Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองยังไงดี

Posted By Plook Magazine | 04 มิ.ย. 64
38,653 Views

  Favorite

คนที่มีอารมณ์อ่อนไหวมาก ๆ มักจะตกเป็นเป้าหมายในการถูกล้อหรือถูกกลั่นแกล้งเสมอ โดยมักถูกตราหน้าว่าเป็นคนอ่อนแอ ขี้แง หรือขาดคความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อโลกมันไม่ได้น่ารักกับทุกคน คนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายจึงควรเรียนรู้ที่จะปรับสมดุลอารมณ์ให้มั่นคงขึ้น และนี่คือคำแนะนำในการรับมือกับอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง ขอเตือนว่าให้ค่อย ๆ ฝึกและอย่าฝืนตัวเองเกินไป เป็นตัวของตัวเอง เคารพในความรู้สึกของตัวเอง แต่ก็ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นด้วย 

 

 

อารมณ์อ่อนไหวเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน

นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาได้ค้นพบว่า ความอ่อนไหวทางอารมณ์ของคนเรามีความเชื่อมโยงกับลักษณะทางพันธุกรรม โดยพบว่าคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าคนทั่วไปจะมีความเชื่อมโยงกับยีนที่ส่งผลต่อฮอร์โมนที่ชื่อว่า นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองส่วนที่กระตุ้นความสนใจและการตอบสนอง 

 

คนที่มีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าปกติ ยังมีความเชื่อมโยงกับฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนความรักและความผูกพัน ฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความหวั่นไหวทางอารมณ์ได้ บางคนอาจเกิดมาพร้อมกับระดับฮอร์โมนออกซิโตซินที่มากกว่าปกติ จึงทำให้เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าคนทั่วไป

 

cr: www.freepik.com


วิธีรับมือกับอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง

 

จดบันทึกอารมณ์ตัวเอง

คนที่มีอารมณ์อ่อนไหวควรจะจดบันทึกอารมณ์ของตัวเองในทุก ๆ วัน เพราะมันจะช่วยให้เข้าใจว่าอะไรคือตัวกระตุ้นที่มีผลต่อการตอบสนองทางอารมณ์ของเรา โดยให้ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง 

• วันนี้เรามีอารมณ์ มีความรู้สึกยังไงบ้าง 

• อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้น

• เวลามีอารมณ์แบบนี้ เรามีปฏิกิริยาตอบสนองยังไงบ้าง

• แล้วเรารู้สึกอย่างไรบ้างในขณะนี้

• เราคิดยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำไมถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์ไปแบบนั้น

• เราต้องการอะไรเวลาที่รู้สึกแบบนีี้

 • เราเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนไหม

เมื่อทำเสร็จแล้วให้นำมาอ่านดู หรือเปรียบเทียบกับวันอื่น ๆ แล้วเราจะเห็นถึงรูปแบบอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น การคิดแง่ลบสุดโต่ง อารมณ์ไม่ดีีเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ร้องไห้บ่อยมาก เป็นต้น 

    

 

สำรวจว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นความอ่อนไหว

การจดบันทึกอารมณ์จะช่วยให้เรารู้ว่า เรามีการตอบสนองอัตโนมัติต่อสิ่งเร้าแบบไหน เช่น เวลามีเรื่องไม่พอใจ เราจะโกรธมาก และจะมีความรู้สึกเหวี่ยงวีนไปทั้งวัน แม้เรื่องนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามันทำให้โกรธแล้วก็จะอารมณ์ไม่ดีไปทั้งวัน เป็นต้น เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้เรามีอารมณ์อ่อนไหว เราก็ควรที่จะฝึกรับมือกับอารมณ์นั้น ฝึึกรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และปรับนิสัย เปลี่ยนจุดสนใจเพื่อลดความอ่่อนไหวทางอารมณ์ลง

 

cr: www.freepik.com


ฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเอง

เมื่อไหร่ทีี่เรามีอารมณ์อ่อนไหวมากเกินไป ทางออกที่ดีคือการเดินออกมาจากสถานที่นั้นหรือสถานการณ์นั้น อาจจะเดินออกมาเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ หรือเดินออกมาเพื่อสูดหายใจลึก ๆ การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ยังช่วยให้เราได้ฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเองอีกด้วย อยากให้จำเอาไว้เสมอว่าเวลาที่เรามีอารมณ์อ่อนไหวมาก ๆ และรู้สึกเหมือนจะสูญเสียการควบคุมตัวเอง อย่าทนยืนอยู่ตรงนั้น เพราะมันอาจทำให้เราพูดหรือทำบางสิ่งที่อาจคุมสติไม่อยู่ได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ทันอารมณ์ของตัวเอง รู้ว่าอะไรคือสิ่งเร้าที่ทำให้อารมณ์อ่่อนไหวเพื่อจะได้ควบคุมและวางแผนรับมือล่วงหน้าได้ 


 

ปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสกับอารมณ์ภายใน

อย่าปิดซ่อนอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง แต่ควรอ้าแขนรับมัน เพราะการปฏิเสธอารมณ์ของตัวเองจะส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจ แนะนำว่าควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มี ‘มุมปลอดภัย’ อย่างบนเตียงในห้องนอน ดาดฟ้าที่บ้าน เพื่อใช้ในการแสดงความรู้สึกและปลดปล่อยอารมณ์ออกมา เช่น ถ้าเราเพิ่งโดนเทมาแล้วอยากร้องไห้ ก็ร้องไห้ในมุมปลอดภัย ร้องออกมาให้เต็มที่ไปเลย การได้ปลดปล่อยอารมณ์จะทำให้เรารู้สึึกดีขึ้น ช่วยให้เราไม่จมดิ่งอยู่กับอารมณ์นั้นจนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และยังช่วยให้เข้าใจตัวเอง รู้สึกเคารพต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้นด้วย  


 

กล้าสื่อสารความต้องการ ความรู้สึกของตัวเองออกมา

บางครั้งที่เรามีอารมณ์อ่อนไหวมากเกินไป อาจเป็นเพราะเราไม่ได้สื่อสารความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองให้กับผู้อื่นอย่างชัดเจน เช่น การไม่กล้าบอกปฏิเสธ หรือการไม่กล้าบอกว่าเราคิดเห็นยังไงแบบตรงไปตรงมา เป็นต้น นอกจากจะส่งผลให้เรามีปัญหาในการสื่อสารแล้ว มันยังทำให้เราไม่กล้าเปิดเผยอารมณ์และความรู้สึกให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย จึงส่งผลให้อารมณ์ต่าง ๆ สะสมอยู่ในใจเรามากเกินไป เพราะฉะนั้นเราจึงควรฝึกทักษะการสื่อสารให้ดี เพื่อที่จะได้สื่อสารความต้องการและความรู้สึกของตัวเองออกมาให้ชัดเจน 

 

cr: www.freepik.com

 

อย่าตัดสินหรือคิดไปเองในทางลบ

ขอบอกว่าข้อนี้สำคัญมาก เพราะการคิดเองเออเองจะทำให้เรามีอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าปกติ เช่น ชอบคิดไปเองว่าเรามันคนซวย โชคชะตากำหนดมาแล้วว่าเราคือคนดวงซวย การคิดแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาจะทำให้เรามีอารมณ์อ่อนไหวมากขึ้น ใครที่รู้ตัวว่าชอบมโนเก่ง ชอบคิดไปเองในทางลบ แนะนำว่าให้คอยย้ำกับตัวเองบ่อย ๆ ว่าเรากำลังคิดไปเอง และควรแยกอดีตกับปัจจุบันให้ชัดเจน เหตุการณ์ที่มันผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว อย่าเอาความซวยครั้งเดียวมากำหนดชะตาชีวิตด้านอื่น ๆ ของตัวเอง และห้ามตีโพยตีพายคิดแทนคนอื่น หรือด่วนสรุปเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองเชียว 


 

ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อเราพยายามรับมือกับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตัวเอง แต่กลับรู้สึกว่าเกินจะรับไหวแล้ว การไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญคือทางเลือกที่ดี เพราะเราจะได้รับการตรวจสอบว่าอารมณ์ที่อ่อนไหวมาก ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร และผู้เชี่ยวชาญก็จะสอนให้เราสามารถรับมือกับความรู้สึกต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นด้วย การไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หมายความว่าเรามีอาการป่วยทางจิตนะ อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกติเหมือนเวลาที่เราไม่สบาย เป็นไข้หวัดแล้วต้องไปหาหมอนั่นแหละ  


 

หากรู้สึกอ่อนไหวมาก ๆ อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้า

ใครที่รู้สึกว่าช่วงนี้ขี้หงุดหงิด เจ้าน้ำตา ขี้รำคาญมากกว่าปกติ หรือรู้สึกว่ามีความผิดปกติทางอารมณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ขอให้หมั่นสังเกตอารมณ์ตัวเองให้มากขึ้น เพราะการมีความรู้สึกอ่อนไหวทีี่สูงผิดปกติอาจเป็นผลมาจากภาวะซึมเศร้า จึึงส่งผลให้เราถูกรุมเร้าด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งในทางลบและทางบวก นอกจากนี้การมีความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองก็อาจส่งผลให้มีอารมณ์อ่อนไหวมากผิดปกติได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง และถ้ารู้สึกว่ามันผิดปกติจากที่เคยเป็น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด

 

ขอย้ำอีกรอบว่า การที่เราเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหวนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และอย่าเอาแต่คิดโทษตัวเอง เกลียดตัวเองที่เป็นแบบนี้ ใครที่ไม่ชอบอารมณ์่อ่อนไหวของตัวเอง ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์ตัวเองได้ โดยหมั่นสำรวจอารมณ์ทุก ๆ วัน เพื่อจะได้รู้ทันความอ่อนไหวและรับมือกับการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ เวลาที่โดนกระตุ้น ในการฝึกช่วงแรก ๆ เราอาจยังไม่สามารถควบคุมความรู้สึกตัวเองได้ดี แต่ถ้าฝึกฝนไปเรื่อย ๆ เราก็จะควบคุมและตอบสนองต่อความรู้สึกได้ดีมากขึ้น  


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมคนเราต้องโกรธจนมือสั่น แล้วเราจะควบคุมความโกรธได้ยังไงบ้าง

3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์

ดูแลระบบประสาทอัตโนมัติให้ดี ช่วยลดอาการเครียด นิสัยหงุดหงิดง่ายได้ !

ฝึก ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เคล็ดไม่ลับอัปผลการเรียนให้ดีขึ้น

ชอบตัดสินใจผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ จนเบื่อตัวเอง...แก้ยังไงดี ?

วิธีรับมือกับความเจ็บปวดและความเครียด

ฮีลตัวเองยังไงดีในวันที่เหนื่อยและท้อจนหมดพลัง

รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร

 

 

แหล่งข้อมูล
- How to Overcome Emotional Sensitivity

- How to Control Mood Swings

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow