Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

'Design Thinking' ทักษะใหม่ที่เด็กยุคดิจิตัลต้องมี !

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 18 พ.ค. 61
8,131 Views

  Favorite

ในสังคมยุคดิจิตอลที่สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในทุกวัน การสอนให้ลูกรู้จักเรียนรู้และปรับใช้ความรู้ของตนเองแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้จริงนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ 

 

วันนี้แม่แหม่มมีความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการสอนที่จะช่วยให้ลูกมีกระบวนการคิดที่รอบด้าน สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และปรับตัวอยู่ในสังคมของโลกยุคไร้พรมแดนได้อย่างมีความสุขมาฝากกันค่ะ วิธีการสอนนี้เรียกว่าการสอน แบบ Design Thinking”

 

ภาพ : Shutterstock

 

Design Thinking

หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะนำความรู้และความสามารถที่ตนเองมีอยู่ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสถานการณ์และหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย โดยมีแนวคิดหลักในการสอนดังนี้

 

แนวคิด

ขั้นตอนที่ 1 : การเรียนรู้และเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง (Understand)

คือการใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ให้ลึกถึงแก่นของปัญหาว่าเกิดมาจากสิ่งใด เพราะเมื่อทราบสาเหตุของปัญหา ก็จะสามารถกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง  โดยกระบวนการนี้เรียกว่า “Human-Centered Design” หรือการออกแบบการแก้ปัญหาจาก “คน” ที่เป็นศูนย์กลาง (ของปัญหา) นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น  หากเด็กอยากเป็นคนเรียนเก่ง มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าเพื่อน ๆ สิ่งที่จะต้องใส่ใจ ไม่ใช่การไปเรียนที่โรงเรียนดี ๆ หรือการเรียนกับครูเก่ง ๆ แต่คือ “การพยายาม” และ “ความตั้งใจ” ที่จะผลักดันให้ตนเองเป็นคนเก่งและไปถึงตามจุดหมายที่ได้ตั้งใจไว้

ขั้นตอนที่ 2 : คิดแบบไม่มีกรอบ (Brainstorm)

ถึงแม้การเรียนจะให้องค์ความรู้และทำให้เด็กเกิดความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บางครั้งองค์ความรู้เดิมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้จบได้ ดังนั้นเด็กจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาและสร้างสรรค์องค์ความรู้ของตนเองขึ้นมา เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยค้นพบความฉลาดและความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กแต่ละคนได้อีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : เรียนรู้ผ่านการทดลองลงมือทำ (Prototype)

ถึงแม้ว่ากระบวนการคิดจะเกิดขึ้นมากมาย แต่จะไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเลยถ้า “คิด” แต่ “ไม่ลงมือทำ” 

สิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบ Design Thinking ก็คือ การเปลี่ยน “ไอเดีย” ให้เป็น “เป็นรูปเป็นร่าง” ที่จับต้องได้จริง หรือเป็นกระบวนการที่แก้ไขปัญหาได้จริง โดยในขั้นตอนการสอน อาจมีการจำลองสถานการณ์ง่าย ๆ เพื่อให้เด็กช่วยกันคิดและแก้ปัญหา

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องของการค้าขาย อาจให้เด็กช่วยกันคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าจะขายอะไร ต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ จะขายยังไง จะขายชิ้นละกี่บาท ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เมื่อเด็กได้เรียนรู้และทำด้วยตัวเองตลอดทั้งกระบวนการ จะทำให้เกิดความเข้าใจใน Concept ของการค้าขายได้อย่างชัดเจน มากกว่าแค่การเรียนผ่านการบอกเล่าจากคุณครูหรือการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว

 

สรุปง่าย ๆ กระบวนการสอนแบบ Design Thinking ก็คือการปรับเปลี่ยนมุมมองในกระบวนการสอนและการเรียนรู้ให้กว้างไกลมากขึ้น เมื่อก่อนการเรียนรู้อาจมองและพิจารณาแค่ “ปัญหา” แต่ Design Thinking จะเปลี่ยนมุมมองและความคิดของผู้เรียนให้มองข้ามในจุดของ “ปัญหา” ไปมองเห็น “โอกาส” ในการแก้ปัญหานั่นเอง และเมื่อเรามองเห็น “โอกาส” มากกว่า “ปัญหา” เมื่อนั้นเราก็จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow