Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะทำยังไงดี เมื่อคนใกล้ชิดป่วยซึมเศร้าและมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

Posted By Plook Magazine | 04 มิ.ย. 64
6,056 Views

  Favorite

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ไว้ว่าในแต่ละปีจะมีคน ‘ฆ่าตัวตาย’ สำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน เท่ากับว่าจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่าการฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี 

 

 

“การฆ่าตัวตายติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายในคนวัย 15-35 ปี”

cr: www.freepik.com

 

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือการเจ็บป่วยทางจิตเวช และยังพบอีกว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 9 ใน 10 มักมีความเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่งขณะทำการฆ่าตัวตาย ซึ่ง ‘โรคซึมเศร้า’ ถือเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่เรารู้จักและอาจได้ยินบ่อย ๆ ว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าบางรายจะมีความคิดหรือวางแผนการฆ่าตัวตาย อย่างที่เห็นได้จากข่าวการฆ่าตัวตายมากมายที่ผ่านมา

 

คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา ได้ระบุไว้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับความตาย ผู้ป่วยมักคิดถึงความตาย ทั้งมีความคิดอยากฆ่าตัวตายแต่ยังไม่ได้วางแผน ไปจนถึงมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายหรือวางแผนการฆ่าตัวตายไว้อย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า คือ การคิดถึงความตาย อยากตาย ไปจนถึงคิดฆ่าตัวตาย

 

 

ทำไมซึมเศร้า แล้วต้องคิดฆ่าตัวตาย

ในทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย (Interpersonal Theory of Suicide) โดยแวน ออร์เดน (Van Orden) และคณะ (2010) ได้กล่าวถึงความเช่ือว่า คนท่ีเสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากภาวะความรู้สึกท่ีเก่ียวข้อง 3 ประการ ซ่ึงเป็นเหตุจูงใจท่ีทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดฆ่าตัวตายได้ 

1. ความรู้สึกโดดเดี่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

2. ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ

3. มีพลังในการฆ่าตัวตายหรือมีความไม่กลัวตาย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตายอีก เช่น มีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว เจ็บป่วยทางร่างกาย เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยเอาแต่คิดโทษตัวเองซ้ำไปซ้ำมาก็อาจจะเกิดแรงผลักให้มีพลังที่จะทำร้ายตัวเอง เริ่มกลัวความตายน้อยลง และพยายามฆ่าตัวตายในที่สุด

 

“เมื่อผู้ป่วยลบความเจ็บปวดและความสิ้นหวังออกไปไม่ได้จึงเลือกที่จะฆ่าตัวตาย”

 

ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา ได้ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายมักคิดว่าตัวเองเป็นคนไร้ประโยชน์จึงอยากจากโลกนี้ไป เพราะโลกใบนี้ไม่ต้องการเขาแล้ว ไม่มีเขาสักคนก็คงไม่เป็นไร หรือในผู้ป่วยบางรายอาจนึกภาพอนาคตที่สิ้นหวังแล้วไปต่อไม่ไหว คือลบความเจ็บปวดและความสิ้นหวังออกไปไม่ได้ หรือรู้สึกว่านี่คือจุดจบของชีวิตที่เปลี่ยแปลงไม่ได้และผู้ป่วยทนเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดไม่ไหวอีกต่อไปจึงเลือกที่จะฆ่าตัวตาย

 

cr: www.freepik.com

 

4 สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นป่วยซึมเศร้าและมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกรังแกด้วยคำพูด ถูกกลั่นแกล้งผ่านโซเชียลมีเดีย (Cyberbullying)     

มีความเครียดและกดดันมากเกินไป สาเหตุมักมากจากปัญหาเรื่องการเรียน ความคาดหวังของพ่อแม่ รวมถึงเรื่องเงินทองหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย 

มีปัญหาครอบครัว ทั้งปัญหาขัดแย้งกันในครอบครัว ปัญหาการใช้ความรุนแรง หรือขาดความอบอุ่น 

มีปัญหาความรัก เมื่อเกิดอาการอกหักหรือผิดหวังในความรักที่ทุ่มเทให้มาก ๆ บางคนอาจตัดสินใจทำอะไรโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง หรือบางคนก็ไม่สามารถหลุดจากภาวะเศร้าจากการอกหักได้ก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศราได้เช่นกัน

 

 

สัญญาณเตือนของคนที่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่คิดฆ่าตัวตาย มักจะแสดงสัญญาณเตือนให้คนใกล้ชิดได้รับรู้ผ่านทางคำพูด การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย หรือมีพฤติกรรม ดังนี้     

• บ่นเรื่องอารมณ์เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้

• บ่นเรื่องเบื่อชีวิต อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตให้เหนื่อยอีกแล้ว

• พูดถึงชีวิตในทางหมดหวัง หมดพลัง หมดสิ้นทุกอย่าง 

• พูดถึงการสงสัยในชีวิต เช่น เราเกิดมาทำไม ทำไมต้องมีความทุกข์

• พูดถึงการฝากฝังคนในครอบครัว ฝากสัตว์เลี้ยง หรือฝากสิ่งของที่รัก

• การทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร      

 

cr: www.freepik.com

 

ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและรู้ว่าตัวเองคิดถึงการฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา ควรปรึกษาและบอกคนในครอบครัวให้พวกเขาได้รับรู้ หรือจะบอกเพื่อนก็ได้ว่าคุณต้องการช่วยเหลือ และห้ามอยู่คนเดียวเด็ดขาด  

 

จะทำยังไงดี เมื่อคนใกล้ชิดป่วยซึมเศร้าและมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

ถ้าคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดหรือวางแผนฆ่าตัวตาย เราไม่ควรให้คำแนะนำหรือพยายามรักษาด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการให้ความช่วยเหลือ คอยอยู่เคียงข้าง และให้กำลังใจเขา โดยใช้วิธี QPR (Question, Persuade and Refer) หรือแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตาย


 

Q - Question ถามคำถาม

หลายคนอาจคิดว่าห้ามถามเรื่องฆ่าตัวตายเด็ดขาดเพราะอาจไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยลงมือทำ แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าเรารู้ว่าผู้ป่วยมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย การถามคำถามเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายคือการช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นจนไม่ทำได้ โดยให้ใช้ชุดคำถามตามนี้

1. เมื่อพบว่าเขามีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามต่อไปว่า “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิตไหม”

2. ถ้าเขาตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตายไหม”

3. ถ้าเขาตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือเปล่า”

4. ถ้าเขาตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำยังไง”

5. ถ้าเขาตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือเปล่า”

6. ถ้าเขาตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำยังไง”

7. สุดท้ายให้ถามเขาว่า “มีอะไรยับยั้งใจให้ไม่ได้ทำ หรือหยุดความคิดนี้ได้”

*คำถามข้อสุดท้าย ไม่ว่าเขาจะตอบยังไง มันจะเป็นปัจจัยป้องกัน ช่วยให้เขายั้งคิดไม่ทำในครั้งต่อไป


 

P - Persuade โน้มน้าว

เมื่อเรากล้าพูดคุยกับผู้ป่วยเรื่องฆ่าตัวตายแล้ว เราต้องพร้อมรับฟังผู้ป่วยด้วย การที่ผู้ป่วยเล่าให้เราฟังก็เพราะต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกำลังพูดระบายออกมา เราห้ามขัดจังหวะหรือเปลี่ยนประเด็น เราควรเปิดใจรับฟังและอย่าตัดสินเขา อย่าโต้แย้ง กล่าวโทษ หรือบอกว่าเข้าใจความรู้สึกของเขา เพราะไม่มีทางที่เราจะมีความรู้สึกเหมือนกับเขาได้ 

 

เมื่อผู้ป่วยได้พูดและระบายออกมาจนจบแล้ว เราควรพูดโน้มน้าวให้ผู้ป่วยรับการช่วยเหลืออย่างใจเย็นและพูดกับเขาอย่างระมัดระวัง เช่น พวกเราลองขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญกันดีไหม สิ่งที่ไม่ควรพูดกับผู้่ป่วยเด็ดขาดคือการโน้มน้าวว่าวันข้างหน้ายังมีความหวัง และห้ามพูดว่าถ้าตายไปจะมีคนเสียใจเยอะแค่ไหน เพราะมันเป็นคำพูดที่กระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยมาก ๆ


 

R - Refer ขอความช่วยเหลือ

ขั้นตอนสุดท้ายของแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายคือการขอความช่วยเหลือ ถ้าเรารู้ว่าคนใกล้ชิดมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย เราควรขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ปรึกษาผู้ใหญ่ ครู หรือปรึกษาจิตแพทย์ที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เคยเข้ารับการรักษา เราสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสมาคมสะมาริตันส์ โทร. 02-713-6793 



 

บทความที่เกี่ยวข้อง

A Teen’s Guide to Survive Depression โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

Stop Cyberbullying, Start Empathizing

ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้

วิธีรับมือกับความเจ็บปวดและความเครียด เมื่ออารมณ์ดำดิ่งจนเกินรับไหว

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจริงเหรอ ? รวมเรื่องที่เข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ วิธีบำบัดจิตใจให้ผ่อนคลายจากซีรีส์เกาหลีที่ใช้ได้จริง

โดนเมินจนรู้สึกไร้ตัวตน รับมือยังไงดีให้ใจไม่เจ็บจนป่วย

ก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ด้วยข้อคิดดี ๆ ที่จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

วิธีแก้เกมเมื่อ 'โดนบูลลี่' ที่โรงเรียน

คำแนะนำที่จะทำให้ 'รักตัวเอง' มากขึ้น ด้วยแนวคิด Body Positive

รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ "คนโปรด" ของพ่อแม่

เทคนิคระบายความเครียด เพื่อให้ร่างกายหายเหนื่อยล้า

 

 

แหล่งข้อมูล

- การช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยผศ.นพ.พนม  เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

- โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย โดยผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

- คู่มือหนีความอยากตายจากโรคซึมเศร้า โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

- หลินอวี๋เหิง และ ไป๋หลิน. (2562). ซึมเศร้า...เล่าได้. แปลจาก When Depressy Strikes Hold It Tight. แปลโดยอังค์วรา กุลวรรณวิิจิตร. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow