Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

Posted By sanomaru | 02 พ.ค. 61
42,302 Views

  Favorite

ความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เคยปรานีใคร ไอที่ร้อนระอุ ทำให้เรารู้สึกราวกับถูกเผาอยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนมันจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ต้นศตรวรรษที่ 20 เป็นต้นมา แต่ที่น่าจับตามองและคาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นช่วงปลายยุค 1970 จากการปลดปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น คำว่า "ภาวะโลกร้อน (Global Warming)" ซึ่งเป็นคำที่อธิบายถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์จึงถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 1975 โดยนักธรณีเคมีชื่อว่า Wallace Broecker แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาได้สังเกตถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป และในปี 1880 เป็นต้นมา ยังพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกนั้นเพิ่มขึ้น 0.8 องศาเซลเซียสด้วย

 

โดยภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และดูดซับรังสีและความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่แผ่ลงมายังโลก จากเดิมที่รังสีและความร้อนนี้เข้าสู่ผิวโลกได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากมีชั้นบรรยากาศที่ช่วยสะท้อนบางส่วนออกไปจากโลก แต่มลภาวะทางอากาศซึ่งสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมานาน ได้ดักจับความร้อนและเป็นสาเหตุให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเรารู้จักปรากฏการณ์นี้ในชื่อของ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)"

 

ต่อมาช่วงปลายศตววรษที่ 1980 คำว่า "การเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Change)" ได้ถูกบรรจุในพจนานุกรม มันเป็นคำซึ่งครอบคลุมมากกว่าคำว่า "ภาวะโลกร้อน" เพราะหมายึงการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ อีกมากมายภายในโลก นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อย่างไรก็ตาม ในปี 1988 เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากนาซ่าได้ให้การกับสภาพคองเกรสเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการกล่าวอ้างถึงภาวะโลกร้อน เขากล่าวว่า ภาวะโลกร้อนนั้นมีระดับความรุนแรง โดยที่สาเหตุและผลกระทบมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วย และคำให้การนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปโดยสื่อต่าง ๆ มากมาย ทำให้คำว่า "ภาวะโลกร้อน" ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

 

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นสาเหตุให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แม้ว่าพวกเขาจะไม่มั่นใจว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดบ้าง แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของโลกร้อนขึ้น ในอเมริกามีการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากฟอสซิลเพื่อจะผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 2 พันล้านตันในแต่ละปี ขณะเดียวกันในประเทศโลกที่สองก็เป็นแหล่งมลภาวะจากคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดจากภาคส่วนของการขนส่ง โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึง 1.7 พันล้านตันต่อปีเลยทีเดียว

 

ในปี 2017 ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ประมาณ 406.5 ppm ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดใน 650,000 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังรวมไปถึงการลดลงของอัตราการขยายตัวของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกในช่วงฤดูร้อนถึงร้อยละ 13.3 ต่อ 10 ปี ตั้งแต่ปี 1980 หรือพื้นที่ส่วนที่เป็นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกลดลงจากการละลาย 286 กิกะตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2002 และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 7 นิ้วหรือ 176 มิลลิเมตร ในศตวรรษที่ผ่านมาด้วย สิ่งเหล่านี้คงทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนและตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้ทำให้สภาพแวดล้อมบนโลกเปลี่ยนไป

 

อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเเดียว ไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการตกตะกอนและระดับน้ำทะเล อาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากกว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว และอาจเพราะเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพียงอย่างเดียว

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow