โรคระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินอาหาร คือ อวัยวะของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร ซึ่งรวมทั้งการดูดซึม และการขับถ่าย อวัยวะดังกล่าว ได้แก่ ปาก คอหอย กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อนก็อาจจัดอยู่ในระบบนี้ด้วย อาการที่พบบ่อยในโรคระบบทางเดินอาหารมีดังนี้ ปวดท้อง มีลักษณะการปวดและสาเหตุหลายอย่างดังต่อ ไปนี้ ปวดท้องเนื่องจากแผลเพปติก (peptic ulcer) มักมีอาการปวดหรือแน่นบริเวณยอดอก และมีความสัมพันธ์กับอาหารที่กิน อาการปวดมักหายไป เมื่อกินยาที่มีฤทธิ์ทำลายกรด หากแผลเพปติกนั้นมีความรุนแรงและลึก ความสัมพันธ์กับอาหารดังกล่าวอาจหายไป ทำให้ผู้ป่วยปวดท้องตลอดเวลา และอาจปวดร้าวไปถึงกลางหลัง ในผู้ป่วยที่เป็นแผลหรือมีการอักเสบของส่วนล่างของหลอดอาหาร อาจมีอาการแสบท้อง เมื่อถูกกรด เช่น เวลาอาเจียน เป็นต้น บิลลิอารีโคลิก (biliary colic) เกิดเนื่องจากนิ่วใน ถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ มักปวดท้องบริเวณยอดอก หรือชายโครงขวา อาการปวดมีลักษณะคล้ายคลื่น กล่าวคือ จะปวดทันที และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขีดสุดภายใน ๕-๑๕ นาที แล้วค่อยทุเลาลง ขณะปวดมากๆ ผู้ป่วยมีอาการทุรนทุราย ซีด เหงื่อออกมาก และมักมีอาเจียนร่วมด้วย บางครั้งอาจปวดรุนแรง และเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง อาการจะทุเลาถ้ากินยาแก้ปวด หรือยาต้านการหดเกร็งของถุงน้ำดี โคลิกจากไต (renal colic) เช่น มีนิ่วในกรวยไต หรือท่อไต การปวดมีลักษณะเช่นเดียวกับบิลลิอารีโคลิก แต่มีระยะเวลาปวดนานกว่า เป็นต้น ปวดท้องเนื่องจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นการปวดทั่วๆไป และตลอดเวลา อาจมีความรุนแรงมาก จนทำให้ผู้ป่วยช็อก (shock) ได้ หน้าท้องแข็งตึง เหมือนกระดาน และอาจมีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน ร่วมด้วย ปวดท้องเนื่องจากอวัยวะอื่น มักปวดที่บริเวณอวัยวะนั้นๆ เช่น ตับโตอย่างรวดเร็ว จะปวดที่บริเวณชายโครงขวา ไส้ติ่งอักเสบจะปวดที่ท้องน้อยขวา และกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะปวดที่หัวหน่าว เป็นต้น อาเจียน อาจมีสาเหตุได้หลายอย่างดังต่อไปนี้ ๑. เนื่องจากโรคของทางเดินอาหาร เช่น มี การอุดกั้นที่ไพลอริก (pyloric obstruction) หรือที่ลำไส้เล็ก อาการอาเจียนมักจะมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดด้วย ๒. สาเหตุทางจิตใจ เช่น ดีใจมาก เสียใจ มาก ตื่นเต้น และกลัว ๓. สาเหตุจากสมอง เช่น มีความดันภายใน กะโหลกศีรษะสูงเกินปกติโดยสาเหตุต่างๆ ๔. สาเหตุอื่น เช่น อาเจียน อาจเกิดร่วมกับ มีไข้สูง อาเจียนจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย เป็นต้น ท้องเดิน ท้องเดินเฉียบพลัน มักเกิดจากการอักเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้อย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น กินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อบัคเตรี แพ้อาหาร นอกจากนี้อาจเกิดจากการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เช่น จากเชื้อบิดอะมีบิก (amoebic dysentery) และเชื้อบิดบะซิลลารี (bacillary dysen- tery) เป็นต้น ท้องเดินเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคของ ลำไส้ เช่น ลำไส้ดูดซึมได้ไม่ดี ลำไส้ใหญ่อักเสบ เรื้อรัง และมีแผล เป็นต้น ท้องผูก อาการท้องผูกมีสาเหตุได้มากมาย เช่น มีไข้ ขาดน้ำ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาให้หายแล้ว อาการท้องผูกจะหายไป ส่วนอาการท้องผูกเป็นนิสัย เกิดจากลำไส้ทำงานเชื่องช้ากว่าธรรมดา ร่วมกับความไม่พยายามที่จะถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีอาการปวด ทำให้มีนิสัยถ่ายอุจจาระไม่เป็นประจำในเวลาที่สมควร อาการท้องผูกอาจแสดงว่า เป็นโรคของลำไส้ที่ร้ายแรงก็ได้ เช่น ลำไส้อุดกั้น เป็นต้น กลืนอาหารลำบาก อาจมีสาเหตุได้หลายอย่างดังนี้ ๑. โรคของปากและคอหอย ที่มีการเจ็บปวดร่วม เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ คอหอยอักเสบ ๒. โรคของหลอดอาหาร ได้แก่ ก. โรคภายในรูหลอดอาหาร มีสาเหตุจากการมีสิ่งแปลกปลอมไปติดอยู่ เช่น ก้างปลา เมล็ดผลไม้ เป็นต้น
ข. โรคของหลอดอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ มะเร็งของหลอดอาหาร เป็นต้น ค. หลอดอาหารถูกกดจากภายนอก เช่น ต่อมไทรอยด์โต ต่อมน้ำเหลืองโต หลอดเลือดโป่งพอง และหัวใจโต เป็นต้น ๓. ประสาทที่ควบคุมการกลืนเสียหน้าที่ เช่น เนื้องอกไขสันหลังส่วนบน ไมแอสทีเนียกราวิส และประสาทส่วนปลายอักเสบ เป็นต้น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการกินสารที่ระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ กรดเข้มข้น เป็นต้น พิษจากอาหารซึ่งมีบัคเตรี เช่น สตาฟิโลค็อกไซ เป็นต้น ยา เช่น ซาลิซิเลต (salicylates) เป็นต้น โรคติดเชื้อเฉียบพลัน ที่ทำให้มีไข้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น และจากการลุกลามโดยตรง จากเชื้อบัคเตรีที่ทำให้เกิดหนอง เช่น สเตร็ปโตค็อกไซ เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และแน่นท้อง อาเจียนอาจมีเลือดปน อาการดังกล่าวมักหายไปได้เองภายใน ๒-๓ วัน ถ้าผู้ป่วยไม่กินสิ่งระคายเคือง หรือหลบหลีกสาเหตุต่างๆที่ทราบ การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้เลือด ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มักทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเหี่ยว สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ พิษสุราเรื้อรัง ซึ่งมีผลทำให้ความสามารถในการสร้างสิ่งขับหลั่งต่างๆ ของกระเพาะอาหารเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรดเกลือเพปซิน (pepsin) และอินทรินซิกแฟกเตอร์ (intrinsic factor) อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และแน่นท้อง ซึ่งเป็นอาการเสมือนหนึ่งอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้หยุดสุราโดยเด็ดขาด ผู้ป่วยที่มีสาเหตุทางจิตใจ ก็ควรได้รับการบำบัดเช่นกัน การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาตามอาการ โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดที่เยื่อบุหนาขึ้น เป็นโรคที่พบได้น้อยในประเทศไทย โรคแผลเพปติก โรคแผลเพปติก คือ ภาวะที่มีแผลซึ่งอาจเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร ส่วนล่างของหลอดอาหาร ดูโอดินัม (duodenum) เจจูนัม (jejunum) ส่วนบน ตรงรอยต่อผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือเมกเกลส์ไดเวอร์ทิคุลัม (Meckel's diverticulum) แผลเพปติกอาจเกิดได้ ทั้งชนิดปัจจุบัน และเรื้อรัง แผลเพปติกปัจจุบันมักเกิดจากสิ่งระคายเคือง เช่น ยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน อาหารที่มีรสเผ็ดจัด ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก อาเจียนเป็นเลือด และกระเพาะอาหารทะลุได้ เป็นต้น แผลเพปติกเรื้อรัง แผลเพปติกเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะพบที่ดูโอดินัม และกระเพาะอาหาร แผลกระเพาะอาหารส่วนใหญ่มักเกิดที่ส่วนโค้งเล็ก และบริเวณใกล้เคียงในกระเพาะอาหาร แผลดูโอดินัมมักพบที่ส่วนต้นของอวัยวะนี้ และมักเกิดร่วมกับการมีกรดในกระเพาะอาหารสูง ในขณะที่แผลในกระเพาะอาหารเองมักมีกรดในกระเพาะอาหารปกติ |
|
ยาลดกรด
|
|
ยาลดการหดตัว ได้แก่ ยาพวกเบลลาดอนนา (belladonna) และอะโทรพีน (atropine) ซึ่งมีฤทธิ์ ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะลดลง และยังลดการขับหลั่งจากกระเพาะอาหารอีกด้วย ยานี้ให้ประโยชน์ โดยเฉพาะให้ร่วมกับยาลดกรด เช่น กินก่อนนอนจะช่วยให้ยาลดกรดอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานขึ้น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อย มากที่สุดอันหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร และพบในผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิงเล็กน้อย อาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร ปวดหรือแน่นบริเวณยอดอก อาการนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับอาหารเหมือนกับในแผลเพปติก และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ผู้ป่วยจึงอาจคิดว่า ไม่สำคัญจนกระทั่งมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงมาพบแพทย์ อาการดีซ่าน อาการดีซ่าน หรือตาตัวเหลือง (jaundice) คือ ภาวะที่มีอาการคั่งค้างของบิลลิรูบิน (bilirubin) เกินปกติในเลือด ทำให้สารนี้ไปย้อมจับที่ผิวหนัง เล็บ ตาขาว เป็นสีเหลือง ภาวะตับวาย ภาวะตับวาย คือ ภาวะที่ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา อาการที่พบในภาวะตับวายมีได้หลายชนิด เช่น สุขภาพโดยทั่วไปไม่แข็งแรง การหมุนเวียนของเลือดผิดปกติ ทำให้มีเลือดไหลสู่แขนขามาก มีการคั่งค้างของคาร์บอนไดออกไซด์ ปลายมือปลายเท้าแดง (flush) หัวใจเต้นเร็วเกินปกติ เกิดอาการดีซ่านอาจมีผิวหนัง สีเขียวคล้ำ ไข้ หายใจมีกลิ่น ฝ่ามือมีสีแดง มีสารน้ำในช่องท้อง ท้องมาน ไม่มีประจำเดือน อัณฑะเหี่ยว ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก ความรู้สึกตัวจะเสียไป จนอาจถึงหมดสติได้ การนอนอาจผิดปกติ เช่น นอนมากเวลากลางวัน แต่กลางคืนกลับไม่หลับ และเอะอะ ความจำ และความฉลาดเสื่อมลง พูดไม่ชัด เสียงค่อย และมือมักสั่น โรคตับแข็ง โรคตับแข็ง คือ ภาวะที่มีการตายของเซลล์ ตับแล้วมีการงอกใหม่ของเซลล์ตับนั้น แต่ไม่เป็นระเบียบ ทำให้มีลักษณะเป็นปุ่มป่ำ และมีพังผืดกระจัดกระจายทั่วส่วนของตับ การมีพังผืดเกิดขึ้นอย่างเดียวไม่ใช่โรคตับแข็ง |
|
โรคฝีในตับ |
ที่มา https://kanchanapisek.or.th