ก่อนอื่นอยากให้น้อง ๆ เข้าใจก่อนว่า Portfolio คืออะไร ? ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ Portfolio เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมผลงานของเรา จะเป็นการแนะนำตัวเราว่าเราคือใคร มีทักษะความสามารถแบบไหน ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวมและย่อยลงไปในสมุด แฟ้ม หรือรูปเล่ม น้อง ๆ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นแฟ้มสะสมผลงานเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วมันสำคัญมากกว่านั้น เพราะมันสามารถเป็น First Impression ที่บ่งบอกได้ถึงความสามารถ ทัศนคติของตัวเราเอง รวมไปถึงกิจกรรมที่เคยร่วมและความสนใจของเรา เหมาะสำหรับคณะที่อยากจะเข้าหรืองานที่เราอยากจะทำหรือไม่ เพราะฉะนั้นพี่จึงไม่อยากให้น้อง ๆ พลาดโอกาสในการทำคะแนนในส่วนนี้ไป
ถึงแม้เราจะเคยทำกิจกรรมมามาก แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งหมด ควรเลือกสิ่งที่เกี่ยวข้องที่สุดใส่ลงไปก่อน พอร์ตที่ดีไม่ควรทำเกิน 10 หน้า ซึ่งใน 10 หน้านี้จะประกอบไปด้วย
หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า) : เราคือใคร
หน้า 1 : เรามีทักษะอะไร
หน้า 2 : ประวัติการศึกษา
หน้า 3 : ทำไมเราจึงอยากเข้าเรียนในคณะ สาขา และมหาวิทยาลัยนี้
หน้า 4-6 : นำเสนอผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่าง ๆ
หน้า 7-10 : กิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำ
เรามาขยายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำไปใส่ใน Portfolio กันดีกว่า ว่าน้อง ๆ ควรจะใช้ข้อมูล และผลงานแบบไหนได้บ้าง
1. ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา
ในการแนะนำตัวให้กรรมการรู้จักเรา น้อง ๆ จะต้องใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นความจริง เน้นข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อ และข้อมูลที่ตรงกับสายของเรา
2. ผลงานวิชาการ
หากน้อง ๆ มีผลงานทางวิชาการ จะยิ่งทำให้มีโอกาสติดคัดเลือกได้สูงมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รางวัล แค่เข้าร่วมก็เป็นประโยชน์กับกรรมการในการใช้คัดเลือกแล้ว ตัวอย่างผลงานวิชาการ เช่น การแข่งขันวิชาการ การแข่งขันตอบปัญหา การแข่งขันในกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ผลสอบวัดระดับความรู้ การร่วมจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
3. ผลงานวิจัย
น้อง ๆ ที่เรียนสายนี้แน่นอนว่าจะต้องมีผ่านการทำงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ หรือการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับชั้น ม.ปลาย หรือระดับอื่น ๆ แต่ไม่ควรเลือกผลงานที่เก่าเกินไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องอธิบายจุดประสงค์ หรือเป้าหมายในการทำลงไปด้วย
4. Workshop
น้อง ๆ บางคนชอบเข้าร่วม Workshop อยู่บ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปว่าสิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์ที่จะนำมาใส่ลงไปในพอร์ตของเราได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าร่วม Openhouse ค่ายวิทยาศาสตร์ การไปศึกษาดูงาน การเข้าร่วมค่ายติวของมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งการติวออนไลน์ก็สามารถใส่ลงไปได้เหมือนกัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกได้ว่าเราเป็นคนใฝ่รู้ ชอบหาประสบการณ์ และศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
5. กิจกรรม
เคยเข้าร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง พวกนี้ก็สามารถใส่เข้าไปในพอร์ตได้ ซึ่งผลงานในส่วนกิจกรรมนี้ จะเป็นตัวเสริมบุคลิกภาพของตัวเราได้เป็นอย่างมาก ตัวอย่างกิจกรรมที่ใส่ได้ กิจกรรมภายในโรงเรียน เช่น การเป็นพิธีกร การแสดง งานกีฬาสี หรือเราจะใส่กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมชุมชน งานอาสาสมัคร การช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือกิจกรรม Lifestyle บางอย่างของเราที่อาจแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น เล่นกีฬา เป็นต้น
น้อง ๆ จะเห็นว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะบ่งบอกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสายวิทย์-สุขภาพของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรรมการจะสามารถนำไปพิจารณาคัดเลือกน้อง ๆ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้ ยิ่งตรงตามตวามต้องการเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น
สำหรับน้อง ๆ บางคนที่ยังไม่เริ่มทำพอร์ต หรือยังลังเลไปไม่ถูกว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน วันนี้พี่มีคำตอบให้ค่ะ สิ่งเหล่านี้น้อง ๆ สามารถใช้เป็น Checllist ได้เลยว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง
1. เช็กว่าคณะที่จะเข้าต้องการเห็นอะไรจากเราบ้าง
ก่อนที่น้อง ๆ จะทำพอร์ต สิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือ จะต้องไปอ่านระเบียบการหรือทำการให้พร้อมก่อนว่า คณะหรือมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ต้องการจะยื่นนั้นต้องการพอร์ตแบบไหน หรือต้องการเอกสาร / ผลงานอะไร ประมาณไหนบ้าง เราจะได้เตรียมพอร์ตให้เหมาะสมกับคณะนั้น ๆ
2. เก็บรวบรวมผลงาน / เกียรติบัตร
น้อง ๆ จะต้องเก็บรวบรวมผลงานของเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลงาน ภาพกิจกรรมต่าง ๆ รางวัลต่าง ๆ ที่เคยได้รับ เกียรติบัตร เรามีอะไรบ้างที่เป็นผลงานของเราก็นำมารวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อผลงานของเราทั้งหมดมาอยู่รวมกันแล้ว เราจะเริ่มเห็นภาพได้ว่า ผลงานของเราทั้งหมดมีเท่านี้ มันน้อยไป หรือมันมากไปหรือเปล่า หามีจำนวนมากเกินไป เราควรจะมาคัดเลือกผลงานเด่น ๆ อีกทีเพื่อจะนำผลงานเหล่านั้นไปใส่ในพอร์ต สุดท้ายเราจะได้ผลงานในพอร์ตที่พอดี
3. รวบรวมเอกสารสำคัญที่คณะต้องการ
น้อง ๆ จะต้องเตรียมเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่พอร์ตควรจะมี เช่น ใบสมัคร, ใบ ป.พ.1, รูปถ่าย, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น เพราะบางมหาวิทยาลัยก็ต้องการให้เราแนบเอกสารบางอย่างที่จำเป็นมาด้วย
4. เตรียมข้อมูล
ไม่ใช่แค่ผลงาน รูปภาพ เกียรติบัตร หรือเอกสารเท่านั้นที่ต้องเตรียม แต่น้อง ๆ จะต้องเตรียมข้อมูลทุกอย่างให้พร้อมด้วย เริ่มตั้งแต่ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ผลงาน กิจกรรมต่าง ๆ เพราะถ้าเราเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว การทำพอร์ตของเราจะสะดวกและง่ายขึ้น ไม่ต้องมาทำไปคิดไปว่าเราจะพิมพ์อะไรบ้างดี หรือจะใส่ข้อมูลอะไรดี เรามีข้อมูลพร้อมทำแล้ว ก็เหลือแค่นำมาจัดวางให้ดูดีเท่านั้นเอง
5. หา Reference ปกและรูปแบบพอร์ต
หน้าปกหน้าแรกของพอร์ตใครว่าไม่สำคัญ เพราะมันคือ First Impression มันคือหน้าแรกของพอร์ต ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คนตัดสินก่อนเลย น้อง ๆ จะต้องทำให้ตรงกับบุคลิกของคณะที่จะยื่น ต้องเห็นแล้วบ่งบอกเป้าหมายได้ว่าเราจะไปทางไหน อย่างพอร์ตของสายวิทย์-สุขภาพ ส่วนใหญ่ก็จะต้องการพอร์ตที่เรียบง่าย ดูดี ไม่รกเกินไป สิ่งสำคัญเลยต้องอ่านง่าย ชัดเจน และสื่อสารเข้าใจ เพราะถ้าพอร์ตที่ยื่นมาแล้วดูยุ่งเหยิงไม่เข้าใจ ก็จะมีโอกาสผ่านได้ยากมาก
- การจัดวางที่เป็นระเบียบ แบ่งเป็นหมวดหมู่ อ่านง่าย กระชับ
- แต่ละหน้าจะดูเรียบ แต่ไม่โล่งจนเกินไป
- ข้อมูลครบถ้วนแต่ไม่เยอะเกินไป
- ตกแต่งตรงตามสไตล์ของสายนั้น ๆ
พี่มีตัวอย่างสำหรับพอร์ตที่ดีในสายนี้ ว่าควรเป็นรูปแบบประมาณไหน จัดเรียงประมาณไหน โดยรวม ๆ จะออกมาหน้าตาประมาณนี้ค่ะ
ตัวอย่างพอร์ตเหล่านี้ น้อง ๆ จะเห็นได้ว่า เมื่อดูแค่หน้าปกก็จะรู้ได้เลยทันทีว่าเกี่ยวข้องกับคณะหรือสายของเรา คนทั่วไปที่ดูก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่าเราต้องการจะเข้าสายอะไร
1. Portfolio ต้องชัดที่ผลงาน
ต้องทำให้ตรงตามความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัย และคณะของน้อง ๆ ที่จะเข้า โดยทั่วไปแต่ละมหาวิทยาลัยจะระบุเอาไว้ชัดเจนในระเบียบการเลยว่า ต้องการพอร์ตแบบไหน
ไม่ควร เน้นแค่สวยอย่างเดียว แต่เนื้อในไม่มีผลงานตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัยหรือคณะที่น้อง ๆ จะเข้าเลย นั่นคือเป็นพอร์ตที่ใช้ไม่ได้และไม่ควรทำ
2. เนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย
แต่ละมหาวิทยาลัยจะระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “พอร์ตทำแค่ 10 หน้าเท่านั้น” เพราะกรรมการแต่ละคนจะต้องดูพอร์ตเยอะมากหลายร้อยหลายพันคน การทำให้กระชับ จะทำให้กรรมการจดจำน้อง ๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องทำให้มากเกินไปกว่านั้น และต้องจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่ เพราะฉะนั้น น้อง ๆ ควรทำพอร์ตให้กระชับ อ่านง่าย และเข้าใจง่าย
ไม่ควร อัดทุกอย่างเข้าไปในพอร์ตเยอะเกินไป จนทำให้กรรมการไม่รู้ว่าจะดูอะไรก่อน หากเราทำแบบนี้ มีสิทธิ์จะโดนปัดตกไปก่อนได้ง่ายมาก ข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็น หรือไม่มีผลกับการพิจารณาของกรรมการก็ไม่ต้องใส่ลงไป อย่างเช่น ชอบกินอะไร ชอบสีอะไร เพลงที่ชอบ หนังที่ชอบ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์อะไร และจะทำให้ทุกอย่างแน่นไปหมด
3. เรียงตามรูปแบบให้ดี
ควรเรียงทุกอย่างเป็นหมวดหมู่ตามรูปแบบทั่วไปของพอร์ตให้ดี ไม่เอามารวมกัน
ไม่ควร เรียงสลับไปสลับมา หรือเอาทุกอย่างมารวมกันจนทำให้กรรมการสับสน
4. ภาษา
แต่ละมหาวิทยาลัยอาจารย์ผู้ตรวจพอร์ตหลาย ๆ คนเข้มงวดมากในเรื่องของคำที่ถูกต้อง น้อง ๆ หลายคนมักมองข้ามสิ่งนี้ไป บางคนมองว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ กรรมการคงไม่อ่านละเอียดขนาดนั้นหรอก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรเลย ฉะนั้นตรวจทานให้ดี คำสะกดต่าง ๆ ใช้ให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง และถ้าสามารถทำเป็น 2 ภาษาได้ก็จะดีมาก เพราะจะทำให้เราได้เปรียบมากกว่าคนอื่น ยิ่งน้อง ๆ ที่จะยื่นเข้าคณะสายวิทย์-สุขภาพจะต้องแสดงให้เห็นถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดี
ไม่ควร ปล่อยผ่านเรื่องการสะกดคำ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ เพราะบางคนอาจจะทำพอร์ตมาดีมาก แต่ดันมาตกม้าตายเรื่องการสะกดคำก็มี
5. ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปบ้าง
น้อง ๆ สายวิทย์-สุขภาพ อาจจะสงสัยว่า เราไม่ได้จะเข้าคณะที่เน้นเกี่ยวกับศิลปะหรือการออกแบบ ทำไมต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย จริง ๆ แล้วเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นมีผลกับพอร์ตของเรามาก น้อง ๆ ไม่ต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์มากเท่ากับคณะเหล่านี้ แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้ง เราต้องนำความคิดสร้างสรรค์มาทำพอร์ตในแบบที่เข้ากับคณะที่เราจะเข้า น้อง ๆ ต้องพรีเซนต์ตัวเองให้โดดเด่นโดยผ่านความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็น Portfolio ของเรา ตัวอย่างพอร์ตสายนี้ควรเป็นแนวเรียบหรูหรือเรียบง่าย ดูดี เป็นระเบียบ อ่านง่าย แต่ไม่ถึงกับโล่งจนเกินไป
ไม่ควร ตกแต่งให้เยอะจนเกินไป เพราะเราไม่ได้จะเข้าคณะที่เกี่ยวกับศิลปะหรือการออกแบบ เดี๋ยวกรรมการจะสับสนได้ว่าน้อง ๆ ถนัดด้านวิชาการหรือศิลปะกันแน่
6. ซื่อสัตย์กับพอร์ตของเรา
ข้อนี้สำคัญมาก ต้องใส่ความจริงลงไป ไม่โอเวอร์หรือแต่งเติมขึ้นมาเอง ถึงแม้ว่าน้อง ๆ จะอยากเข้าคณะนั้น ๆ มากแค่ไหนก็ตาม เราก็ต้องซื่อสัตย์ เพราะคนที่อ่านพอร์ตของเรา เขาจะเก็บข้อมูลไปพิจารณา
ไม่ควร โกหกหรือใส่ข้อมูลที่ไม่จริงลงในพอร์ตของเราอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าโดนจับได้หรือโป๊ะแตกขึ้นมา เราก็จะโดนปัดตกได้เลยทันที
การทำ Portfolio เพื่อยื่นเข้าคณะสายวิทย์-สุขภาพ นั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ต้องอาศัยการเตรียมตัวให้พร้อม เน้นผลงานด้านวิชาการเป็นหลัก และต้องไม่ลืมที่จะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปด้วย น้อง ๆ ต้องนำไปปรับใช้ดูให้เหมาะกับแต่ละคน แต่ละคณะ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์ที่กำหนดมาไม่เหมือนกัน ต้องทำการบ้านแต่ละที่ที่จะไปยื่นให้ดี ๆ แล้วจะทำให้เรามีโอกาสติดมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล
- ทำ Portfolio เข้าสายแพทย์ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?
- Portfolio สายวิทย์ กับส่วนประกอบที่ควรมีในพอร์ต
- Portfolio สายวิทย์ ใส่ผลงานอะไรบ้าง
- อยากทำ Portfolio ให้ปัง ฟังทางนี้!
- เตรียม Portfolio ตามสายการเรียน