Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้เด็กผู้ชายไม่กล้าอ่อนแอ

Posted By Plook Magazine | 08 ม.ค. 64
10,774 Views

  Favorite

“Be a mam, only girls cry” แมน ๆ หน่อย มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นแหละที่ร้องไห้ ! น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ใช้ได้ในการอธิบายแนวคิด ‘Toxic Masculinity’ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) อีกที ว่าในขณะที่ผู้ชายเป็นใหญ่แท้ ๆ ผู้ชายเองก็ถูกกดทับอยู่อย่างไม่รู้ตัว

 

 

เพราะชายเป็นใหญ่ หญิงจึงเจ็บปวดมาก

ด้วยความที่สังคมเรามักสอนกันมาแบบสุภาษิตสอนหญิง กฤษณาสอนน้องอย่างกุลสตรีศรีสยาม ไม่ใช่ ‘มือที่ไกวเปลคือมือที่ครองโลก’ หรือแบบเอลิซาเบธ แบเร็ตต์ บราวนิ่ง (Elizabeth Barrett Browning), โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) แถมยังโตมากับคำสอนที่ว่า ‘ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง’ มากกว่า ‘ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร’ คำสอนเหล่านี้นอกจากจะทำให้โลกของผู้ชายและผู้หญิงเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันแล้ว การลดทอนคุณค่าของผู้หญิงและเชิดชูผู้ชายจนเกินเหตุผ่านบทเรียนที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย แถมยังเอื้อให้ผู้ชายคิดว่าตัวเองมีสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และโอกาสเหนือเพศอื่น ๆ ส่งต่อแนวคิดชายเป็นใหญ่มาสู่คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่อีกด้วย 

 

แต่แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ว่าก็ไม่ได้ทำร้ายแค่เฉพาะเพศอื่นเท่านั้น เมื่อความคาดหวังทางสังคมและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่สร้างโมเดลที่เรียกว่า ‘ความเป็นชาย’ ขึ้นมากดทับผู้ชายซะเอง (Toxic Masculinity) เช่น ผู้ชายต้องแข็งแกร่งนะ ห้ามอ่อนแอ ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ฯลฯ ทำให้ผู้ชายถูกสอนให้มองความอ่อนแอว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ความเข้มแข็งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องและต้องเอาเป็นแบบอย่าง จึงทำให้มีเด็กผู้ชายหลายคนในปัจจุบันไม่กล้าแสดงความอ่อนแอและต้องกักเก็บความอ่อนแอเอาไว้ให้มิดเพราะกลัวไม่แมน…

 

ชายเป็นใหญ่ แต่ก็ไม่วายถูกกดทับซะเอง

 

ปัญหาที่ตามมาเมื่อผู้ชายต้องแมน ๆ ก็คือ หากผู้ชายคนไหนสนใจเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ก็จะถูกมองว่าเป็นสาว ผู้ชายที่ไม่ชอบเล่นกีฬาจะถูกมองว่าไม่แมน ผู้ชายที่อยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงก็จะถูกมองว่าไม่ใช่ชายแท้ ผู้ชายที่เรียบร้อย ใฝ่เรียน ไม่เกเร ก็มักจะถูกแกล้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าปวดหัวเหลือเกินสำหรับผู้ชาย (ความจริงก็ผู้หญิงด้วย) เพราะไม่ว่าพฤติกรรมเล็กน้อยเพียงใดก็ตามที่เบนไปจากเพศสภาพจะถูกตีความว่าเป็นการพยายามทำตัวเหมือน ‘ผู้หญิง’ หรือเหมือน ‘ผู้ชาย’ ไม่ใช่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเอง

 

cr.IMDb

 

ผู้ชายก็ร้องไห้ได้ ผู้ชายก็ไม่ชอบเตะบอลหรือเล่นกีฬาได้ ผู้ชายชอบเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ได้ ชอบสีสดใสอย่างสีฟ้า สีชมพู หรือสีส้มก็ได้ ผู้ชายทำงานบ้านได้ และสามารถแสดงออกถึงความอ่อนแอได้เมื่อมันไม่ไหวจริง ๆ การยอมรับความรู้สึกของตัวเอง การเปิดเผยตัวตนของตัวเองนั้นกล้าหาญกว่าการเก็บกดความอ่อนแอไว้ แล้วแสดงออกด้วยความก้าวร้าวตั้งเยอะ (เพราะบางคนก็ปกปิดความอ่อนแอของตัวเองด้วยการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง)

 

cr.IMDb

 

เมื่อใดก็ตามที่เพื่อนผู้ชายของเรา พ่อของเรา แฟนของเรารู้สึกโกรธ เศร้า เหงา เสียใจ หรืออ่อนแอให้เราเห็น ให้เราเข้าใจว่านี่เป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ ไม่ใช่ ‘เรื่องเพศ’ ที่ว่าผู้ชายไม่ร้องไห้ ผู้หญิงซิเจ้าน้ำตา และสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองได้โดยจะไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกตีตรา เพราะความเป็นชายหรือไม่เป็นชายเป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้นเท่านั้นไม่ใช่เรื่องของชีววิทยา จงรับรู้และยอมรับโดยไม่ปิดกั้นหรือกดทับความรู้สึกของเขา เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะทำให้เด็กผู้ชายสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น      

 

 

แหล่งข้อมูล
- Who Represents the True Modern Masculinity?

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow