‘เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’ ปัจจุบันเป็นเหมือนความเชื่อส่วนบุคคลคล้ายความเชื่อเรื่องผีวิญญาณที่ว่า ถ้าใครเชื่อก็เชื่อ ถ้าใครไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ แถมยังพูดกันแค่ในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาพูดในพื้นที่สื่อมากเท่าไหร่ เพราะอาจทำให้หลายส่วนอึดอัด ไม่พอใจ ก็ขนาดแค่ตั้งกระทู้ยังโดบลบชั่วข้ามคืน เพราะมันอ่อนไหวที่จะพูดจริง ๆ จนเราอยากไปถามคนแรกที่คิดคำวลี ‘เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’ มานั่งเคลียร์ว่ามีเหตุผลอะไรถึงพูดออกมาแบบนั้น แล้วตอนนี้ยังเชื่ออยู่ไหม
ตามหลักการแล้ว เรียนที่ไหนก็ควรเหมือนกัน มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่เหลื่อมล้ำไปกว่ากันไม่ว่าจะในเมืองหรือต่างจังหวัด แต่จริงหรือไม่ที่การศึกษาที่มีคุณภาพมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหรือในโรงเรียนใหญ่ ๆ ? เด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในเมืองคงจะรู้ดี เด็กในเมืองบางคนอาจจะผงกหัวเห็นด้วย เพราะหากเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ทำไมถึงยังมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยท็อป ๆ โรงเรียนดัง ๆ ทำไมคะแนนการแข่งขันเข้าคณะต่าง ๆ ของแต่ละมหาลัยฯ ถึงได้สูง-ต่ำแตกต่างกันจนส่งผลทำให้การยอมรับจากสังคมภายนอกไม่เท่ากันอีก ขนาดเข้าไปยังไม่เท่ากัน จบออกมามันจะเท่ากันได้ยังไง เราทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจว่าสถาบันไหนในประเทศที่คนทั่วไปเป็น fc โรงเรียนไหนหรือสถาบันไหนที่มีชื่อเสียงในเรื่องอะไรแตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีน้อง ๆ หลายคนที่ตระหนักได้ว่า แต่ละโรงเรียนหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเองอาจจะมีความสามารถในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียน/นิสิต นักศึกษาของตัวเองเพื่อออกไปสู่โลกภายนอกได้ไม่เท่าเทียมกัน คำพูดที่ว่า ‘เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’ ก็อาจจะเป็นแค่คำปลอบใจ ขายฝันหรือเปล่า ? เพราะเขาก็เห็นมาไม่น้อยที่บางบริษัทมีดอกจันกำกับไว้ตรงคุณสมบัติว่า ถ้าจบจากมหาลัยฯ นี้ ๆ ๆ เขาจะรับพิจารณาเป็นพิเศษนะจ๊ะ
แล้วในเมื่อมันเป็นซะอย่างนี้ เราควรจะพิจารณาจากอะไรเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพแล้ว ก็มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกันที่แต่ละโรงเรียนหรือมหาลัยฯ แตกต่างเหมือนกัน (อย่างกะเพลงของ Getsunova) คือมีเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันต่างกัน ดังนี้
ผู้ให้ความรู้ หมายถึงครูผู้สอน อาจารย์พิเศษที่มีหน้าที่ให้ความรู้สอนเรา ซึ่งแต่ละท่านก็มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการที่ต่างกัน บางท่านอาจจะวางแผนการสอน ทำการสอน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ได้ความรู้มากกว่า บางที่มีการออกแบบการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีอีคิว เข้าใจเด็ก รวมถึงยังสามารถประเมิน วัดผลตรงตามมาตรฐานไม่ตึงไม่หย่อน แถมบางคนยังมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับมากมายในวงการ ทำให้คนที่จบออกไปย่อมได้รับเครดิตที่ดีตามไปด้วย เปรียบเหมือนกับมีโค้ชดี นักกีฬาก็ย่อมได้เปรียบกว่า
ระบบการสอน การมีระบบการสอนที่ดีจะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามไปด้วย การสอนที่มีระบบระเบียบ มีมาตรฐาน เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก มีสัดส่วนของครู/อาจารย์ต่อผู้เรียนที่เพียงพอ ไม่ขาดแคลน การมีครูต่างชาติที่มีคุณภาพก็จะยิ่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามไปด้วย เพราะแม้ผู้เรียนจะยังไม่ดีนัก แต่หากระบบดีเด็กก็จะ active ต่างกัน
หลักสูตร หลายที่แม้จะเรียนสายเดียวกัน แต่วิชาที่เรียนจะแตกต่างกันเล็กน้อย หรือแม้จะเรียนคณะเดียวกัน แต่ในแต่ละมหาวิทยาลัยก็ย่อมมีวิชาเรียนที่แตกต่างกัน และในความแตกต่างในวิชาเรียนของหลักสูตรนี้เองที่ทำให้บางที่มีคุณภาพกว่าบางที่ เช่น บางที่อาจจะเรียนทุกอย่างเพื่อให้รู้ แต่บางที่เรียนแบบลงลึก ลงมือทำ เมื่อจบออกไปความเชี่ยวชาญก็จะต่างกัน
อุปกรณ์การสอน เทคโนโลยี บางที่อุปกรณ์การเรียนการสอนล้ำหน้าใหม่กว่าบางที่ แถมยังเพียงพอต่อนักเรียน นิสิตนักศึกษาทุกคน แต่บางที่ก็มีไม่เพียงพอและอาจจะเป็นเวอร์ชั่นเก่า ไม่อัปเดต เช่นคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีในการสอน เครื่องดนตรี อุปกรณ์ทำแลป ฯลฯ ทำให้ถึงจะเหมือนแต่ก็ต่างกันในเรื่องความสะดวกสบาย ความพร้อม และความทันสมัย ทันโลก
สังคม โรงเรียนหรือมหาลัยฯ ก็เปรียบเสมือนสังคมใบเล็ก ๆ ที่มีอิทธิพลทั้งต่อความคิด บุคลิกภาพ มารยาท คอนเนคชั่น แฟชั่น และทัศนคติของเราอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละที่ย่อมไม่เหมือนกัน เพื่อน ๆ ที่เราเลือกคบ รุ่นพี่ของเราที่จบออกไป หรือแม้แต่อาจารย์ที่เราเรียนด้วยย่อมมีผลต่อความคิด ทัศนคติ การมองโลก โอกาสในการทำงาน การฝึกงาน และเงินเดือนในอนาคต การมีสังคมที่ดีก็ย่อมดีต่อตัวเรา
แหล่งเรียนรู้ การมีแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้เพิ่ม มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เหมาะสมต่อการเรียนรู้ก็จะยิ่งทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุด สถานที่อ่านหนังสือ สถานที่พักผ่อนจิตใจ สตูดิโอ ห้องแลป ห้องเรียน เวทีต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้แสดงศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของตัวเองอย่างเต็มที่ เป็นต้น
กิจกรรม การวางแผนกิจกรรมที่เหมาะสมและหลากหลายให้ผู้เรียนจะส่งผลให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง บางโรงเรียนหรือมหาลัยฯ จับมือกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อทำกิจรรมร่วมกัน ทำค่ายร่วมกัน ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์ มีโอกาสนำความรู้ไปใช้จริง แต่บางที่ก็ไม่มีกิจกรรมให้ผู้เรียน ผู้เรียนต้องไปขวานขายด้วยตัวเองข้างนอก
แหล่งข้อมูล
topuniversities