|
||
•• ในบันทึกประวัติศาสตร์จะถือว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2482 คือ วันเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยยึดตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ
แต่ในทาง กฎหมาย แล้วต้องถือเอาวันที่ 26 สิงหาคม 2482 อันเป็นวันที่รัฐบาลสมัยนั้นเสนอ ร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศ ต่อ รัฐสภา และผ่าน วาระที่ 3 ในอีก 1 เดือนถัดมา นั่นเอง
•• คำแถลงต่อ รัฐสภา ของ จอมพลป. พิบูลสงคราม (หรือในขณะนั้นเรียกกันว่า นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม) ได้ระบุ เหตุผลหลัก ไว้ในลักษณะให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าเพื่อ ต่อต้านคนจีน(ในสยาม) ดังคำกล่าวตอนหนึ่งที่บันทึกว่า
“...การที่เราใช้คำว่า ประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น.”
•• ในรัฐสภาครั้งกระนั้น วันที่ 26 สิงหาคม 2482 ประเด็นเดียวที่ ถกกันหนัก ใช้เวลา กว่า 1 ชั่วโมง ก็คือ ตัวสะกด ของชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ว่าควรจะมี ย ต่อท้าย ไท หรือไม่ – ปรากฏว่า ไทย ได้รับความเห็นชอบ เป็นเอกฉันท์
•• จากนั้นมามี การถกเถียงอย่างจริงจัง ถึงการจะกลับไปใช้ชื่อ สยาม อีกในการอภิปรายใน สภาร่างรัฐธรรมนูญ รวม 3 ยุค คือ ปี 2491, ปี 2504 และ ปี 2517
•• ล่าสุด ปี 2517 แม้จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 – 3 คนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายแต่ก็ ไม่ได้รับความสนใจ ไม่เป็น ประเด็น ที่จะต้อง ลงมติ แต่ประการใด
•• ต้นคิดจริง ๆ ของ การเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยาม มาเป็น ไทย นี้นอกเหนือจาก จอมพลป. พิบูลสงคราม แล้วคนที่มีส่วนผลักดันสำคัญเห็นจะเป็น "หลวงวิจิตรวาทการ" ผู้ประกาศแนวคิด ต่อต้านคนจีน มาโดยตลอด
หลวงวิจิตรวาทการ ที่น่าศึกษาไม่น้อยเหตุผล 4 ประการ ของท่านผู้นี้ในข้อเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศก็คือคำว่า สยาม มีปัญหารวม 4 ประการ
- ประการที่หนึ่งคือ ทำให้คนไทยมีสัญชาติกับบังคับไม่ตรงกัน (กล่าวคือ สัญชาติไทย, บังคับสยาม)
- ประการที่สองคือ ชื่อภาษากับชื่อคนไม่ตรงกัน (กล่าวคือ คนสยาม, ภาษาไทย)
- ประการที่สามคือ ในประเทศเดียวกันเกิดปวงชนเป็น 2 พวก (กล่าวคือ ปวงชนชาวไทย กับ ปวงชนชาวสยาม)
- ประการสุดท้าย ความใหญ่หลวงของเชื้อชาติไทยที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก (ที่นับรวมกันแล้วได้ 36 ล้านคน ใน ปี 2482)
•• แม้จะอรรถาธิบายใน ปี 2517 แต่ใน ปี 2482 จะเห็นได้ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ได้ออกแรง คัดค้านอย่างถึงที่สุด สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพราะ ไม่ต้องการสร้างความแตกแยกขึ้นในคณะราษฎร ข้อคัดค้านที่ มีเหตุผลที่สุด ของ วันที่ 8 พฤษภาคม 2482 จึงยังคงเป็นของ นายพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กับประโยคที่ว่า
“...ในแง่นโยบายปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้วใช้ว่าไทย เกรงว่าเขาอาจจะน้อยใจได้ อนึ่ง ถ้าเราเลิกใช้คำสยาม ใช้แต่ไทย จะเกิดความรู้สึกว่าเอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่าสยามก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไป อาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้.”
•• ประเด็นที่ ท่านปรีดี พนมยงค์ จริงจังคือ ชื่อภาษาอังกฤษ ของ ประเทศไทย, คนไทย ว่าควรใช้ Siam, Siamese ดังนั้นเมื่อท่านมีอำนาจใน ปี 2489 ท่านจึงเสนอให้รัฐบาล ทวี บุณยเกต ประกาศ ชื่อภาษาอังกฤษ ของ ประเทศไทย, คนไทย เสียใหม่ว่า Siam, Siamese โดยไม่ได้ดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งก็ใช้อยู่ไม่นานเพราะ เมื่อ จอมพลป. พิบูลสงคราม กลับขึ้นไปมีอำนาจหลัง ปี 2492 ก็กลับไปใช้ Thailand, Thai อย่างเดิม
•• พูดง่าย ๆ ก็คือประเทศนี้ เสียโอกาสครั้งสำคัญ ในช่วง ปี 2489 ที่จะกลับไปใช้ชื่อ สยาม เพราะหลังจากนั้นมาแม้จะมีความพยายามจาก เสียงข้างน้อย แต่ก็ พ่าย ต่อ เสียงข้างมาก
ภายหลังการเปลี่ยนนามประเทศดังกล่าว รัฐบาลในสมัยนั้น ยังได้ดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มีการเปลี่ยนแปลงนามและชื่อต่างๆ อีก ดังนี้
2.1 เปลี่ยนแปลงแก้ไข “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” โดยขอมติจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 3 ตุลาคม 2482
2.2 เปลี่ยนเนื้อร้องของ “เพลงชาติ” ซึ่งขุนวิจิตรมาตราแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า
“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า”
และมีคำลงท้ายว่า “เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เทิดไทย ไชโย”
ให้กลายเป็นเนื้อร้องของ “กองทัพบก” (โดยหลวงสารานุประพันธ์ เมื่อ 10 ธันวาคม 2482) ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน”
และมีคำลงท้ายว่า “สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศไทยทวีมีชัย ไชโย”
2.3 เปลี่ยนและตัดเนื้อร้องกับทำนอง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” เมื่อ 26 เมษายน 2483 ให้สั้นลง เหลือเพียง “สังเขป” ดังนี้ “ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจจะถวายชัย ชโย”
ทั้งนี้โดยตัดตอนกลางออก คือ “เอกบรมจักริน พระสยามินทร์ พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์”
เนื้อ และทำนอง “สังเขป” นี้ถูกใช้อยู่ 5 ปี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จกลับจากสวิตเซอร์แลนด์ตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 5 ธันวาคม 2488 และโดยที่รัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงคราม ไม่ได้อยู่ในอำนาจ (ชั่วคราว) ทำนองและเนื้อร้องสมบูรณ์ก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่
2.4 ทำให้มีการเปลี่ยนนาม “พระสยามเทวาธิราช” เป็น “พระไทยเทวาธิราช” นามของเทพพิทักษ์กรุงสยามนี้ สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับข้อความข้างต้น ทั้งยังเป็นนามที่มิได้มีการเขียนบํญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในประกาศกฏ หมายอย่างเป็นทางการใดๆ จึงทำให้เปลี่ยนกลับได้โดยง่าย (ต่างกับนามของประเทศข้างต้น)
2.5 ทำให้มีการเปลี่ยนนามของ “สยามสมาคม” และ The Siam Society เป็นไปว่า “สมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย” หรือ The Thailand Research Society อยู่ 5 ปีระหว่าง พ.ศ. 2485-2489 (1942-1946) “สยามสมาคม” เปลี่ยนกลับมาได้ก็ด้วยคำอธิบายเช่นเดียวกับกรณีของ “พระสยาม(ไทย)เทวาธิราช”
2.6 นอกจากนี้ รัฐบาลสมัยนั้นยังให้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทขนาดใหญ่ๆ เช่น “สยามกัมมาจล” เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” เปลี่ยนจากภาษาอังกฤษว่า The Siam Commercial Bank เป็น The Thai Commercial Bank เมื่อ 27 มกราคม 2482 (มกราคมสมัยนั้น ถือเป็นเดือน 10 ยังไม่ใช่เดือนแรกของปีปฏิทิน จนกระทั่ง พ.ศ. 2484)
กรณีของธนาคารนี้จะแปลกกว่ากรณีอื่นๆ คือ เมื่อรัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงครามไม่ได้เป็นรัฐบาลช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็มีการเปลี่ยนกลับ แต่เปลี่ยนกลับแบบ “พันทาง/ลูกผสม” (พ.ศ. 2489) คือ เปลี่ยนเฉพาะในภาษาอังกฤษ ไม่เปลี่ยนในภาษาไทย ดังนั้น นามปัจจุบัน คือ “ธนาคารไทยพาณิชย์/The Siam Commercial Bank” ซึ่งเป็น “พันทาง/ลูกผสม” คล้ายๆกับกรณีของ "บริษัทปูนซิเมนต์ไทย" ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Siam Cement" และเคยเปลี่ยนเป็น "The Thai Cement" (พ.ศ.2482 แล้วก็เปลี่ยนกลับอีกใน พ.ศ. 2489)
2.7 รัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนนามของ“มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The University of Moral and Political Sciences (UMPS) เป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ Thammasat University (TU) เมื่อปี พ.ศ. 2495 แล้วตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม (นรม. สมัยนั้น) เป็นอธิการบดี (แทนผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. ก็มีการตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เข้าเป็นอธิการบดีแทนอีกด้วย)
มุมมองต่างๆ ของชื่อ สยามประเทศ
ในแง่ประวัติศาสตร์
ชื่อสยาม เป็นชื่อของดินแดนนี้มาก่อนสุโขทัยเป็นราชธานี ตามเอกสารจีนโบราณเรียกว่า “เสียมล้อ” เมื่อฝรั่งเข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยอยุธยาจึงเรียกชื่อประเทศตามนี้ “สยาม” จึงเป็นชื่อที่มีประวัติอันยาวนานจนกระทั่งเป็นที่คุ้นเคยกับนานาประเทศ
ภายในประเทศถือว่า “สยาม” เป็นชื่อ “สูง” ใช้เฉพาะวรรณคดีและภาษาราชการ ส่วนภาษาพูดคนทั่วไปเรียกประเทศว่า “เมืองไทย”
ในแง่พุทธคติ
คำว่า “สยาม” มาจากภาษาบาลี มีความหมายทางศาสนาดังนี้ (1) ส. แปลว่า ร่วม (2) ยาม คือยามะ แปลว่าสวรรค์ชั้นที่ 3 (3) สยาม จึงหมายถึงแผ่นดินร่วมสวรรค์ชั้นยามะซึ่งเป็นชั้นที่พระโพธิสัตว์(กล่าวคือพระมหากษัตริย์)ลงมาร่วมจุติ ดังนั้น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์จึงทรงพระนามตามคำนี้ ดังเช่น พระสยามินทร์ และพระสยามบรมราชกุมารี”.
ในแง่โหราศาสตร์
(1) ส.ซึ่งนำหน้าชื่อสยามเป็นทักษานามตามกำลังของดาวพระศุกร์ อันเป็นดาวแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความหมายในชื่อสยามก็คือแผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์
(2) ดวงเมืองที่ผูกไว้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชื่อประเทศ “สยาม” และโหรถือว่า การที่ชื่อประเทศไม่ตรงต่อดวงเมืองทำให้ประเทศต้องล้มลุกคลุกคลาน ทั้งๆที่มีทรัพยากรเป็นอันมาก
ในแง่รัฐศาสตร์
(1) คำว่า “ประเทศไทย” บ่งถึงเชื้อชาติ ดังเช่นใน “เพลงชาติ” ซึ่งร้องกันอยู่ทุกวันนี้ (อีกทั้งเป็นเพลง“สาธารณรัฐ”) ส่วนคำว่า “สยาม” บ่งถึงสัญชาติ ดังนั้น สยามประเทศจึงเป็นแผ่นดินที่ประกอบด้วยคนหลายเผ่าหลายศาสนาถึงแม้เผ่าไทยและพุทธศาสนิกชนจะมีมากกว่ากลุ่มชนอื่น ทุกคนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติโดยยึดถือพระสยามินทร์เป็นองค์ประมุของค์เดียวกัน
(2) ทุกวันนี้ ชาวมุสลิมปักษ์ใต้ที่สูงอายุขานพระนามพระมหากษัตริย์ว่า “รายาเซียม”
(3) พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเมื่อครั้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกมีดังนี้ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทั้งนี้เพราะคำว่า “มหาชนชาวสยาม” มีความหมายที่กว้าง สามารถรวมประชาชนทุกเผ่าทุกศาสนาให้อยู่ด้วยกันได้
ในแง่รัฐธรรมนูญ
อาจมีผู้สงสัยถามว่า ในปัจจุบันการใช้ชื่อ “สยาม” หรือ “สยามประเทศ” ผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่ผิด ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับที่หนึ่งเขียนแล้วแก้อยู่ตลอดเวลา แต่อีกฉบับหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากขนบธรรมเนียมประเพณี (common law) จากคติธรรม จากทศพิธราชธรรม และจากคำพิพากษาศาล หรือตัวอย่างบรรทัดฐาน (precedence) กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีความศักดิ์สิทธิ์
ตามรัฐธรรมนูญที่กล่าวนี้ ในพระบรมราชโองการจึงยังมีการใช้ชื่อประเทศ “สยาม” เช่น ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 89 ตอนที่ 200 วันที่ 28ธันวาคม พ.ศ. 2515 เมื่อราชกิจจานุเบกษาเป็นเอกสารทางราชการ จึงแสดงให้เห็นว่า “สยามประเทศ” เป็นชื่อของราชอาณาจักรนี้อยู่ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
โดยในปัจจุบัน การเปลี่ยนชื่อจาก "ไทย" กลับเป็น "สยาม" ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงสำหรับนักวิชาการ
เรียบเรียงจาก :
https://library.uru.ac.th/webdb/images/ManagerOnline7.html
บทความของ ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา https://www.somdiaryonline.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539098118&Ntype=5