ถ้าการเลี้ยงทารกด้วยนมที่ข้นจนเกินไป อาจจะทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องผูก ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่เจริญอาหาร และลำไส้เล็กอาจมีเลือดออกจนอักเสบ
- ไม่ควรเติมน้ำตาลเกิน 8 กรัมต่อนม 100 มิลลิลิตร ถ้าจะเติมควรใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อนจะดีที่สุด เพราะเป็นน้ำตาลที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย และไม่ควรเติมน้ำตาลในนมร้อนๆเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดสารพิษต่อร่างกายได้ (ควรเติมในขณะที่อุณหภูมิ 40-50 องศา)
- การเติมช็อกโกแลตลงในนมอาจจะทำให้แคลเซียมในนมกับกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ในช็อกโกแลตผสมกัน เกิดเป็นแคลเซียมออกซาลิก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายสุขภาพ ส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม มีอาการท้องเสีย เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกเปราะ ผมแห้ง และเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- บางคนคิดว่าการรับประทานยาพร้อมกับนมจะมีประโยชน์กับร่างกาย คุณคิดผิดแล้ว ! เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมของยาได้ ทำให้ความเข้มข้นของาในเลือดลดลง ดังนั้น คุณไม่ควรดื่มนมก่อนหรือหลังรับประทานยา 1-2 ชั่วโมง
- การต้มนมให้เดือดด้วยอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้น้ำตาลในนมไหม้เกรียมได้ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แคลเซียมเกิดตะกอนทำให้ดูดซึมได้ยากขึ้น ทางที่ดีการต้มเพื่อฆ่าเชื้อในนมใช้อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียสประมาณ 6 นาที หรือที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสประมาณ 3 นาทีก็เพียงพอแล้ว
- การเติมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มลงในนม อาจจะไปทำลายโปรตีนในน้ำนมได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
- คุณหรือลูกน้อยของคุณไม่ควรรับประทานข้าวต้มพร้อมกับการดื่มนม เพราะจะไปทำลายวิตามิเอในนมได้ และจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า
- การเลี้ยงทารกด้วยนมเปรี้ยว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จริงอยู่ที่นมเปรี้ยวจะช่วยในการย่อยอาหาร และจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวแม้จะฆ่าเชื้อแล้ว แต่ก็จะไปทำลายกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ จนส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร โดยเฉพาะทารกที่มีกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ การรับประทานนมเปรี้ยวอาจทำให้มีอาการหนักขึ้นและอาเจียนได้
- นมข้นสามารถใช้แทนนมสดได้ ผิดถนัด!
เพราะนมข้นในสูตรต้องเติมน้ำอ้อยสูงถึง 40% และต้องเติมน้ำประมาณ 5-8 เท่าจึงจะดื่มได้ แต่กลับกันความเข้มข้นของโปรตีนและไขมันก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงมากกว่านมสดถึง 50% - การเอานมไปตากแดดเพื่อเพิ่มปริมาณ วิตามินดี เพื่อเสริมการทำงานของ ธาตุแคลเซียม มันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันคุณอาจจะเสีย วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี ในนมได้ และอาจทำให้นมเสียด้วย
---------------------------------------------------------------------------------
เนื้อหาเรียบเรียงจาก
https://www.healthcarethai.com/ https://www.thailabonline.com/food-effectf.htm https://guru.google.co.th/guru/thread?tid=3fa6cb80404fdf19 https://www.greenerald.com/%E0%B8%99%E0%B8%A1/
https://www.oknation.net/blog/print.php?id=406628
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151469877231123&set=a.468678016122.255756.151464141122&type=1&theater
https://www.childanddevelopment.com
https://www.thainannyclub.com/
https://www.pantip.com